
ทำความรู้จัก 2 หุ้นไอพีโอ (IPO) เตรียมลงสนามเทรด SET-mai หุ้น “KCG” เริ่ม 3 ส.ค. และ “I2” 8 ส.ค. 66 นี้
วันที่ 1 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเดือนสิงหาคมนี้มี 2 หุ้นไอพีโอ (IPO) น้องใหม่เตรียมลงสนามเทรดทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ซึ่งนักลงทุนต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีการเสนอขายไอพีโอกันอย่างคึกคักในช่วงที่ผ่านมา
- EV จีนทุบราคาเลือดสาด ฉางอานท้ารบ-BYD เกทับลดอีกแสน
- รู้จัก น้ำมัน EURO 5 เริ่มใช้ 1 ม.ค. 67 มีผลกับค่าการตลาดน้ำมันอย่างไร
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
โดยทั้ง 2 บริษัทที่แต่งตัวเตรียมลงสนามเทรด คือ บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น หรือ KCG และ บมจ.ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ หรือ I2 “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลบริษัทและการเสนอขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้มาให้นักลงทุนอ่านก่อนถึงเวลาลงสนามจริงในช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้
บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น หรือ KCG
บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ซึ่งเน้นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและขนมตะวันตก (Western Foods) โดยมี 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (Dairy Products) กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและเบเกอรี่ (Food and Bakery Ingredients) และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และกลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต (Biscuits) ที่เตรียมเข้าจดทะเบียนและเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 3 ส.ค.นี้
สำหรับจำนวนหุ้นที่เสนอขายไม่เกิน 155,000,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.4 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยเสนอขายที่ราคา 8.50 บาทต่อหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 1,317,500,000 บาท
โดยการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทในครั้งนี้ที่ 8.50 บาทต่อหุ้น หากพิจารณาผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (วันที่ 1 เม.ย. 65-31 มี.ค. 66) ซึ่งเท่ากับ 267.28 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท หลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (Fully Diluted) ซึ่งเท่ากับ 545 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.49 บาทต่อหุ้น จะคิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : “P/E”) ประมาณ 17.33 เท่า
สำหรับวัตถุประสงค์ในการใช้เงิน ได้แก่
- ลงทุนในการก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Pack,
- ลงทุนซื้อเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิต,
- ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 2 แห่ง ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงิน 1 แห่งซึ่งเป็น และ/หรือ มีความสัมพันธ์กับที่ปรึกษาทางการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ซึ่งรวมถึงการชำระคืนเงินกู้ยืมที่บริษัทได้กู้ยืมมาใช้ลงทุนใน (ข้อ 1.) จำนวน 53 ล้านบาท และ (ข้อ 2) จำนวน 262 ล้านบาท
- ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัท
บมจ.ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ หรือ I2
บริษัท ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ I2 ประกอบธุรกิจบริการ System Integration (SI) แบบครบวงจร ได้แก่ ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร โทรคมนาคม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Infrastructure, Network, Transformation, อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสัญญาณดาวเทียม และเทคโนโลยีด้านการประหยัดพลังงาน และเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 8 ส.ค. 66
สำหรับจำนวนหุ้นที่เสนอขายจำนวน 120,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 28.57 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนในครั้งนี้ โดยเสนอขายที่ 2.70 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 324,000,000 บาท มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น
โดยการกำหนดราคาของหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทที่จะเสนอขายในครั้งนี้ กระทำโดยการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัท ด้วยวิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio : P/E) ทั้งนี้ ราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 2.70 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิเท่ากับ 20.11 เท่า
โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลการดำเนินงานในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 65 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 66 ซึ่งมีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 56.40 ล้านบาท และคำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้ว ภายหลังเสนอขายต่อประชาชนในครั้งนี้จำนวน 420,000,000 หุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นประมาณ 0.13 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิดังกล่าว คำนวณจากผลประกอบการในอดีต โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานหรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน
สำหรับวัตถุประสงค์ในการใช้เงิน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการบริการโครงการขนาดใหญ่ และเพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัท รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนบริษัท