
ปี 2566 ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นยุคมืดของหุ้นไอพีโอในตลาดหุ้นไทยเลยก็ว่าได้ เพราะจากต้นปีถึงปัจจุบันมีหุ้นไอพีโอเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งสิ้น 37 บริษัท แต่ราคาปิดวันแรกต่ำกว่าราคาจองซื้อไปสูงถึง 18 บริษัท
ราคาร่วงหนักตั้งแต่เทรดวันแรก
ซึ่งในจำนวนดังกล่าว พบว่า มีหุ้นที่ราคาต่ำจองระหว่าง 15-40% อยู่ถึง 11 บริษัทเลยทีเดียว
ขณะที่หากนับย้อนไปช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2556-2565)จะพบว่ามีหุ้นไอพีโอต่ำจองเฉลี่ยแค่ปีละ 5-10 บริษัทเท่านั้น และในปี 2559 เป็นเพียงปีเดียวที่ไม่มีหุ้นไอพีโอเข้าเทรดแล้วต่ำจองเลย
สภาพคล่องส่วนเกินน้อย
โดย “ภราดร เตียรณปราโมทย์” รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า สาเหตุที่ปีนี้ ภาพรวมหุ้นไอพีโอหลายบริษัทมีราคาปิดวันแรกต่ำกว่าราคาจองซื้อนั้น เนื่องจากเป็นช่วงที่สภาพคล่องส่วนเกินหายไปมาก
เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในยุคที่ระดับดอกเบี้ยสูงกว่าปกติมาก ทำให้หุ้นไอพีโอที่ต้องอาศัยสภาพคล่องสูง ๆ ในการผลักดันราคาช่วงวันแรกของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ก็หล่นหายไป สะท้อนถึงกลไกตลาดไม่เอื้อที่จะผลักดันราคา
ประกอบกับสภาวะตลาดหุ้น ยังโดนกดดันจากหลายปัจจัย อาทิ สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะสังเกตเห็นหุ้นใหม่ที่วางแผนจะเสนอขายไอพีโอในช่วงปลายปี ก็มีหลายบริษัทตัดสินใจเลื่อนระดมทุนไปเป็นปีหน้าแทน โดยคาดหวังสภาพคล่องที่จะกลับมาและสภาวะตลาดดูมีทิศทางดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยหนุนให้หุ้นไอพีโอเทรดเหนือจองได้
รายย่อยเบรกลงทุนหุ้นไอพีโอ
“จริง ๆ เวลาสภาพคล่องดรอปกว่าปกติมาก ๆ ไม่ใช่เฉพาะหุ้นไอพีโอที่ราคามักจะปรับตัวลง แต่รวมไปถึงหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย ซึ่งปีนี้วอลุ่มจากนักลงทุนรายย่อยแฟบไปมาก ส่วนหนึ่งเพราะการลงทุนหุ้นปีนี้ยากกว่าปกติ ราคาหุ้นปลิ้นแรง
ซึ่งในอดีตหุ้นใหญ่ลงแค่ 1-2% แต่ตอนนี้วันหนึ่ง ๆ ปรับตัวลง 4-5% ขณะที่ต่างชาติเทรดหนักขึ้น เพราะมีโปรแกรมเทรด แต่มูลค่าซื้อขายเบาบางลง ทำให้ภาพหุ้นใหญ่ผันผวนกว่าปกติ จึงอาจเห็นช่วงนี้นักลงทุนรายย่อยหยุดการซื้อขายไปชั่วคราว” ภราดรกล่าว
“ภราดร” กล่าวว่า ในขณะที่การลงทุนต้องลุ้นมูลค่าหุ้น (valuation) ตามปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัท ว่าจะช่วยให้ราคาดีดกลับขึ้นมาเหนือจองได้หรือไม่ ซึ่งปกติในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำ เป็นช่วงของสภาพคล่องส่วนเกิน หุ้นไอพีโอจะปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วง 1-2 วันแรกที่เข้าตลาด และจะย่อตัวลงมา และสุดท้ายใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ที่จะวิ่งกลับไปอยู่ที่ระดับราคาเดิม
“แนะนำสำหรับคนที่จะจองซื้อหุ้นไอพีโอ อาจจะต้องเลือก (selective) มากขึ้น ด้วยภาวะกลไกตลาดที่ไม่ดี หมายถึงนักลงทุนต้องทำการบ้านว่า หุ้นไอพีโอนั้น ๆ ทำธุรกิจประเภทใด เงินระดมทุนนำไปใช้ทำอะไร หากเอาไปจ่ายหนี้ ก็จะไม่ค่อยดี เพราะอาจถูกตั้งคำถามว่า จะนำไป write-off หรือเปล่า แต่ถ้ามองแล้วเห็นว่าราคาหุ้นไอพีโอไม่แพง และนำเงินไปลงทุนขยายกิจการต่อเนื่อง ก็อาจจะมีความน่าสนใจ” ภราดรกล่าว
ราคาหุ้นแพงตั้งแต่ต้น
ด้านแหล่งข่าววงในตลาดทุนระบุว่า สาเหตุหุ้นไอพีโอราคาต่ำจองหนัก จริง ๆ มองว่าเริ่มตั้งแต่กลไกตลาดที่กำหนดเกณฑ์การเข้าจดทะเบียน เพราะมองว่าแค่เกณฑ์เริ่มต้นก็บ่งชี้ได้ว่า ราคาหุ้นหรืออัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) ค่อนข้างแพงแล้ว
ส่วนการตั้งราคาเสนอขาย มองว่าที่ปรึกษาทางการเงิน (IB) และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนใหญ่จะประเมินจากค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งช่วงเวลาในการทำดีลและกำหนดราคาเสนอขายนั้นมีผลต่อความถูกแพงของหุ้น เนื่องจากตลาดมีความผันผวนสูง หากค่าเฉลี่ย P/E ของอุตสาหกรรมในตลาดปรับตัวลดลง ก็อาจทำให้การเปรียบเทียบว่าหุ้นมีราคาแพงได้
สอดคล้องกับ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นักลงทุนรายใหญ่สายเน้นคุณค่า (value investor) สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ที่ระบุว่า ตนไม่เล่นหุ้นไอพีโอที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของไทย เนื่องจากมองว่าราคาแพงเกินไป
เอฟเฟ็กต์จากดอกเบี้ยขาขึ้น
ด้าน “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวยอมรับว่า ปีนี้หุ้นไอพีโอได้รับผลกระทบรุนแรง จากช่วงดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น สภาพคล่องลดลง ทำให้ความต้องการซื้อหุ้นไอพีโอลดลงแรงจากปีที่แล้ว เห็นได้จากสถิติที่มีบางส่วนไม่มีเงินเข้ามาลงทุนมากเหมือนเดิม จึงมีผลกระทบกับราคาหุ้นไอพีโอดังที่เห็นกัน
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติหันไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ จากความกังวลเหตุการณ์ต่าง ๆ
“ปีนี้หุ้นไอพีโอได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหาทางแก้ไขอยู่ ตอนนี้สิ่งที่เราพยายามทำคือ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องไอพีโอ เช่น การตั้งราคา (pricing set), ไอพีโอเป็นของบริษัทอะไร, มีความสามารถในการทำกำไรอย่างไร เป็นต้น” ภากรกล่าว
เล็งปรับเกณฑ์ บจ.เข้า mai
ขณะที่ “ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลท. กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯกำลังพิจารณาปรับปรุงคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน โดยเล็งเห็นว่าเกณฑ์ mai ในส่วนของกำไรสุทธิที่ดูแค่ปีล่าสุดปีเดียวที่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ควรจะดูเพิ่มมากกว่านั้น โดยพิจารณากำไรสุทธิรวม 2-3 ปีด้วย เพื่อให้เห็นความยั่งยืนของกำไร
รวมถึงความหนาของส่วนทุน (equity) ควรจะมากกว่าปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 50 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับ mai และที่ระดับ 300 ล้านบาท สำหรับ SET และส่วนของทุนชำระแล้ว (paid-up capital) มีการถกกันอยู่ เพราะตามเทรนด์อาจไม่ได้จำเป็นต้องใช้ทุนจำนวนมาก จึงอาจมีการปรับลดจากระดับเดิมคือ SET มูลค่า 300 ล้านบาทขึ้นไป และ mai ที่ 50 ล้านบาทขึ้นไป
ลุ้นปีหน้าทุกอย่างกลับมาดีขึ้น
ส่วนปีหน้า (2567) “ภราดร” กล่าวว่า สถานการณ์หุ้นไอพีโอน่าจะดูดีขึ้นกว่าปีนี้ ด้วยทิศทางเศรษฐกิจเริ่มดูดีขึ้น แต่วอลุ่มคงยังไม่กลับมาร้อนแรงตามภาวะดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง
“ปัจจัยที่จะดึงสภาพคล่องในตลาดหุ้นกลับมาคึกคักได้ ซึ่งหลายฝ่ายต้องช่วยเรียกความเชื่อมั่นกลับมาโดยเร็ว โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติ” รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัสกล่าว