ธปท.จี้ทุกภาคส่วนผนึกกำลังเปลี่ยนเกมธุรกิจสู่ ESG รับมือกีดกันทางการค้า

รณดล นุ่มนนท์
รณดล นุ่มนนท์

ธปท.จี้ทุกภาคส่วน “รัฐ-เอกชน” ผนึกกำลังเปลี่ยนเกมธุรกิจสู่ ESG รับมือกฎเกณฑ์ประเทศพัฒนาแล้วบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น-กีดกันทางการค้า

วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “ESG : Game Changer #เปลี่ยนก่อนถูกเปลี่ยน” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันนี้เรารอไม่ได้ในเรื่องของโลกที่รวนขึ้นทุกวัน โดยเราอยู่ในจุดที่ต้องตั้งคำถามถึงความสำคัญของการทำธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเราเห็นภัยพิบัติที่หนักหน่วงมากขึ้น ทั้งอากาศที่ร้อนนานขึ้น แล้งนานขึ้น ฝนตกหนักขึ้น

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยอยู่อันดับท้าย ๆ ของการจัดอันดับขีดความสามารถในการรับมือภัยพิบัติ รออยู่อันดับที่ 39 จากการจัดอันดับทั้งหมด 48 ประเทศ ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการอะไร ภายในปี 2050 เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบถึง 43% ของ GDP

               

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันเรื่องมาตรการต่าง ๆ จากต่างประเทศ ตลอดจนวิธีปฏิบัติของบริษัทต่างชาติว่าด้วยการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ประเทศไทยจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือ

“สหภาพยุโรปจะเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามแดนเริ่ม 1 ตุลาคมนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทมากกว่า 1,000 บริษัท แล้วจะมีผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกถึง 18,000 ล้านบาท นอกจากนั้น สหรัฐก็จะตามมา” นายรณดลกล่าว

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็เปลี่ยนการผลิตรถจากรถสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต่อไปจะส่งผลกระทบต่อการผลิตชิ้นส่วนกว่า 30,000 ชิ้น จะเหลือแค่ไม่ถึง 3,000 ชิ้น ถึงแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย ดังนั้น อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะอยู่ในโลกใบเก่าไม่ได้แล้ว

นอกจากนี้ ภาคเกษตร ภาคการท่องเที่ยวก็ต้องปรับตัวอย่างจริงจัง

รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวด้วยว่า ในส่วนของภาคการเงิน ก็คงเป็นภาค 1 ที่ต้องสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย โดย ธปท.ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG มาโดยตลอด อย่างในด้านสังคมก็มีการดำเนินการในเรื่องคลินิกแก้หนี้ ขนาดที่ด้านธรรมาภิบาลก็มีการออกเกณฑ์ของสถาบันการเงินให้ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม ล่าสุดก็มีแนวทางการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนออกมา

ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อมภาคการเงินก็มีบทบาทเรื่องการจัดสรรเงินทุนได้เกิดการปรับตัว ซึ่งการปรับตัวจะต้องไม่ช้าเกินไปและไม่เร็วเกินไปด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว อย่างเช่นการกำหนดนิยามความเป็นสีเขียวของแต่ละภาคธุรกิจ โดยมีคณะกรรมการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในการกำหนดหมวดหมู่ธุรกิจที่เป็นสีเขียวและไม่เป็นสีเขียวให้เกิดความชัดเจน

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนนักธุรกิจในเรื่อง ESG นี้ เป็นบทบาทของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกัน ซึ่งในส่วนของ ธปท.พร้อมแล้วที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“เรามีโลกใบนี้ใบเดียว เราไม่มีโลกสำรอง ดังนั้น ทุกวินาทีสำคัญที่จะกอบกู้โลกใบนี้” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าว