
หลังจากพยายามแสวงหาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการ “เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต” มาพักใหญ่ ในที่สุดคณะอนุกรรมการโครงการที่มี “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง เป็นประธาน ก็สรุปแนวทางการดำเนินโครงการออกมา
แต่ก็ยังคงมีหลายประเด็นที่มีหน่วยงาน “เห็นต่าง” จึงต้องเสนอเป็นทางเลือก (option) ไปให้คณะกรรมการนโยบายโครงการ หรือคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังเป็นประธาน ฟันธง
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
เล็งตัดสิทธิคนรวย 7-13 ล้านคน
“จุลพันธ์” กล่าวว่า โครงการนี้ที่ประชุมยืนยันว่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ขณะที่การกำหนดกลุ่มเป้าหมายยังมีความเห็นแตกต่างกัน ต้องส่งให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ เนื่องจากที่ประชุมเห็นต่างกัน 2 ส่วนคือ 1.เมื่อตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ต้องให้มีคนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก แต่มีข้อเสนอให้ตัด “คนรวย” ออก
“มีข้อเสนอมาว่า คนรายได้เกิน 2.5 หมื่นบาท และมีเงินฝากในบัญชีเกิน 1 แสนบาท เป็นกลุ่มที่ต้องตัดออก และมีอีกข้อเสนอ บอกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ 5 หมื่นบาท มีเงินในบัญชีรวมกันเกิน 5 แสนบาท ถือว่ามีรายได้สูง กับความเห็นที่ไปสุดทาง บอกว่าให้ดูเฉพาะกลุ่มคนยากไร้ไหม ซึ่งอันนี้จะเปลี่ยนวัตถุประสงค์โครงการไปเลย ดังนั้น เราจะเสนอทั้ง 3-4 option นี้ไปให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจในรายละเอียด”
ทั้งนี้ หากเลือกตัดกลุ่มคนมีรายได้เกิน 2.5 หมื่นบาท และมีเงินฝากในบัญชีเกิน 1 แสนบาทออก ก็จะเหลือผู้ที่มีสิทธิร่วมโครงการประมาณ 43 ล้านคน ใช้งบฯ 4.3 แสนล้านบาท แต่หากเลือกตัดกลุ่มคนที่มีรายได้ 5 หมื่นบาท มีเงินในบัญชีรวมกันเกิน 5 แสนบาท ก็จะเหลือผู้ที่มีสิทธิร่วมโครงการประมาณ 49 ล้านคน ใช้งบฯ 4.9 แสนล้านบาท ส่วนการแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 15 ล้านคน หรือกลุ่มผู้ถือบัตรคนจน ก็จะใช้งบฯ 1.5 แสนล้านบาท
ขยายรัศมีใช้จ่ายเป็น “อำเภอ”
สำหรับ “กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการ” มีได้ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอี แต่ร้านค้าที่จะสามารถ “ขึ้นเงินสด” ได้ จะต้องอยู่ในระบบภาษี 3 ประเภทคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีนิติบุคคล ขณะที่ประเภท “สินค้า” ที่สามารถใช้เงินดิจิทัลซื้อขายได้จะเน้นที่ “สินค้าอุปโภคบริโภค” ด้านเงื่อนไขการใช้จ่ายจะขยายรัศมีการใช้จ่ายจาก 4 กิโลเมตร เป็นระดับ “อำเภอ”
เลือกผูกพันงบฯ 4 ปีเลื่อนแจก
ส่วน “แหล่งเงิน” ก็มีข้อเสนอเข้ามาเป็น option ทั้งการใช้งบประมาณ เงินกู้ การใช้กลไกอื่น ๆ เช่น มาตรการกึ่งการคลัง เป็นต้น ซึ่งมีรูปแบบที่คล้ายกับที่ฝ่ายนโยบายคิดไว้แต่ต้น คือการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก
โดยมีการเสนอให้ทำเป็น “งบประมาณผูกพัน” เช่น หากโครงการต้องใช้งบฯ 4 แสนล้านบาท ก็จะตั้งงบฯ ผูกพัน 4 ปี ปีละ 1 แสนล้านบาท เป็นต้น ส่วนการขึ้นเงินอาจจะต้องชะลอการขึ้นเงินของร้านค้า ซึ่งอาจจะต้องกำหนดในเงื่อนไข อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ก็ต้องให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ
“การกู้เงินเราก็จะเสนอไป แต่ก็คงเป็นตัวเลือกท้าย ๆ ขณะที่ข้อเสนอใช้มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มีการพูดถึงจริง คือมาตรการกึ่งการคลัง เราจะไม่เดินช่องทางนี้ ดังนั้น ในส่วนธนาคารออมสินก็จะไม่มีความเกี่ยวเนื่องแล้ว แต่ก็จะเสนอไป เพียงแต่ไม่ใช่เป้าประสงค์ของฝ่ายนโยบาย สุดท้ายก็คือการใช้หน่วยงานของรัฐที่มีความสามารถในการหาเงินอื่น ๆ”
ปิดฉากยืมเงิน “ออมสิน” ไม่ได้
ทั้งนี้ “รมช.คลัง” ยอมรับว่าเคยมีความคิดจะใช้เงินออมสิน เนื่องจากโครงการได้รับโจทย์มาว่า ให้ทำโครงการตั้งแต่ต้นปี 2567 ซึ่งงบประมาณออกมาไม่ทัน ดังนั้น ก็จำเป็นต้องหาแหล่งเงินที่ใช้ได้ช่วงต้น ออมสินจึงเป็นตัวเลือกหนึ่ง
แต่เมื่อสอบถามข้อกฎหมายแล้วมีข้อติดขัด ก็ไม่ได้มีปัญหา ก็จะใช้งบประมาณเป็นหลัก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่โครงการจะเริ่มล่าช้าออกไป เพื่อรองบฯ ปี 2567 บังคับใช้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่างบฯ น่าจะช้าไปถึงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2567
“งบฯ ผูกพันเป็นภาระที่อยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้ ซึ่งถ้าเลือกแนวทางนี้ก็มีข้อดีในข้อเสีย หนึ่งคือแนวโน้มน่าจะล่าช้า แต่ข้อดีก็คือมีกรอบเวลามากขึ้นในการพัฒนาระบบยืนยันตัวตน และที่สำคัญก็คือความปลอดภัยของระบบ”
ขณะที่ “หน่วยงานที่จะทำระบบ” ทางสมาคมสถาบันการเงินของรัฐได้มอบหมาย “ธนาคารกรุงไทย” เป็นผู้พัฒนาระบบ เพราะมีความพร้อม มีประสบการณ์ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นของรัฐ ซึ่งงบฯ พัฒนาก็ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทมาก แต่เป็นตัวเลขในระดับที่รับได้
“รมช.คลัง” กล่าวด้วยว่า การจะเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ โดยสัปดาห์หน้าจะส่งเรื่องไป แต่จะนัดหมายประชุมวันไหน ต้องขึ้นกับนายกฯ
อาจต้องยืมหน่วยงานรัฐอื่น
“แหล่งข่าวจากอนุกรรมการ” เปิดเผยว่า เกณฑ์กำหนดกลุ่มเป้าหมายนั้น มาจากฐานผู้เสียภาษีซึ่งมีอยู่ประมาณ 11 ล้านคน โดยตัดคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ออกไป ซึ่งการกำหนดเกณฑ์จะเป็นคนที่มีเงินเดือนและเงินฝากเท่านั้น ไม่รวมพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ และสลากออมทรัพย์
ขณะที่ในเรื่องแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ หลังจากมีการตีความว่า ไม่สามารถใช้เงินตามมาตรา 28 ได้ ทางฝ่ายการเมืองก็ต้องไปดูว่าจะมีหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่สามารถดำเนินการให้ยืมได้หรือไม่ เพราะแนวทางการตั้งงบฯ ผูกพัน ก็ยังเป็นคำถามว่าจะทำได้จริงหรือไม่
“ตามกฎหมายงบประมาณ จะมีการกำหนดสัดส่วนการทำงบฯ ผูกพัน ว่าได้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องดูว่าจะเหลือเม็ดเงินเท่าไหร่ที่ทำงบฯ ผูกพันได้ เพียงพอกับการทำโครงการหรือไม่ โดยกลางเดือน พ.ย.นี้จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งก็หมายความว่ารัฐบาลต้องมีการกำหนดวงเงินที่จะใช้ในการทำโครงการดิจิทัลวอลเลตไว้
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นว่า ถ้าใช้งบฯ ผูกพัน 4 ปี จะเท่ากับว่าร้านค้าจำนวนมากจะไม่สามารถถอนเป็นเงินสดออกมาได้ทันที แต่จะต้องใช้เวลาถึง 4 ปี ในการถอนเงินออกมา รวมถึงยังอาจจะติดปัญหาข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติเงินตรา ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย เพราะในวันที่ใส่เงินเข้าวอลเลต 4 แสนล้านบาท แต่ไม่มีเงินจริง ๆ” แหล่งข่าวระบุ
ยังคงมีความ “ไม่ชัดเจน” อยู่อีกมากจริง ๆ สำหรับโครงการนี้ ดังนั้น คำตอบสุดท้ายจะออกมาแบบไหน คงต้องวัดใจ “นายกฯ เศรษฐา” แล้ว