รุ่งโรจน์ SCG : ESG เปลี่ยนเกมธุรกิจ เป็นโอกาสอยู่รอด แข่งขันได้ยั่งยืน

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส SCG
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG ชี้เทรนด์โลกเปลี่ยน ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องความยั่งยืน ESG จึงเป็นโอกาส ถ้าทำได้เร็ว สามารถเป็นผู้นำในเซ็กเตอร์ได้ดีจะส่งผลให้ขายของได้ และเป็นตัวเปลี่ยนเกมธุรกิจ ถ้าไม่เปลี่ยน ไปไม่รอด

วันที่ 25 กรกฏาคม 2566 นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดกล่าวในงานสัมมนา ESG : Game Changer #เปลี่ยนให้ทันโลก ในหัวข้อ  ESG เส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัด ซึ่งจัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความท้าทายที่ภาคธุรกิจต้องเจอในปัจจุบัน หากมองระยะสั้น คือ หนึ่ง เรื่องค่าครองชีพที่แพงขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้กำลังซื้อของคนลดลงไปมาก

สอง ภาคเศรษฐกิจใช้เวลาฟื้นตัว ถึงแม้ประเทศไทยฟื้นตัวดีที่สุดในอาเซียน เพราะมีภาคท่องเที่ยวมาช่วย แต่ต้องยอมรับว่า การฟื้นตัวไม่เท่ากันในแต่ละเซ็กเตอร์ เพราะภาคที่ไปได้ดีจะเกี่ยวข้องกับการบริโภค เรื่องอาหาร แต่ภาคส่งออกเหนื่อย ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป จะเข้าเกณฑ์เอลนีโญ ที่เราต้องบริหารจัดการน้ำ เพราะมีความไม่แน่นอน ถึงแม้มีฝนตกไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ภาพรวมฝนตกน้อยลง 20%

ส่วนความท้าทายในระยะยาว คือ หนึ่ง สังคมผู้สูงอายุ แรงงานจะน้อยลง การหารายได้น้อยลง ส่งผลกับการบริโภค

สอง การลงทุน ไทยไปเน้นการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนมีน้อยมาก ตรงนี้ต้องให้ความสำคัญ

Advertisment

และสาม ESG เรื่องภาวะโลกร้อน ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงอากาศ ฝนตกมาก หรือน้ำแข็งละลาย แต่หลาย ๆ ประเทศตื่นตัว เรื่องอื่น ๆ ด้วย และเริ่มมีกฎเกณฑ์ระดับหนึ่ง ดังนั้น ภาคธุรกิจจะปรับตัวให้เข้ากับ ESG อย่างไร

นายรุ่งโรจน์ กล่าวด้วยว่า SCG ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนมานานแล้ว โดยธุรกิจของ SCG ขายสินค้าอยู่ในประเทศไทย 55% ต่างประเทศ 45% และจะเพิ่มต่างประเทศมากขึ้น เพราะหลายอย่างที่เอสซีจีทำ ขายได้ดีในต่างประเทศ เนื่องจากทำได้สอดคล้องกับ demand ของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อย่างในเรื่องการทำแพ็คเกจจิ้งต้องรีไซเคิลได้หมด

รุ่งโรจน์ SCG

“ที่ SCG เรามี core value ที่เน้นความรับผิดชองต่อสังคม ปลูกฝังพนักงานกว่า 5 หมื่นคนให้ตระหนักเรื่องนี้ เพราะในฐานะที่เราทำอุตสาหกรรมหนัก ใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนค่อนข้างมาก คิดเป็น 7-8% ของทั้งประเทศ ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ ลดคาร์บอนอย่างจริงจัง มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2593 โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ของปีฐาน 2563 ภายในปี 2573 และเป็น net zero ภายในปี 2595”

Advertisment

“หากถามว่า ESG เป็นโอกาสหรือไม่ ? วันแรก ๆ ผมไม่ได้คิดถึงตรงนี้ แต่ก็เน้นดำเนินธุรกิจให้ครบตามข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น 4-5 ปีที่แล้ว ที่เริ่มเข้าร่วมสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development) แล้วเขาบังคับให้เรากำหนดเป้าหมาย net zero ถ้าทำไม่ได้ก็จะหลุดจากการเป็นสมาชิก”

“แต่ตอนนี้ผมมองว่า เทรนด์ในโลกเปลี่ยนไป ผู้บริโภคมีความใส่ใจเรื่องความยั่งยืน ทั้งคนรุ่นใหม่และ supply chain ก็ตื่นตัว ดังนั้น ESG เป็นโอกาส ถ้าทำได้เร็ว ทำได้หนักแน่น และสามารถเป็นผู้นำในเซ็กเตอร์ได้ดี จะส่งผลให้ขายของได้ ยืนอยู่ได้ มองหน้าผู้อื่นได้ และดึงดูดพนักงานเก่ง ๆ ได้”

“เรื่อง ESG จึงเป็นตัวเปลี่ยนเกมธุรกิจ ตอนนี้เริ่มเห็นภาพชัดแล้วว่าถ้าไม่เปลี่ยนไปไม่รอด ซึ่งหมายถึง ถ้าเราสามารถเปลี่ยนและพัฒนาตัวเอง หาอะไรใหม่ ๆ ที่อยู่ภายใต้กรอบหรือทิศทางที่เราจะเดินไป เราก็มีโอกาสรอด” กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG กล่าว