“ความยั่งยืน” เป็นจริงได้ OR วางรากฐาน SDG Ecosystem

ดิษทัต ปันยารชุน

ประชาชาติธุรกิจ จัดสัมมนา ESG : Game Changer #เปลี่ยนก่อนถูกเปลี่ยน ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีตัวแทนภาคธุรกิจที่มุ่งพัฒนาสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิด ESG มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจ

“ดิษทัต ปันยารชุน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ โออาร์ กล่าวบรรยายในหัวข้อ สร้าง “ความยั่งยืน” ให้เป็นจริง ว่า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) การดิสรัปชั่นของเทคโนโลยี

และโดยเฉพาะในเรื่องความเหลื่อมล้ำของสังคม (social inequality) มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ทุกธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะมองว่า เราทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง เพราะเราเป็นผู้ค้าน้ำมัน และในช่วงนี้ราคาน้ำมันขึ้นก็อาจจะไม่ค่อยรักเรามากนัก แต่โออาร์ได้มีการปรับโมเดลการทำธุรกิจ โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่หยุดที่จะทำต่อไป

อย่างแรกคือ สัดส่วนธุรกิจ 80% ของสถานีบริการน้ำมันของโออาร์ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการดีลเลอร์ แฟรนไชส์เข้ามาทำธุรกิจ ส่วนเราเป็นเจ้าของดำเนินการเองเพียง 20% เท่านั้น นับเป็นการเติมเต็มทุกโอกาสให้กับเอสเอ็มอี ให้ทุกคนอยู่ในระบบนิเวศธุรกิจของเรา”

มุ่ง 4 พันธกิจ

ภายใต้พันธกิจ 4 ด้าน ที่โออาร์ดำเนินการนั้น ด้านแรก Seamless Mobility คือ การพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยีการเคลื่อนที่ให้เชื่อมโยงไร้รอยต่อ

“โออาร์เป็นผู้ขายพลังงาน ต้องปรับตัวเยอะมาก โดยเฉพาะเมื่อปีนี้ EV มาเร็วมาก ๆ เรามองว่านี่เป็นโอกาสในการไดเวอร์ซิฟายธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ใช่เทรด (ความเสี่ยง) ในอนาคตวางเป้าหมายว่าจะขยายหัวชาร์จให้มีถึง 7,000 จุด ไม่ว่าพลังงานจะไปทิศทางไหน โดยก็จะเชื่อมโยงให้เข้ากับการให้บริการของเรา”

ด้านที่ 2 All Lifestyles เราไม่ได้ทำธุรกิจขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่เรายังเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจใหม่เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค โดยอีก 3 เดือนข้างหน้า โออาร์จะประกาศแผนธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม (Health and Wellness และ Beauty) โดยมองว่าธุรกิจนี้จะสอดรับกับการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย ซึ่งในส่วนนี้เราพร้อมจะให้โอกาสพันธมิตรของเราเข้าร่วม

3) Global Market หรือการขยายการลงทุนสู่ต่างประเทศ จากที่ประสบความสำเร็จในกลุ่มธุรกิจ ทำให้โออาร์พร้อมจะขยายเพื่อสร้างโอกาสธุรกิจในต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายจะต้องขยายไปให้มากกว่า 10 ประเทศที่ลงทุนอยู่แล้ว เช่น สปป.ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา และโอมาน ซึ่งจะไม่หยุดที่จะดำเนินการ ส่วนที่ 4) OR Innovation ซึ่งจะเป็นการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต

“เรามีแนวคิดที่จะสร้างความแตกต่าง จากปัจจุบันมีสถานีบริการ แต่ในอนาคตจะพัฒนาไปอยู่ในออนไลน์ 50% โดยในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ จะเปิดตัวแอปพลิเคชั่นชื่อว่า Xplore ซึ่งจะเป็นแอปพลิเคชั่นที่เข้าไปใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น แอปนี้ไม่ใช่เป็นแค่ของ OR แต่เป็นของกลุ่มของ ปตท.ทั้งหมด

โดยจะมีการเชื่อมโยงบริการและผลิตภัณฑ์ของ ปตท.ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น EV Me มณีแดงที่กำลังพัฒนาอยู่ หากสำเร็จเชิงพาณิชย์จะมาเชื่อมโยงในนี้ เราทำงานเป็นกลุ่มนี่จะเป็น ซูเปอร์แอป ของ ปตท.ที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น”

แต่อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง แอปพลิเคชั่นนี้จะมีประโยชน์กับชุมชนและสังคมด้วย โดยจะเป็น marketplace ที่รวบรวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนที่อยู่ในเครือข่ายของเราฟรี

เชื่อมโยง ESG-SDG

นายดิษทัตกล่าวว่า การดูแลชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืนนั้น SDG เป็นภาพใหญ่ของสหประชาชาติ แต่สิ่งที่เราเดินหน้า SDG คือ S หมายถึง การให้โอกาสคนตัวเล็ก ทุกรูปแบบเพื่อให้วิสาหกิจชุมชน สังคม เข้ามาอยู่ในเครือข่ายของเรา ขณะเดียวกัน D เราหมายถึง diversified เราไม่สามารถทำธุรกิจได้คนเดียว และเมื่อเขาทำธุรกิจร่วมกัน เราก็ต้องเข้าไปดูแลและไม่หยุดที่จะคิด และสร้างการเติบโตไปด้วยกัน

และ G หมายถึง Green การทำสีเขียว ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นต้นทุน แต่เรามองว่าการทำกรีนไม่ได้เป็นคอสต์ แต่เป็นเรื่องการสนับสนุน หากเรานำกลับมาใช้ (รียูส) คือ การบริหารต้นทุน ใส่เงินเข้าไป ให้โอกาสการทำธุรกิจ ให้ความยั่งยืน ไม่ใช่เป็นคอสต์

“ผมให้นิยาม SDG กับ ESG โดยสร้างความเชื่อมโยงกันและสอดคล้องกัน มีตัวชี้วัดคือ 3Ps คือ people-planet และ performance รวมถึง governance ด้วย ยกตัวอย่างที่ผ่านมา เราสนับสนุนเกษตรกรไทย 65 โรงเรือน และมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 100 แห่ง เรามีโอ้กะจู๋ เข้าไปสนับสนุนเกษตรกรปลูกผักอินทรีย์ จนสามารถทำให้ผลผลิตดีขึ้น 20-100% สร้างรายได้เกษตรกร 1 ล้านบาท

โดยการเสริมเทคโนโลยีและองค์ความรู้ การรับซื้อกาแฟโดยราคาที่เป็นธรรม รายได้เกษตรกรคนหนึ่งเพิ่มจาก 4,000 บาทต่อเดือน เป็น 17,000 บาทต่อเดือน เรามีแนวคิดกาแฟที่แฟร์กับคนทั้งโลก หมายถึงแฟร์กับคนปลูก คนดื่ม คนชง และสิ่งแวดล้อม ในอนาคตหากผมได้มาสัมมนากับประชาชาติธุรกิจอีก ผมจะนำภาพภูเขาหัวโล้นที่ได้ไปสนับสนุนให้ปลูกกาแฟอราบิก้า กลับมาเปิดให้ดูอีกครั้ง”

นอกจากนี้ โออาร์ยังได้เชื่อมโยงกับ GC ในการดำเนินโครงการแยกแลกยิ้ม ในสถานีบริการน้ำมัน 2,000 แห่ง และการพัฒนาปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ให้เป็น OR flagship ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้าง OR ecosystem ที่เป็น SDG ทั้งหมด

เช่น จะมีการใช้ AI วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการ หลังคาอาคารเราจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 100% และจะมีการติดตั้งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งกลางวันและกลางคืน

โออาร์ในปี 2030

ภาพของ OR ในปี 2030 (2573) มีเป้าหมายในเรื่องดูแลคนตัวเล็ก ยกระดับคุณภาพของชุมชน มากกว่า 17,000 ชุมชน และจะสร้างงานสร้างอาชีพ กระจายความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนให้กับประชาชน 1 ล้านราย ในทุกจังหวัดของประเทศไทย ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1 ใน 3 ตามเป้าหมาย ที่จะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 0 ในปี 2050 (2593)

“ที่ที่เราไป เราอยากให้คนรัก ไม่ว่าจะสถานีบริการน้ำมัน เราจะเข้าไปดูแลชุมชน 5 กิโลเมตร รอบรัศมีสถานีบริการ จะได้รับโอกาสในเรื่องของการสมัครงาน การสร้างตลาดเติมสุข ซึ่งจะไปคัดสรรผลิตภัณฑ์ดี ๆ จากชุมชน จากสังคมไกล ๆ มาขายในกรุงเทพมหานคร ให้ได้สัมผัสผลิตภัณฑ์ดี ๆ จากหมู่บ้านที่ไม่มีโอกาสที่เข้ามาในแพลตฟอร์ม

ซึ่งจะมาอยู่ในทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ เพื่อให้ทุก ๆ คนเกิดความยั่งยืน เพราะเรามองว่าการเติมเต็มโอกาสให้ผู้อื่นได้เติบโต คือ การสร้างความยั่งยืนที่แท้จริงสำหรับโออาร์”