
ครม.ไฟเขียวบอร์ดใหญ่-เล็ก 4 ชุดคุมแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท นายกรัฐมนตรีเผยฐานะการเงินการคลังไทยสุดแกร่ง รมช.คลังเผยที่มาของเงิน 5.6 แสนล้านรูปแบบ hybrid คิกออฟประชุมนัดแรกปลายสัปดาห์นี้ ย้ำไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน ยืนยันถ้าประเทศพังพินาศล่มจม พร้อมรับผิดชอบทางการเมือง
เศรษฐามั่นใจฐานะการเงินแกร่ง
วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของปีหน้า โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่จะมีการใช้เงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ว่า จากการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้ มีการพูดคุยถึงระยะกลางและระยะยาวว่า ถ้านโยบายออกไปแล้วจะเป็นอย่างไร รวมถึงเครดิตเรตติ้ง และภาพที่ประชาชนและนักลงทุนต่างประเทศจะกลับมาเห็นอย่างไร
- กรมอุตุฯเตือน มวลอากาศเย็นระลอกใหม่จากจีน อากาศเย็นลง-ลมแรง
- เปิดโผ 5 หุ้นจ่ายปันผล ขึ้นเครื่องหมาย XD ต้นเดือน ธ.ค. นี้
- DELTA แถลงการณ์ปมพนักงานประท้วงขอโบนัส 8.5 เดือน พร้อมเงิน 5 หมื่น
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินในอนาคตจะสามารถให้ความมั่นใจกับประชาชนได้หรือไม่ว่าจะมีเงินสำรอง นายเศรษฐากล่าวว่า “มั่นใจในสถานะการเงินการคลังของประเทศว่ามีความแข็งแรง”
คลอดบอร์ดใหญ่-เล็ก 4 คณะ
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน digital wallet ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ซึ่ง ครม.เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 มีมติมอบหมายให้ ตนในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษารายละเอียดของแนวทางในการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน digital wallet ให้ชัดเจนแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน รวม 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะกรรมการนโยบาย ซึ่งเป็นเหมือน ครม.ชุดเล็ก โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานกรรมการ ส่วนรองประธานมี 4 คน
ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและ รมว.การต่างประเทศ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
ส่วนกรรมการมี รมช.คลัง 2 คน เป็นกรรมการร่วมกับปลัดดีอีเอส ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาฯ สศช. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาฯคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ครบองคาพยพ
2.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน 3.คณะทำงานด้านตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ และ 4.คณะทำงานด้านบริหารฐานข้อมูลโครงการ
คิกออฟประชุมบอร์ดสัปดาห์นี้
นายจุลพันธ์กล่าวว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการค่อนข้างครอบคลุมในกลไกที่ต้องใช้โครงการ เพราะสิ่งที่มอบหมายหน้าที่ให้กับคณะกรรมการชุดนี้ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ เป็นคณะกรรมการที่จะพิจารณาแนวนโยบาย กรอบวงเงินงบประมาณ แหล่งที่มาของงบประมาณ กลไกการดำเนินการต่าง ๆ รวมถึงเมื่อนโยบายริเริ่มแล้วก็จะมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบว่าดำเนินการราบรื่นหรือไม่ รวมถึงเรื่องทุจริตต่าง ๆ เมื่อโครงการสิ้นสุดก็จะสรุปผล เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยจะรายงานต่อ ครม.รับทราบต่อไป
ส่วนการประชุมคณะกรรมการนัดแรกนั้น นายกฯจะเป็นผู้นัดหมายโดยจะประชุมภายในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเป็นภายในวันพฤหัสบดี หรือศุกร์ เมื่อมีการประชุมนัดแรกจะมอบนโยบายในการ มีคำสั่งตั้งอนุฯขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นทางการ จะเป็นองคาพยพที่เล็กกว่า โดยเป็นชุดที่รวบรวมประเด็นแล้วเสนอต่อชุดใหญ่ ซึ่งมีตนเป็นประธาน รวมถึง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง เป็นรองประธานเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
ตั้งเป้าเริ่มแจก 1 ก.พ. 67
นายจุลพันธ์กล่าวว่า ส่วนหลักเกณฑ์การดำเนินนโยบายทั้งหมดปลายเดือนตุลาคมนี้น่าจะจบหมด ส่วนกรอบเวลาการดำเนินนโยบายยังตั้งเป้าเหมือนเดิมคือ 1 กุมภาพันธ์ 2567 บวกลบ 1 เดือน
“เพราะหลังจากพูดคุยหลายส่วนแล้วค่อนข้างตึง เมื่อนโยบายออกแล้วต้องรัดกุม ผ่านการทดสอบ การเทสต์หลายรูปแบบ เพราะเราจะปล่อยออกมาให้มีประเด็นปัญหาค้างคาไม่ได้ ฝ่ายเทคนิคขอเวลาเพิ่มเติม เป็นหน้าที่ต้องไปเรียนนายกฯ ในรายละเอียดเมื่อใกล้เวลาเข้ามาว่าสุดท้ายจะเดินตามกรอบ 1 กุมภาพันธ์หรือไม่ หรือต้องขยับเพิ่มเติม”
ส่วนข้อกังวลว่านโยบายดังกล่าวจะขัดกับ พ.ร.บ.เงินตรา หรือไม่นั้น ยืนยันได้พูดคุยกับ ธปท.ในเบื้องต้น และไม่ติดปัญหานี้ มีกลไกรองรับไม่ขัดตัวกฎหมายใด ๆ ดังนั้นจึงไม่เป็นปัญหา และยังยืนยันว่าเบื้องหลังเทคโนโลยีที่ใช้คือ กลไกบล็อกเชนแน่นอน เพราะเป็นกลไกที่ตรวจสอบได้ ขณะนี้ไม่มีกลไกใดที่เรายืนยันว่าไม่มีเทคโนโลยีใดที่โปร่งใสเท่านี้อีกแล้ว
ที่มาของเงินอาจใช้แบบ Hybrid
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการขยายเพดานกรอบการใช้เงินตาม มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเป็น 45% จากเดิม 32% เพื่อใช้เงินนอกงบประมาณมาดำเนินโครงการหรือไม่ เพราะนายกฯให้สัมภาษณ์ว่าจะขยายเพดานกรอบการใช้เงินดังกล่าว นายจุลพันธ์กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่านายกฯ ไปให้ข่าวเรื่องขยับกรอบหนี้จากที่ไหน ยังไม่เห็น
“ยืนยันว่าไม่มี ท่านนายกฯก็บอกว่า ยังไม่ได้ให้ข่าวนี้ ผมไม่แน่ใจว่าข่าวนี้มาจากตรงไหน ดังนั้นเรายึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลัง เราทำให้ดีที่สุด ส่วนกลไกที่จะใช้ เรามีทางเลือกสำหรับรัฐบาล เรามีกลไกที่สามารถเลือกได้ อาจมีรูปแบบ hybrid ก็ได้ ซึ่งตรงนี้อนุฯขับเคลื่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการที่ได้ตั้งขึ้นว่าเราจะเลือกออปชั่นไหนในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ และจะเป็นประโยชน์ที่สุด ซึ่งการขยายกรอบการใช้เงินเป็นหนึ่งในออปชั่น” นายจุลพันธ์กล่าว
อาจขยายพื้นที่ใช้มากกว่า 4 กม.
ส่วนการขยายพื้นที่การใช้โครงการมากกว่า 4 กิโลเมตรนั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า เป็นหน้าที่อนุกรรมการ หลังจากรับฟังเสียงประชาชน เสียงสะท้อนต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มไปยังการขยายกรอบพื้นที่ เกินกว่า 4 กิโลเมตร ตนเป็น สส.ต่างจังหวัด บางหมู่บ้านตึงจริง ๆ การขยายกรอบพื้นที่มีความเป็นไปได้สูง แต่คงต้องรอ คนฟันธงคือคณะกรรมการ
เมื่อถามว่า นโยบายดิจิทัลวอลเลต สุดท้ายเป็นการยืมมือประชาชนไปให้เจ้าสัวหรือไม่ เพราะสามารถใช้ได้ทุกที่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า เป็นไปได้เหมือนกันว่าประชาชนเอาเงินดิจิทัลที่ได้ไป ไปซื้อกับรายเล็ก เพราะสิ่งที่เราทำไม่มีใครกันออกจากระบบ สามารถดำเนินการได้ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบฐานภาษีหรือไม่ ถ้าอยู่ในฐานภาษีก็ขึ้นเป็นเงินบาทได้ แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในฐานภาษีก็เป็นอีกหนึ่ง chain ที่รับเงินดิจิทัลมา แล้วนำไปใช้ต่อ
และไม่ได้หมายความว่าทุกคนไปใช้ที่ร้านค้ารายใหญ่ หรือรายเล็ก แต่ใช้ตามดีมานด์ที่เกิดขึ้นจริง แน่นอนเราห่วงใยในเรื่องนี้ และจะต้องมีกลไกจูงใจให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจระดับชุมชน
เมื่อถามว่า เงินดิจิทัลจะเปลี่ยนมาเป็นเงินบาทได้ตอนไหน นายจุลพันธ์กล่าวว่า ในหลักคิดเมื่อใช้คนแรกแล้ว คนที่สองก็นำไปขึ้นเงินบาทได้ทันที ถ้าเป็นบุคคลที่อยู่ในระบบฐานภาษี คือลงทะเบียนเป็นร้านค้า ถ้าไม่อยู่จะเป็นผู้ใช้เงินดิจิทัลคนต่อไป เช่น ร้านโชห่วย ร้านก๋วยเตี๋ยว ถ้าไม่อยู่ในฐานภาษีก็จะกลายเป็นผู้ใช้เงินดิจิทัลคนต่อไป
ส่วนแหล่งเงินได้จะออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงินหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า “ไม่มีปัญหาเรื่องแหล่งเงิน มีความเชื่อมั่นว่าดำเนินการได้”
พร้อมรับผิดชอบทางการเมือง
เมื่อถามว่า มั่นใจไม่ซ้ำรอยกับโครงการรถยนต์คันแรก ที่ถูกมองว่าไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่ได้ประเมินขนาดนั้น เราดูรอบคอบรัดกุม เราเชื่อว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ จะเดินหน้ากระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
แม้แต่นโยบายรถยนต์คันแรกก็แล้วแต่มุมมอง มีคนที่ได้รับประโยชน์ แต่ก็เกิดปัญหากับในบางส่วน ทุกนโยบายมีทั้งบวกและลบ ขึ้นอยู่กับจะลิมิตความเสียหายอย่างไร ถ้าเอาปัญหามาเป็นตัวตั้ง แล้วไปยุติโครงการก็คงไม่เกิด เราต้องเดินหน้าให้สำเร็จและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
เมื่อถามว่า หากไม่สำเร็จใครจะรับผิดชอบ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ทางการเมืองพวกผมเป็นนักการเมือง ถ้าประเทศพังพินาศล่มจม แน่นอนตนและทุกคนที่นั่งตรงนี้ก็รับผิดชอบร่วมกัน อย่างน้อยประชาชนก็ไม่เลือกพวกผมกลับมา คือความรับผิดชอบในเบื้องต้น
“ถ้ามีการทุจริต ที่พิสูจน์ชัดว่าจุลพันธ์เป็นคนทำก็ว่ากันมา ก็แค่นั้น ไม่มีปัญหา พวกผมก็พร้อม” นายจุลพันธ์กล่าว