รู้จัก “ลสา โสภณพนิช” ลูกไม้ใต้ต้น “กรุงเทพประกันภัย”

ชัย โสภณพนิช-ลสา โสภณพนิช
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ปี 2566 นี้ เป็นปีที่ “บมจ.กรุงเทพประกันภัย” หรือ “BKI” มีผลกำไรสูงที่สุดในรอบ 76 ปีของการดำเนินธุรกิจ โดย 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) มีกำไรสุทธิแล้ว 2,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 217.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีเบี้ยรับรวม 21,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.5% ซึ่งบริษัทคาดการณ์ว่าถึงสิ้นปีนี้ จะบรรลุเป้าหมายเบี้ยรับรวมที่ 30,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเกิน 3,000 ล้านบาท

โดยหน่วยธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญและสร้างเบี้ยรับรวมเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 23% ของเบี้ยรับรวม ก็คือ ช่องทางโบรกเกอร์ (Broker) ที่ปัจจุบันมี “ลสา โสภณพนิช” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทายาทคนสุดท้อง วัย 42 ปี ของ “เจ้าสัวชัย โสภณพนิช” ประธานกรรมการบริษัท เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสายงาน

เปิดตัว “ทายาท BKI”

โดย “ลสา” เปิดตัวให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ในการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 7-12 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ตนมีพี่น้องทั้งหมด 5 คน มีพี่สาว 3 คน และพี่ชาย 1 คน ชีวิตในวัยเด็กมักจะโดนพี่ ๆ แกล้งตลอด แต่ก็ถือว่าโชคดีเพราะรู้สึกอบอุ่นที่มีพี่น้องเยอะ เพราะเป็นคนชอบครอบครัวใหญ่

“ตอนเด็กอาจจะไม่สนิทกับพี่ ๆ เพราะตอนอายุ 7 ขวบ ตอนนั้นพี่สาวก็อายุ 17 ปี รวมถึงคนอื่น ๆ ก็บินไปเรียนเมืองนอกกันหมด ทำให้วัยเด็กไม่ได้สนิทกัน แต่พอพี่ทุกคนเรียนจบกลับมาอยู่ไทย ก็สนิทกันเหมือนเดิม”

โดย “ลสา” เข้าเรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงย้ายไปเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กระทั่งเรียนจบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ ที่ Wellesley College และปริญญาโทที่ Columbia University

“ลสา” บอกว่า ช่วงก่อนจะเรียนปริญญาโท ได้กลับมาเมืองไทยเพื่อฝึกงาน แต่ไม่ได้มาฝึกงานที่กรุงเทพประกันภัย เลือกไปฝึกงานที่บริษัทกฎหมาย (Law Firms) เพราะคิดว่าชอบ แต่พอเอาเข้าจริง ก็รู้ว่าไม่ใช่ทาง ซึ่งใจจริง ตอนนั้นก็ยังชอบรัฐศาสตร์อยู่ จึงตัดสินใจบินกลับไปเรียนปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ จนจบ โดยยอมรับว่าตอนนั้นเคยคิดจะไปทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศด้วย

ADVERTISMENT

“แต่คุณพ่ออยากจะให้ไปช่วยธุรกิจในเครือ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ตัดสินใจไปทำงานที่กรุงเทพประกันภัย แต่เลือกไปทำงานที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ก่อน โดยทำงานอยู่ที่นั่นนาน 3 ปี ในตำแหน่ง International Marketing ซึ่งตอนแรกที่เลือกทำงานที่นั่น เพราะรู้สึกว่ามีความอินเตอร์ ความคิดของตัวเองนะ และดูตำแหน่งงานที่รับผิดชอบแล้ว ต้องดีลธุรกิจกับต่างชาติ เป็นอะไรที่เราเข้าใจมากกว่า”

สั่งสมประสบการณ์สานต่อธุรกิจ

จนกระทั่งคุณพ่อบอกถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลับมาช่วยงานที่บริษัทกรุงเทพประกันภัย จึงย้ายมาทำงานที่บริษัทราวปี 2554 ตำแหน่งแรกที่รับผิดชอบ คือ Management Trainee ทำได้ประมาณ 1 ปี จึงเปลี่ยนไปดูส่วนงานรีอินชัวรันซ์อีก 2 ปี หลังจากนั้นได้ลาคลอดไปช่วงหนึ่ง

ADVERTISMENT

ต่อมากลับมาทำงานใหม่ เริ่มเรียนรู้งานในธุรกิจนายหน้าประกันภัย (โบรกเกอร์) ทั้งนี้ หากนับจากที่เริ่มเข้ามาทำงานที่บริษัทจวบจนปัจจุบัน ก็เป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว โดยดูแลในส่วนธุรกิจนายหน้ามา 7 ปี

สำหรับวิธีการทำงานนั้น ชอบการทำงานแบบทีมเวิร์ก เพราะอย่างในสายงานธุรกิจนายหน้า จะแบ่งเป็นหลายทีม และก็พยายามจะให้ทุกคนแชร์ข้อมูลหรือการทำงานซึ่งกันและกัน คือช่วยเหลือกันข้ามทีม เพื่อเป็น Lesson Learned (การถอดบทเรียน) ของแต่ละทีม โดยจะมีประชุมฝ่ายกันในทุก ๆ เดือน

“จริง ๆ คำสอนของคุณพ่อตั้งแต่เด็ก จะเหมือนสโลแกนของบริษัทเลย คือ ‘แคร์คุณทุกย่างก้าว’ คือคุณพ่ออยากให้เรียนรู้ถึงลักษณะมุมมอง ‘ใจเขาใจเรา’ คืออย่าไปทำอะไรที่ไม่อยากจะให้คนอื่นเขาทำกับเราแบบนั้น และคำสอนของคุณพ่อก็นำมาสอนลูกสาว 2 คนในวัย 9 ขวบ กับ 11 ขวบ อยู่ตลอดเช่นกัน”

ธุรกิจประกันมีความท้าทาย

“ลสา” กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าธุรกิจประกันภัยมีความท้าทายและกดดัน เพราะจริง ๆ ไม่ได้เรียนจบสายนี้โดยตรง แต่ก็มาเรียนรู้งานที่บริษัทเพิ่มเติม ซึ่งปีแรก เรียนรู้งานด้านเคลมและแทบทุก Business Unit ทำให้เห็นภาพรวมของบริษัท โดยปัจจุบันก็ได้ไปเรียนจบหลักสูตร Certificate in Insurance, The Chartered Insurance Institute (CII) จากประเทศอังกฤษเพิ่มเติมด้วย

“จริง ๆ แล้ว ธุรกิจประกันสามารถจะเติบโตขึ้นได้อีกในอนาคต เพราะแม้ปัจจุบันการตระหนักรู้ของคนจะมีมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรไทย เพราะดูจากอัตราการถือครองกรมธรรม์ที่ยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศรอบ ๆ บ้าน อาทิ สิงคโปร์, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, เกาหลี เป็นต้น”

เมื่อถูกถามถึงความพร้อมในการเตรียมตัวรับไม้ต่อบริหารธุรกิจประกันภัย “ลสา” หัวเราะ และ กล่าวว่า คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เพราะก็มีหลายอย่างที่จะต้องเรียนรู้ เช่น ด้านบัญชี

ขณะที่ปัจจุบัน บริษัทจะแบ่งเป็น 6 หน่วยธุรกิจ ประกอบด้วย 1.ช่องทางตัวแทน 2.ช่องทางโบรกเกอร์ 3.ช่องทางธุรกิจลูกค้ารายย่อย (Personal Line) 4.ช่องทางธุรกิจลูกค้าองค์กร (Commercial Line) 5.ช่องทางสาขา และ 6.ช่องทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) เช่น แบงก์ เป็นต้น

โดยโบรกเกอร์ เป็นช่องทางที่สร้างรายได้เบี้ยประกันสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 30% ของเบี้ยรวม มีพาร์ตเนอร์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโบรกเกอร์ต่างชาติดูแลลูกค้ารายใหญ่ อาทิ AON, MARSH, LOCKTON เป็นต้น ถ้าเป็นงานลูกค้ารายย่อย เช่น ประกันรถยนต์ จะมี “ฮอนด้าอินชัวรันส์โบรกเกอร์” เป็นลูกค้ารายใหญ่

สำหรับงานที่รับผิดชอบ อย่างประกันทรัพย์สิน แม้ว่าอาจจะมีบางเจ้าที่บริษัทได้งานรับประกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ยากในแง่ที่ว่างานก่อสร้างของภาครัฐใหญ่ ๆ มีบริษัทที่ครองส่วนแบ่งอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี หลัง ๆ บริษัทก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมรับประกัน (Coinsurance) ได้มากขึ้น

“ประกันทรัพย์สินชิงเค้กได้ยาก เพราะทุกคนก็พยายามจะยึดเค้กก้อนนั้นไว้ จึงเป็นงานที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะเป็นภาวะตลาดแข็งตัว (Hard Market) ทุกคนอยากได้งานตรงนี้หมด แล้วยิ่งถ้าโปรเจ็กต์ไหนมีอัตราส่วนความเสียหาย (Loss Ratio) ดี ๆ เจ้าเดิมก็จะไม่มีใครปล่อย และถ้าให้กดเรตเบี้ยลงมาก ๆ เราก็ไม่ทำ แต่งานที่เราคิดว่าจะโตได้อีก เช่น การประกันภัยก่อสร้าง เพราะมีงานใหม่เรื่อย ๆ ถึงไม่ใช่งานรัฐ เช่น โครงการคอนโดมิเนียม, ตึก แม้เป็นตลาดที่ค่อนข้าง Hard แต่ตัวผู้เล่นน้อยลง เพราะหลาย ๆ บริษัทก็ล้มหายไปในช่วงโควิด หรือบางบริษัทที่ยังอยู่ก็อาจจะมี Capacity น้อยลง” ทายาทประกันหมื่นล้านกล่าว