ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้นโยบายการเงินมาถูกทาง ลุยปรับโหมดรับมือโลกเสี่ยง-ยก IMF เตือนก่อหนี้สูง

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ธปท.มองเศรษฐกิจโลกความเสี่ยงสูง-ประเมินยาก-มีผลข้างเคียงสูง แนะมุ่งเน้นรักษา “เสถียรภาพ” เสริมกันชนรับมือวิกฤต ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง-หนี้สาธารณะเร่งจาก 40% เป็น 61.7% หลังไอเอ็มเอฟส่งสัญญาณแนะใช้ Fiscal Consolidation ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ หวั่นมีโอกาสหั่นเรตติ้ง ย้ำเสถียรภาพไทยยังดี-นโยบายการเงินเดินมาถูกทาง แต่ต้องปรับโหมดกับบริบทใหม่

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูง การฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 3% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 30 ปี

สะท้อนภาพการเติบโตที่ไม่สวยหรู และความเสี่ยงใหม่ๆ ที่โผล่มาค่อนข้างมาก และเป็นเรื่องที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน เช่น ปัญหาซัพพลายเชน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งกระทบต่อการค้าโลก และปัญหาที่เกิดในกลุ่มตะวันออกกลางที่ประเมินผลกระทบยากมาก และมองไม่ออก แม้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นแต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้

               

ปักหมุด “เสถียรภาพ” รับมือความเสี่ยงโลก

ดังนั้น จากสิ่งที่เกิดขึ้นจะเห็นว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีการแนะนำการทำนโยบายที่ควรทำและเน้นจะเป็นเรื่อง “เสถียรภาพ” คือ 1.เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมายให้ได้ แต่หากตะวันออกกลางมีปัญหาก็อาจจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นได้

ทำให้การต่อสู้กับเงินเฟ้อที่ผ่านมาก็จะเพิ่มขึ้นอีกได้ 2.กันชนภาคการคลัง ซึ่งจะต้องอยู่ในโหมดการรัดเข็มขัดภาคการคลัง (Fiscal Consolidation) โดยการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ และรับมือกับซ็อกที่จะมา และลดการกระตุ้น

และ 3.ดูแลระบบสถาบันการเงิน ซึ่งในต่างประเทศมีกังวลในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) ซึ่งอาจจะแตกต่างจากประเทศไทยที่จะต้องใส่ใจในเรื่องของระบบสถาบันการเงิน และ 4.การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต เช่น ดิจิทัล เป็นต้น ดังนั้น หากดูโจทย์จะเน้นไปทางด้านเสถียรภาพมากขึ้น

“ตอนนี้เรามองความเสี่ยงไม่ออก เป็นของที่ไม่เคยเห็น แต่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น กรณี 911 คนมักจะมองถึงผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว และการลงทุน แต่หากดูเหตุการณ์ 911 นำมาสู่การตอบโต้ของสหรัฐฯ ในอิรัก และก็มีเหตุการณ์อื่นต่อมา

จึงเป็นผลข้างเคียงที่เรามองไม่เห็นและนึกไม่ออก เช่น อิสราเอลไม่ได้แค่กระทบต่อการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่ใช่เลย แต่เป็นที่มาของการเกิดของราคาแพงขึ้น และกระทบเงินเฟ้อได้ เราจึงมีโจทย์ที่ต้องเน้นเรื่องของเสถียรภาพ”

ห่วงหนี้ครัวเรือน-หนี้การคลังสูง หวั่นโดนหั่นเครดิต

ทั้งนี้ หากดูภาพรวมเสถียรภาพของไทย โดยรวมถือว่าดี แต่ชะล่าใจมาได้ เพราะมีบางตัวเลขที่ค่อนข้างดี แต่ก็มีตัวเลขที่ไม่ค่อยดี หากดูตัวเลขที่ค่อนข้างดี คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลปีนี้และปี 2567 สัดส่วนหนี้ต่างประเทศ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมถึงระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเงินทุนที่เข้มแข็ง

ขณะที่ตัวเลขที่ดีน้อยลงมา เช่น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับ 90.7% ต่อจีดีพี ถือว่าลดลงมาเล็กน้อย จากที่เคยไปพีกในระดับ 94% ต่อจีดีพี ซึ่งตัวเลขตามมาตรฐานของ BIS กำหนดว่าจะอยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพี และหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ 61.7% ถือว่าสูงสุดในประวัติการณ์

หากดูในช่วงปี 2540 วิกฤติต้มยำกุ้งหนี้สาธารณะวิ่งอยู่ที่ราว 60% ของจีดีพี และหากดูช่วงก่อนระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ 40% ซึ่งเป็นเรื่องของเสถียรภาพ

และตัวเลขที่สะท้อนอีกตัว คือ การตอบสนองของตลาดการเงิน (Market Reaction) ในเรื่องของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) เงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) -8.4 พันล้านดอลลาร์

เป็นการไหลออกทั้งตลาดหุ้นและพันธบัตร (บอนด์) ซึ่งส่วนทางกับประเทศอื่นที่เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้า (Net Inflow) เช่น เกาหลี มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรืออินเดีย เป็นต้น สะท้อนภาพความกังวลต่างๆ ซึ่งการไหลออกของฟันด์โฟลว์ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปี

โดยในส่วนของค่าเงินจะเห็นความผันผวนของค่าเงินอยู่ที่ระดับ 8.9% รองจากเกาหลีที่อยู่ 9% ซึ่งโดยปกติจะเห็นญี่ปุ่น และเกาหลีมีความผันผวนสูงกว่า แต่ปัจจุบันไทยมีความผันผวนสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และผันผวนสูงหากเทียบกับอดีตที่ผ่านมา สอดคล้องกับ Credit Default Swap (CDS) ค่าประกันความเสี่ยง

ซึ่งเป็นตัวสะท้อนว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ จะพบว่า จากเดิมที่เคยวิ่ง 0.50% เป็น 0.70% และเคยวิ่งไปสูงในช่วงโควิด-19 ที่ระดับ 1.00% เป็นการสะท้อนว่าตลาดมีความกังวล

“โดยรวมเสถียรภาพของไทยยังโอเค แต่ก็มีสัญญาณต่างๆ และตัวเลขต่างๆ รวมถึงมีเรื่องของบริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง โดยสิ่งที่เขากังวล และส่งสัญญาณว่ามีโอกาสในการปรับ Outlook จาก Stable Outlook และถ้ามีอะไรเสื่อม เขาจะปรับจาก Outlook ก่อน เป็น Nagative Outlook

โดยไอเอ็มเอฟ อยากเห็นเรื่องของ Fiscal Consolidation การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และหากดูภาระหนี้ต่องบประมาณ เขาไม่อยากเห็นตัวเลขเกิน 12% แต่ตอนนนี้ของเราอยู่ที่ราว 10% และเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเป็น Safe Haven แต่ปัจจุบันเป็น Less of the Safe Haven”

เปิด 3 ปัจจัยกันชนรับมือช็อก

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า จากบริบทที่เป็นแบบลักษณะนี้ ธปท.จะต้องปรับโหมด แต่ไม่ได้ปรับทิศทาง แต่อาจจะปรับโฟกัสไปบ้าง ปรับจากระยะสั้น เป็น ปานกลาง และทำให้ระบบมีความยืดหยุ่นและทนทาน (Resilience) ล้มและกลับมาได้เร็ว มีความทนทาน

ซึ่งองค์ประกอบของ Resilience จะมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ 1.Macro financial Stability การใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไป โดยภาคเศรษฐกิจโตในระดับที่เหมาะสม เงินเฟ้อไม่สูง และดูแลให้ระบบการเงินไม่มีปัญหาหรือเปราะบางเกินไป

2.การสร้างภูมคุ้มกันทางการเงิน ซึ่งภูมิจะมาจากอะไร ส่วนหนึ่งมาจากกันชน (Buffer) ที่สามารถรับช็อก คือ งบดุล (Balance Sheet) เข้มแข็ง มีกระสุนเพียงพอ (Policy Space) ทั้งฝั่งดอกเบี้ยและภาคการคลัง และสะท้อนงบดุลแข็งแรง ทั้งภาคครัวเรือน การเงิน การคลัง และภาคธุรกิจ

แต่ก็ต้องมีทางเลือกด้วยนอกจาก Buffer คือ ระบบชำระเงิน (Payment) จะต้องมีทางเลือก เช่น Cross Border หรือการค้าขายด้วยสกุลท้องถิ่น (Local Currency) เพื่อรองรับช็อกที่อาจจะเกิดขึ้น และ 3.การเติบโตจากโอกาสใหม่ๆ คือ คุณลักษณะ Resilience หากไม่มีจะไม่มีโอกาสเติบโตได้อย่างไร หากมีโอกาสใหม่ๆ เติบโตจากของใหม่ๆ มีอะไรเกาะกระแสที่กำลังมา คือ digital หรือ Transition ในด้านความยั่งยืน

“ทั้ง 3 เรื่อง จะทำให้เกิดโอกาสเศรษฐกิจ Resilience โดยธปท.มีการปรับ ทำต่อ และต่อยอด เช่น มิตินโยบาย สิ่งที่เน้นจาก Smooth Take off ปรับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป มาเป็น Landing ปรับดอกเบี้ยเข้าสู่ Neutral Rate คือ เหมาะกับความสมดุลระยะปานกลาง และดูแลเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับศักยภาพ

ควบคู่ไปกับการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ อย่างยั่งยืน ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบการเงิน ดังนั้น นโยบายการเงินจะอยู่ในโหมด Resilience และมีความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ Policy Space เพื่อดูแลด้านต่างๆ”

นโยบายการเงินเดินมาถูกทาง-ดอกเบี้ยสู่ระดับสมดุล

โดยอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันถึงจุด Neutral Rate แล้วหรือไม่นั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า หากดูรายงานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึงในระดับปัจจุบัน ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว ซึ่งหากสถานการณ์ระยะข้างหน้าที่มองไว้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ มองว่าอัตราดอกเบี้ยระดับดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสม

ทั้งนี้ หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ และปี 2567 ยอมรับว่า ภายใต้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ระดับ 2.8% ตัวเลขที่ออกมาน่าจะใกล้เคียงหรือบวกลบได้จากระดับนี้ แต่หากดูตัวเลขในไตรมาส 3/2566 ที่จะออกมาในระยะข้างหน้า มีโอกาสออกมาซอฟต์กว่าที่ทองไว้

แต่ก็มีบางด้านที่ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เช่น การบริโภค ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 และ 2 และในไตรมาสที่ 3 ก็ค่อนข้างแข็งแรง รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ส่วนด้านที่ต่ำกว่าที่มองไว้ เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่อาจจะออกมาต่ำกว่าคาดไว้

“โดยรวมนโยบายการเงินถือว่าเดินมาค่อนข้างโอเคแล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยเปรียบเหมือนการเซ็ตอุณหภูมิห้อง ซึ่งอุณหภูมิของแต่ละคน แต่ละห้องไม่เหมือนกัน แต่เราต้องพยายามเซ็ตให้อุณหภูมิสามารถอยู่ได้รวมทุกคน และเราเชื่อว่าสิ่งที่จะมีผลต่อคน คือ เรื่องของเงินเฟ้อ เพราะถ้าเราปล่อยให้เงินเฟ้อสูง ภาระของคนต่อเงินเฟ้อจะเยอะกว่าดอกเบี้ย”