ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนทำท่าจะฟื้นตัวได้ดี ตลาดหุ้นก็เริ่มกลับมา จากความคาดหวังการเปิดประเทศ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดูจะไม่ได้สวยหรูอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาไม่ดี มาตรการกระตุ้นก็ล่าช้า เพราะหนี้ที่เบ่งบาน ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังมีปัญหา ปัจจัยลบเหล่านี้ ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนหดหาย
ข้อมูลจากบริษัท มอนิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ชี้ว่า กองทุนหุ้นจีนตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 21 ส.ค. 2566 (YOY) ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -26.02% และย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ -17.97%
โดยกองทุนที่ผลตอบแทนติดลบสูงสุด YOY ได้แก่ กองทุน UCI-SSF ผลตอบแทนอยู่ที่ -33.20% ตามด้วยกองทุน UCI -31.48% จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) และกองทุน TCHSTRATEGY จาก บลจ.ทิสโก้ ผลตอบแทนอยู่ที่ -23.06% กองทุน ABCG และกองทุน ABCG-SSF จาก บลจ.อเบอร์ดีน ผลตอบแทนอยู่ที่ -20.29% และ -20.28% ตามลำดับ (ดูตาราง)
“ดร.สมชัย อมรธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน และลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า ประเด็นอสังหาริมทรัพย์อย่างกรณี “เอเวอร์แกรนด์” เป็นปัญหาที่มีตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว มีการเจรจากับทางเจ้าหนี้มาโดยตลอดก่อนที่จะยื่นล้มละลาย โดยหุ้นเอเวอร์แกรนด์ก็ถูกระงับการซื้อขายมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
“ฉะนั้น ผลกระทบต่อกองทุนต่าง ๆ ไม่น่าจะมีเพราะกองทุนที่ถือหุ้นตัวนี้คงมีสัดส่วนที่น้อยมาก ๆ หรืออาจจะไม่มีเลย หรือแม้กระทั่งหุ้นกู้ ถ้ามีอยู่ก็คงได้รับผลกระทบไปแล้วทำให้ผลกระทบใหม่ก็คงไม่เยอะเช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าเอเวอร์แกรนด์ที่ยื่นล้มละลายอาจไม่ได้เป็นปัญหาที่น่ากังวลมากขนาดนั้น แต่ถามว่าจีนฟื้นได้หรือยัง ก็ยังไม่ฟื้นและดูท่าจะเหนื่อยมากขึ้น”
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามอีกบริษัทอสังหาฯ “คันทรี การ์เดน” ที่กำลังน่าเป็นห่วงและมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่กว่าเอเวอร์แกรนด์ หลังจากไม่ได้ชำระคูปองที่ครบกำหนดไปเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จะเห็นชัดว่าอสังหาฯ ของจีนได้รับผลกระทบต่อเนื่องกัน
“ในภาพรวมของจีนยังคงต้องติดตามดูว่า รัฐบาลจีนจะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นไม่ให้ตลาดแย่ลงไปมากกว่านี้ ขณะที่การลงทุนใครที่มีถืออยู่แนะนำให้ถือต่อได้ ส่วนซื้อใหม่อาจจะต้องรอจังหวะเพราะยังมีข่าวในเชิงลบออกมาให้รอจังหวะราคาปรับลงกว่านี้อีกสักเล็กน้อยทยอยสะสมได้”
ขณะที่ “สิทธา เซ่งไพเราะ” Associate Director, ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จีนตอนนี้ มีแต่ข่าวลบ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาไม่ค่อยดี ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาน่ากังวลอีกครั้ง และมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก รวมถึงปัจจัยภายนอกอย่างสงครามด้านเทคโนโลยี (tech war) ระหว่างจีนกับสหรัฐที่เข้ามาเป็นกระแสอยู่เรื่อย ๆ
ขณะที่ความกังวลต่อภาคอสังหาฯ ที่อาจนำไปสู่ lost decade หรือวิกฤตเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นเผชิญ หรือนำไปสู่วิกฤตที่เหมือนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (subprime crisis) ของสหรัฐ ซึ่งหากดูจากดัชนีหุ้นจีนที่ลงมาทำจุดต่ำสุดเมื่อ ต.ค. 2565 ที่ -63% อยู่ในระดับเดียวกับในช่วงวิกฤตของญี่ปุ่น และลึกกว่าวิกฤตของสหรัฐ
“ดังนั้น สิ่งที่ต้องตามต่อ คือการฟื้นตัวหลังจากนี้ว่าจะเป็นแบบไหน ตอนนี้มองว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของจีน สำคัญคือรัฐบาลต้องออกมาส่งสัญญาณเพิ่มความเชื่อมั่น และออกมาตรการการเงินการคลังออกมากระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้ตลาดหุ้นฟื้นตัว ทั้งนี้ ตลาดหุ้นจีนตอนนี้คาดว่าดาวน์ไซด์เริ่มจำกัด ใครที่จะขายออกตอนนี้ อาจจะอยู่ในช่วง BOTTOM ให้รอปรับตัวขึ้นอีกเล็กน้อยค่อยทยอยขาย ส่วนคนที่รอซื้อเพราะเห็นภาพระยะยาวที่ยังดีให้รอสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐค่อยถัวเพิ่ม”
ฟาก “ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์” หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าภาพของเอเวอร์แกรนด์ และคันทรี การ์เดน หรือความเสี่ยงด้านอสังหาฯ ไม่ได้กระทบเศรษฐกิจมากนัก แต่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในจีน เนื่องจากคนจีนมีสัดส่วนการลงทุนในอสังหาฯ ที่ค่อนข้างสูงถึง 60% ของพอร์ตลงทุน ซึ่งพอภาคอสังหาฯ ดูไม่ดีก็ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนและตลาดหุ้นไม่ดีตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าจีนมีโอกาสเติบโตในอนาคต แต่สิ่งที่หลายคนกังวลว่าจีนจะเข้าสู่ช่วง lost decade แบบญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะเป็นวิกฤตอสังหาฯ ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งหากเทียบจีนในตอนนี้กับญี่ปุ่นในขณะนั้นมีสิ่งที่แตกต่างกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคที่ยังเติบโตได้ ราคาที่ยังต่ำและสัดส่วนของภาคอสังหาฯ ของจีนที่ยังไม่เยอะมาก ต่างจากญี่ปุ่นที่การบริโภคและราคาอสังหาฯ ปรับขึ้นสูงมากแล้วในขณะนั้นทำให้การเติบโตมีอัพไซด์ที่จำกัด
“จุดที่สามารถลงทุนได้ในจีนลดน้อยลงโดยเฉพาะการลงทุนในอสังหาฯ เรียกว่าหายไปเลย โอกาสที่จะฟื้นก็คงจะยากเพราะคาดว่าทางการจีนอาจจะยังไม่เข้ามากระตุ้นในตอนนี้ แต่จุดที่ยังลงทุนได้ก็ยังมีและเนื่องด้วยราคาหุ้นจีนตอนนี้ก็ไม่แพง แต่ต้องรอจังหวะดูว่านโยบายจะไปกระตุ้นตรงไหนอาจจะเป็น ภาคการบริโภค ภาคเทคโนโลยีและรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นักลงทุนก็สามารถย้ายไปลงทุนในส่วนนั้นได้”