
การจะปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ ESG ของบรรดาภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องอาศัยภาคการเงินเป็น “สารตั้งต้น” โดยที่ผ่านมาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ขับเคลื่อนเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ที่ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาตอบโจทย์
ซึ่งในงานสัมมนา “ESG : Game Changer #เปลี่ยนให้ทันโลก” ที่ทาง “ประชาชาติธุรกิจ” จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ “ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้มาเล่าประสบการณ์ ผ่านหัวข้อ “สถาบันการเงินขับเคลื่อน ESG”
สถิติบ่งชี้ “โลกกำลังแย่”
“ดร.รักษ์” กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับ “ภาวะโลกร้อน” ที่มีพลังทำลายล้าง โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นสร้างผลกระทบเกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่น ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จะทำให้ “หมีขั้วโลกและนกเพนกวิน” หายไป หรือหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2% จะทำให้แนวปะการังทั่วโลกลดลงมากกว่า 99% หนักไปกว่านั้น ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4 องศา ก็จะทำให้เกิด “น้ำท่วมโลก”
ซึ่งในปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่กว่า 17 องศา จากเมื่อ 50 ปีที่แล้ว อยู่แค่ 15 องศา ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 1.3 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปมากกว่า 6,000 สปีชี่ ขณะที่มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของโลกในรอบ 20 ปี มีถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่าเศรษฐกิจของประเทศอินเดีย ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับที่ 9 ที่จะได้รับผลกระทบจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จาก 180 ประเทศทั่วโลก
จี้เปลี่ยน “ไมนด์เซต” ธุรกิจ
ดังนั้น ทุกคนต้องเปลี่ยนไมนด์เซต ต้องมีจิตสำนึกในการปกป้องโลก จากเดิมที่อยู่ในโลกที่เป็น “มายาคติ” ชอบแข่งกันอวดรวย หรือแข่งกันในเรื่องอันดับความสามารถในการแข่งขันในเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP growth) ซึ่งเหล่านี้เป็นภาพลวงตา และสุดท้ายนำไปสู่หายนะของทุก ๆ คนบนโลก เพราะทำให้เกิดโลกร้อน
ขณะที่ 70% ของประเทศทั่วโลกไม่มีความคืบหน้าในการต่อต้านคอร์รัปชั่น เช่นเดียวกับมูลค่าความเสียหายและค่าใช้จ่ายในการป้องกันภัยไซเบอร์ที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ส่วนของไทยมูลค่าความเสียหายถึงราว 40,000 ล้านบาท ในช่วงปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บนโลกใบนี้มีคนอยู่กว่า 8,000 ล้านคน แต่กว่า 6,000 ล้านคน คือ “คนจน” โดยเฉพาะกว่า 250 ล้านคน อยู่ในสภาพแร้นแค้น และ 2,000 ล้านคน คือจนมาก เพราะฉะนั้น จึงอยากจะชวนทุกองค์กรให้เปลี่ยนจาก “อวดรวย” มาเป็น “อวดดี” ดีกว่า เพื่อก้าวไปเป็น ESG Champion
“เมื่อก่อนถ้าอยากรู้ว่าขุนคลังเก่งแค่ไหน จะต้องดีดเศรษฐกิจขึ้นไปให้เกิน 5% ให้ได้ แต่ตอนนี้ทั้งโลกโตกันแค่ 2% และจะโตประมาณ 2% กว่า ๆ ไปอีกประมาณ 10 ปี ดังนั้นเราไม่ต้องไปวัดความเก่งของขุนคลังจากการเติบโตทางเศรษฐกิจหรอก
รวมถึงบริษัทต่าง ๆ ที่แข่งกันโต อวดรวย เอาบรรทัดสุดท้ายของงบการเงินมาโชว์กันว่าเติบโตได้กี่เปอร์เซ็นต์ นำมาซึ่งภาพลวงตาของนักลงทุน หรือแมงเม่าตัวเล็ก ๆ อย่างพวกเรา และในที่สุดแข่งกันว่า เรามีกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง (wealth) มากขนาดไหน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันจะเป็น Zero sum game ไม่มีใครได้อะไร”
บทบาทธนาคารมากกว่าปล่อยกู้
“ดร.รักษ์” กล่าวว่า สมการสำคัญของธุรกิจยุคใหม่ คือ ก้าวย่างสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ ซึ่งต้องสำรวจองค์กรตัวเองดูว่าทำอยู่ในจุดใด แล้วสามารถปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจได้หรือไม่ ตลอดจนคู่ค้า มีการสร้างอีโคซิสเต็มสู่การเป็น “green player” แล้วหรือยัง ขณะที่ธนาคารเองมีหน้าที่เป็น playmaker ที่ช่วยจัดสรรเงินทุนให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต
“หน้าที่ของแบงก์ในวันนี้ ไม่ใช่แค่คนที่ปล่อยเงินกู้หรือรับเงินฝากอีกต่อไป แต่เราต้องเป็น playmaker ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่อยู่ในอีโคซิสเต็มของระบบ banking and finance หน้าที่ของแบงก์เล็ก ๆ อย่างเรา คือ การ inspire คน
วันนี้ ผมดีใจที่เราเป็น green player รายแรก ๆ ของกระทรวงการคลัง วันนี้ทุก ๆ แบงก์ที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) มีโปรดักต์ที่เป็น green product ออกมาแล้ว หน้าที่ของเราคือการสร้างแรงบันดาลใจคน เพราะฉะนั้น ถ้าคุณปรับตัวเองให้เป็น ESG player ไม่ได้ หรือว่าเป็น green player ไม่ได้ คุณจะไม่มีที่ยืนในอนาคตเลย”
นอกจากนี้ ธนาคารยังสามารถกระตุ้นให้ภาคธุรกิจใช้ตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นตัวช่วยในการชดเชยการปล่อยคาร์บอนส่วนเกินได้อีกทางหนึ่งด้วย สิ่งที่แบงก์อยากจะเป็นคือ “clearing house” เอาคาร์บอนเครดิตมาเป็นหลักประกัน
“เราพยายามสร้างแรงบันดาลใจและคุยกับหน่วยงานกำกับ เพราะมันจะเกิดขึ้นได้ถ้าทุก ๆ คนช่วยกันถีบไม่เช่นนั้นเราจะพูดกันแต่เรื่อง ‘บทลงโทษ’ หรืออุปสรรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และคนตัวเล็ก ๆ SMEs 3 ล้านคน เขารู้ว่าโลกมันเปลี่ยนไป และเขาก็รู้ว่า เขายังต้องพัฒนาตัวเองอีกมากมาย แล้วใครล่ะที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือเขา ถ้าไม่ใช่หน่วยงานกำกับดูแล สถาบันการเงิน ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ในช่วงชีวิตของเรา”
จี้แบงก์ออกโปรดักต์สีเขียวมากขึ้น
“กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK” กล่าวว่า EXIM BANK เล็กมาก ๆ แต่สิ่งที่ธนาคารมี คือ มีเพื่อน มีพลังพันธมิตร ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ช่วยเอสเอ็มอีที่ปัจจุบันมีต้นทุนเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 8-12% โดยให้ซอฟต์โลนดอกเบี้ยที่ 4.25% นอกจากนี้ ยังมีหลายโปรดักต์ ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายจะบรรลุ Carbon Neutrality ในปี 2573
โดย EXIM BANK ต้องเป็น zero ในมุมของการปล่อย รับ และสร้างอีโคซิสเต็มให้ได้ นอกจากนี้ สิ่งที่อยากเห็น คือ สถาบันการเงินทำผลิตภัณฑ์สีเขียวออกมากันให้มากขึ้น เพื่อช่วยเอสเอ็มอีกว่า 3.2 ล้านราย ซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานกว่า 70%
“วันนี้เราเป็น green deverlopment bank โดยแหล่งเงินทุน 8,500 ล้านบาท เราออกกรีนบอนด์ 5,000 ล้านบาทไปเมื่อปีที่แล้ว ให้กับลูกค้า corporate และเมื่อเร็ว ๆ นี้ออกอีก 3,500 ล้านบาท ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอี ซึ่งเรามีพอร์ตเอสเอ็มอีทั้งหมดอยู่ ประมาณ 30,000 ล้านบาท สัดส่วน 10% ตามแผนต้องเป็น green SMEs นั่นคือสิ่งที่เราติดกระดุมเม็ดแรกยาก แต่ต้องทำ” ดร.รักษ์กล่าว