จุลพันธ์พร้อมเข้าพบ ป.ป.ช. ชี้แจง “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ด้วยตัวเอง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

จุลพันธ์นั่งหัวโต๊ะประชุมอนุกรรมการขับเคลื่อน “เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต” ระบุ ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบโครงการเป็นเรื่องดี ช่วยให้โครงการรอบคอบ-รัดกุม แจงพร้อมเข้าพบด้วยตัวเองเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ

วันที่ 12 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต กล่าวว่า

ตามที่มีข้อห่วงใยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลตขึ้นมานั้น ต้องบอกว่าเป็นข้อดี เพราะจะมีกลไกเข้ามาช่วยพิจารณาโครงการอย่างรอบคอบ รัดกุม ซึ่งหลังจากนี้ตนพร้อมจะเข้าไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการดังกล่าวของ ป.ป.ช.ด้วยตัวเอง

               

“ต้องเรียนว่าเป็นข้อดี ที่จะมีหู มีตา มีหน่วยงานของรัฐแบบนี้เข้ามาช่วยดู ซึ่งจะทำให้เกิดความรอบคอบ รัดกุม เป็นประโยชน์ที่ดีมากต่อพวกเรา และเราพร้อมที่จะเข้าพบกับคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อไปนำเสนอโครงการ และแลกเปลี่ยน เพื่อขจัดข้อสงสัย และรับฟังคำแนะนำของคณะกรรมการของ ป.ป.ช. เพื่อนำมาปรับใช้ เพื่อให้กลไกของโครงการเป็นไปอย่างรอบคอบ สมบูรณ์ที่สุด”

นายจุลพันธ์กล่าวว่า การประชุมอนุกรรมการครั้งนี้เป็นนัดแรก ซึ่งจะต้องพิจารณาทุกแนวทาง เพื่อนำไปเสนอคณะกรรมการนโยบาย หรือคณะกรรมการชุดใหญ่ พิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยยอมรับว่ากรอบการทำงานค่อนข้างที่จะตึงตัวพอสมควร เนื่องจากนโยบายนี้ควรต้องดำเนินการภายในไตรมาสแรกปี 2567

“ด้วยงบประมาณปี 2567 ที่ล่าล้า จะออกได้เร็วสุดก็ประมาณกลางเดือน เม.ย. แล้วกว่าจะออก กว่าจะจัดซื้อจัดจ้าง ผลบวกต่อเศรษฐกิจก็จะยิ่งล่าช้า ดังนั้น ช่วงเวลาต้นปีจึงเหมาะสมที่จะเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเราตั้งเป้าว่าไตรมาสแรกจะต้องดำเนินนโยบายนี้ให้สำเร็จ”

ทั้งนี้ นายจุลพันธ์เน้นย้ำต่อกรรมการในอนุกรรมการทั้งหมดว่า อนุกรรมการจะต้องเสนอรายละเอียดอย่างรอบด้าน เพื่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ โดยจะต้องยึดกรอบกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักการและวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พระราชบัญญัติวินัยทางการเงินการคลังของภาครัฐ และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ

“เราจะต้องดำเนินนโยบายนี้ด้วยความโปร่งใส บริหารอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่า และเนื่องจากนโยบายนี้เป็นนโยบายสาธารณะ ความคุ้มค่า คงไม่ได้มองแค่มิติด้านตัวเงิน แต่ต้องมองมิติทางสังคม ผลได้ผลเสีย รวมถึงผลที่ไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ด้วย”