บาทผันผวนในกรอบ รอผลประชุม กนง.

ค่าเงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/9) ที่ระดับ 35.93/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/9) ที่ระดับ 36.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.1 ในเดือนกันยายน จากระดับ 50.2 ในเดือนก่อนหน้า ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน หลังถูกกดดันจากคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับลดลง

โดยความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ถึงแม้ว่าการจ้างงานจะฟื้นตัวดีขึ้นก็ตาม สำหรับดัชนี PMI ภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นปรับตัวลงจากระดับ 50.5 ในเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 50.2 ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเพิ่มเป็น 45% ของวงเงินงบประมาณในปีงบฯ 2567 จากปัจจุบันที่มีการกำหนดไว้อยู่ที่ไม่เกิน 32% ของวงเงินงบประมาณ และมีแผนจะปรับลดกรอบวงเงินดังกล่าวให้เท่ากับอัตราเดิมภายในปี 2570 เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายรัฐบาลและการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

               

โดยสัปดาห์นี้ตลาดจับตารอดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 27 กันยายน 2566 เกี่ยวกับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยของไทย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.89-36.12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/9) ที่ระดับ 1.0648/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/9) ที่ระดับ 1.0638/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตัวเลขที่มีการเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ยูโรโซนประจำเดือนกันยายน

โดยดัชนี PMI รวมภาคบริการและการผลิตขั้นต้น เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.1 จากระดับต่ำสุดในรอบ 33 เดือนที่ระดับ 46.7 ในเดือนก่อนหน้า และมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าจะลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 46.5 ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า กิจกรรมธุรกิจในยูโรโซนยังอยู่ในภาวะหดตัว

ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 48.4 จากระดับ 47.9 โดยอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0620-1.0655 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0623/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/9) ที่ระดับ 148.37/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/9) ที่ระดับ 148.31/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-Loose Policy) ในเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีไว้ที่ราวระดับ 0% โดยนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในภาวะเงินฝืด ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพร้อมกับกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปก่อน ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.24-148.58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.54/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานยอดขายบ้านใหม่สหรัฐ เดือน ส.ค. (26/9), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ (27/9), รายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐเดือน ส.ค. (27/9), GDP ไตรมาส 2 สหรัฐ (28/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (28/9), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยูโรโซน (29/9) และ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (29/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.75/-9.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 10.15/-9.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ