
เมื่อโลกถึงเวลาที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างเข้มข้นมากขึ้น ขณะที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ อันจะมีผลกระทบต่อการทำมาค้าขายระหว่างกัน จึงกลายเป็นวาระเร่งด่วนที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตามให้ทัน เพื่อไม่ให้ถูก “กีดกันทางการค้า”
และเพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตโดยคำนึงถึงมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และสร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้าง อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกัน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้จัดงานสัมมนา “ESG : Game Changer #เปลี่ยนให้ทันโลก” ขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มากล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงาน
ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวสู่ ESG
โดย “รณดล” กล่าวว่า ขณะนี้ทุกคนคงผ่านจุดที่ตั้งคำถามถึงความสำคัญและความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง ESG แล้ว โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม จากที่เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เร่งตัวผ่านภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น ร้อนนาน หนาวสั้น น้ำท่วมหนัก ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับเกือบรั้งท้ายในด้านขีดความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยอยู่อันดับที่ 39 จาก 48 ประเทศ
“มีการคาดการณ์ว่า หากเรายังไม่ลงมือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ประเทศไทยจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลในปี 2050 คิดเป็นร้อยละ 43 ของ GDP”
ขณะเดียวกันไทยยังเผชิญกับแรงกดดันจากนโยบาย มาตรการของต่างประเทศด้านการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือวิธีปฏิบัติของบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศขนาดเล็กอย่างไทยจำเป็นต้องปรับตัวเตรียมพร้อมรับผลกระทบตามไปด้วย
“สหภาพยุโรป (EU) ที่เตรียมใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนในวันที่ 1 ต.ค. 2566 สำหรับสินค้านำเข้าในกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น อุตสาหกรรมซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า และปุ๋ย โดยคาดว่าจะกระทบผู้ประกอบการไทยที่ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตมากกว่า 1,000 ราย คิดเป็นมูลค่าส่งออกกว่า 18,000 ล้านบาท และคาดว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐก็เตรียมออกมาตรการลักษณะเดียวกันนี้”
Game Changer สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ หากญี่ปุ่นเปลี่ยนทิศทางการผลิตจากรถยนต์ประเภทสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต ชิ้นส่วนประกอบทั้งหมด 30,000 ชิ้น จะเหลือเพียง 1,500-3,000 ชิ้น ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือยิ่งไปกว่านั้นหากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในญี่ปุ่นขานรับเรื่อง Net Zero ตลอดวงจรการผลิต แน่นอนว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะอยู่ในโลกเก่าไม่ได้เหมือนเดิม
ขณะที่ภาคการเกษตรก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เพราะ EU เตรียมออกกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อควบคุมกลุ่มสินค้าที่มีส่วนในการทำลายป่า จำนวน 7 ประเภท ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา น้ำมันปาล์ม เนื้อวัว ไม้ และถั่วเหลือง
ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสินค้านั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยว Gen Y และ Z เริ่มใส่ใจในการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเข้าพักในโรงแรมที่จัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างจริงจัง
“Game Changer ด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มเกิดขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ฉับพลัน ความถี่ของการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปจะเห็นน้อยลง จากที่เรามีทางเลือก กลายเป็นเราเหลือเพียงทางรอด ซึ่งนับว่านี่เป็นช่วงเวลาท้าทายอย่างยิ่ง ความยั่งยืนจึงเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”
บทบาทภาคการเงินหนุนปรับตัว
“รองผู้ว่าการ ธปท.” กล่าวว่า ภาคการเงินต้องช่วยสนับสนุนการปรับตัว โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้กำหนดการดำเนินงานด้านสังคมและธรรมาภิบาล เป็นพันธกิจหลักขององค์กร และผลักดันให้เกิดผลมาโดยตลอด อย่างในด้านสังคม ได้ออกนโยบายคลินิกแก้หนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล
ส่วนด้านธรรมาภิบาล ได้ออกหลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน และการกำกับดูแลด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม ล่าสุดได้ออกมาตรการเพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนให้ตรงจุด และยั่งยืนขึ้น
ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาคการเงินในฐานะตัวกลางจัดสรรเงินทุน ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการปรับตัวโดยคำนึงถึง “timing” และ “speed” เพื่อให้การดำเนินงานนั้น “ไม่ช้าเกินไป” จนเกิดผลกระทบโดยไม่สามารถแก้ไขได้ และ “ไม่เร็วเกินไป” จนระบบเศรษฐกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ทั้งนี้ เมื่อเดือน ส.ค. 2565 ธปท.ร่วมกับภาคการเงิน ผลักดันให้สถาบันการเงินผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการดำเนินธุรกิจผ่านการวางรากฐานสำคัญ (building blocks) 5 ด้าน เพื่อสนับสนุนเงินทุนได้อย่างตรงจุด โดยมี 2 ใน 5 ด้าน เป็นรูปธรรมแล้ว ด้านที่ 1 คือ ธปท.ได้จัดทำหลักปฏิบัติที่ดี
หรือมาตรฐานการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน (standard practice) โดยออกแนวนโยบายให้สถาบันการเงินผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการทำงานไปเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา
ด้านที่ 2 คือ การจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ taxonomy ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ และช่วยลดปัญหาการกล่าวอ้างเกินจริง (greenwashing) โดยกำหนดนิยามความเป็นสีเขียวของแต่ละคนให้เข้าใจและยอมรับตรงกัน ซึ่งระยะถัดไปจะทยอยทำในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคการก่อสร้าง และภาคการจัดการของเสีย เป็นต้น
“การที่ภาคการเงินจะสนับสนุนเงินทุนได้อย่างตรงจุด จำเป็นต้องทราบก่อนว่า กลุ่มลูกค้าที่เป็นองค์กร หรือ ธุรกิจ มีสถานะการดำเนินการอย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในระดับใด”
ส่วนด้านที่ 3 ถึง 5 ธปท.เดินงานเพื่อสนับสนุนรากฐานอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนภาคการเงินให้เป็นฟันเฟืองในการสนับสนุนการปรับตัวสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางสนับสนุนการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นระบบและการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม การผลักดันมาตรการสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ
“ทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญในการเป็น changer ในเกมแห่งความยั่งยืน และต้องประสานเชื่อมโยงความร่วมมือให้เป็นรูปธรรม เรื่องความยั่งยืน นี่รอไม่ได้ เราไม่มีโลกใบสำรอง ทุกวินาทีคือจุดสำคัญที่ต้องร่วมกันกอบกู้โลกใบนี้ เราจะต้องเปลี่ยนเกมรับให้เป็นเกมรุก หันมาประเมินตนเอง ปรับกลยุทธ์ พร้อมตั้งรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันการณ์” รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว