รู้จัก “ประกันภัยอิสรภาพ” คุ้มครองผู้เอาประกันถูกดำเนินคดี-ควบคุมตัว

รู้จัก “ประกันภัยอิสรภาพ” ให้ความคุ้มครองผู้เอาประกัน “ถูกดำเนินคดี-ถูกควบคุมตัว”

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 รู้หรือไม่ว่า ในประเทศไทยมีแบบประกันภัยที่หลายคนยังไม่รู้จัก นั่นก็คือ “ประกันภัยอิสรภาพ” หลังการกระทำผิด ซึ่งเป็นแบบประกันภัย ที่จะให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยถูกดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวในคดีอาญา ในทุกลักษณะฐานความผิด

โดยบริษัทประกันภัยจะออกหนังสือรับรองตามจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เพื่อนำไปใช้เป็นหลักประกันในการขอประกันตัวชั่วคราวต่อเจ้าพนักงาน และผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ต้องไปรายงานตัวตามกำหนดนัดของหน่วยงานทุกครั้ง

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประกันภัยประเภทนี้มาให้ได้อ่านกัน โดยอ้างอิงข้อมูลจากสถาบันประกันภัยไทย และบริษัท วิริยะประกันภัย ไปดูกันเลย

การประกันภัยอิสรภาพคือ ?

เป็นการประกันภัยที่จัดขึ้นโดยมีแนวความคิดมาจากการที่ศาลยุติธรรมจะจัดระบบการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถใช้หนังสือรับรองความรับผิดของบริษัทประกันภัยเป็นหลักประกันมาวางศาลได้

ศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) (หรือกรมการประกันภัยในอดีต) และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกันจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพขึ้น เมื่อประชาชนได้ซื้อประกันภัยอิสรภาพแล้ว บริษัทประกันภัยจะออกหนังสือรับรองให้ผู้เอาประกันภัยถือไว้

ADVERTISMENT

หากผู้เอาประกันภัยได้ทำความผิดและตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างระยะเวลาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความสะดวกอย่างยิ่งจากการที่สามารถใช้หนังสือรับรองนี้ ยื่นแก่เจ้าพนักงานเพื่อใช้ในการประกันตัว โดยไม่ต้องหาหลักทรัพย์อื่นใดมาวางเป็นหลักประกัน

รูปแบบการทำประกันภัยอิสรภาพมี 2 รูปแบบ คือ

ADVERTISMENT

แบบที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด (ใช้กับบุคคลทั่วไป) ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยถูกดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวในคดีอาญาในฐานความผิดอันเนื่องมาจากการกระทำโดยประมาท

บริษัทประกันภัยจะออกหนังสือรับรองตามจำนวนเงินเอาประกันภัยพร้อมกับกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยนำไปใช้เป็นหลักประกันในการขอประกันตัวต่อเจ้าพนักงาน และหากผู้เอาประกันภัยได้ใช้หนังสือรับรองเพื่อประกันตัวไปแล้ว แต่ยังไม่เต็มวงเงินที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยสามารถขอหนังสือรับรองฉบับใหม่ ซึ่งมีวงเงินประกันตัวเท่ากับจำนวนเงินเอาประกันภัยที่คงเหลืออยู่จากบริษัทประกันภัยได้

แบบที่ 2 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด (ใช้กับผู้ตกเป็นผู้ต้องหา หรือ จำเลย) ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยถูกดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวในคดีอาญาในทุกลักษณะฐานความผิด บริษัทประกันภัยจะออกหนังสือรับรองตามจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เพื่อนำไปใช้เป็นหลักประกันในการขอประกันตัวต่อเจ้าพนักงานตามคดีที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

ผู้สามารถซื้อประกันภัย

  1. กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด ผู้สามารถซื้อประกันภัย คือ บุคคลทั่วไป เช่น ครู, ทนายความ, นักบัญชี, พยาบาล, แม่บ้าน, พนักงานขับรถ เป็นต้น
  2. กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด ผู้สามารถซื้อประกันภัย คือ ผู้ตกเป็นผู้ต้องหา
    หรือจำเลย

ระยะเวลาความคุ้มครอง

แบบที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด

  • ตามที่ระบุในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย หรือ
  • จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

แบบที่ 2 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด

  • นับแต่เวลาที่ได้เริ่มประกันตัวจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา หรือ
  • นับแต่เวลาที่ได้เริ่มประกันตัวจนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา หรือ
  • นับแต่เวลาที่ได้เริ่มประกันตัวจนศาลฎีกามีคำพิพากษา หรือ
  • นับแต่เวลาที่ได้เริ่มประกันตัวจนคดีถึงที่สุด

เบี้ยประกันภัย

แบบที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด

อัตราเบี้ยประกันภัย ขั้นต่ำ 0.5% ขั้นสูง 1% ตัวอย่าง เช่น จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะจ่ายเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่าง 500-1,000 บาท

แบบที่ 2 กรมธรรมประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด

เบี้ยประกันภัยแบ่งตามชั้นศาลที่มีคำพิพากษาและฐานความผิด อัตราเบี้ยประกันภัยขั้นต่ำ 5% ขั้นสูง 20% ตัวอย่าง เช่น จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะจ่ายเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่าง 5,000-20,000 บาท

ส่วนลดเบี้ยประกันภัย

  • หากผู้เอาประกันภัยมีบุคคลค้ำประกันต่อบริษัท จะได้รับส่วนลด 10% ของเบี้ยประกันภัย
  • หากผู้เอาประกันภัยมีหลักทรัพย์มาวางประกันร่วม จะได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยลดลงตามสัด
    ส่วนราคาหลักประกัน

การบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย

ทั้งฝ่ายผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยไม่สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างระยะ
เวลาประกันภัย

การคืนเบี้ยประกันภัย

บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย ในกรณีดังนี้

แบบที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด

  • เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระหว่างระยะเวลาประกันภัยไม่มีการเรียกร้องให้ประกันตัว บริษัท
    ประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ตามอัตราเบี้ยประกันภัยระยะสั้นที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย

แบบที่ 2 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด

  • เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระหว่างระยะเวลาประกันภัย โดยไม่ผิดสัญญาประกันตัว บริษัท
    ประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยครึ่งหนึ่งให้แก่ทายาทของผู้เอาประกันภัย หรือ
  • เมื่อเจ้าพนักงานไม่อนุญาตให้ประกันตัว บริษัทประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้เต็มจำนวนโดย
    หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 500 บาท หรือ
  • เมื่อเจ้าพนักงานอนุญาตให้ประกันตัว แต่ภายหลังมีคำสั่งถอนหรือยกเลิกการให้ประกันตัว หรือ
    ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องการที่จะประกันตัวอีกต่อไป บริษัทประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ร้อยละ
    20
  • ผู้เอาประกันภัยไม่ผิดสัญญาประกันตัวจนสิ้นสุดระยะเวลาประกันภัย บริษัทประกันภัยจะคืนเบี้ย
    ประกันภัยให้ร้อยละ 20

ความคุ้มครอง

ประเภทคดีที่บริษัทไม่พิจารณาและไม่รับประกัน (ยกเว้นการจำหน่าย)

  • ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
  • ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
  • คดีอื่นที่บริษัทอาจพิจารณารับประกันได้ขึ้นอยู่กับข้อมูล สถานภาพของจำเลย และเป็นไปตามหลักเกณฑ์พิจารณารับประกันของบริษัท

ประเภทคดีที่บริษัทพิจารณาและรับประกัน

  • ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง
  • ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม
  • ความผิดเกี่ยวกับศาสนา
  • ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน
  • ความผิดเกี่ยวกับการค้า
  • ความผิดเกี่ยวกับเพศ
  • ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย
  • ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง
  • ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
  • ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ต่าง ๆ

ระยะเวลาความคุ้มครอง

จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา (ระบุเป็นชั้นศาล เช่น ศาลชั้นต้น, ศาลอุทธรณ์, ศาลฎีกา)

เอกสารประกอบการใช้ประกันตัว หรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. บันทึกจับกุม, คำร้องฝากขัง (ถ้ามี)

หมายเหตุ 1.อัตราเบี้ยประกันภัยอาจแตกต่างกันไปในแต่ละศาลขึ้นอยู่กับระเบียบของศาล 2.การจำหน่ายเป็นไปตามระเบียบและคำสั่งของบริษัท บางข้อหาอาจไม่สามารถจำหน่าย เช่น ยาเสพติด 3.การซื้อประกันภัยอิสรภาพต้องแสดงเอกสารและจัดหาผู้ค้ำประกันตามเงื่อนไขของบริษัทด้วย