
เงินบาทปรับตัวในกรอบ จับตาผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 7 ก.พ.นี้ หลังนายกฯเศรษฐาส่งสัญญาณถึงแบงก์ชาติให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายการคลัง หลังเงินเฟ้อเดือนม.ค.ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/2) ที่ระดับ 35.76/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/2) ที่ระดับ 35.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.5 ในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566 จากระดับ 51.4 ในเดือน ธ.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 52.9 โดยดัชนี PMI ยังคงสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวในภาคบริการของสหรัฐ โดยเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน
นอกจากนี้สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.4 ในเดือน ม.ค. จากระดับ 50.5 ในเดือน ธ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.0 โดยดัชนีสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ภาคธุรกิจมีความเชื่อมมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้น
สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนยังจับตาดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันพุธที่ 7 ก.พ.นี้ ส่วนหนึ่งคาดหวังว่า กนง.อาจส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ม.ค.ชะลอตัวลงมากกว่าคาด ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4
ขณะที่นายกรัฐมนตรีออกมาส่งสัญญาณถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้กำหนดนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับนโยบายการคลังของรัฐบาล ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.61-35.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/2) ที่ระดับ 1.0744/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/2) ที่ระดับ 1.0750/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคบริการและการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.9 ในเดือน ม.ค. 2567 จากระดับ 47.6 ในเดือน ธ.ค. 2566 สอดคล้องกับตัวเลขประมาณการเบื้องต้น และถือเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค.ปีที่แล้ว
ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 48.4 ในเดือน ม.ค. จากระดับ 48.8 เมื่อเดือน ธ.ค. สอดคล้องกับตัวเลขประมาณการเบื้องต้น แต่ด้วยตัวเลขดัชนีทั้งสองดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0739-1.0762 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0744/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/2) ที่ระดับ 148.52/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/2) ที่ระดับ 148.45/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น (MIC) เปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นปรับลดลงสู่ระดับ -2.5% ในเดือน ธ.ค. 2566 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยลดลงเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน
ข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ค่าแรงที่แท้จริงของญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค. 2566 ลดลงที่ระดับ 1.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 21 เนื่องจากการขึ้นค่าแรงกับการขึ้นราคาไม่สอดคล้องกัน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.37-148.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.59/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดนำเข้า และดุลการค้าของสหรัฐเดือน ธ.ค. (7/2), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (7/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (8/2), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนเดือน ม.ค. (8/2), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนเดือน ม.ค. (8/2), ดัชนีผู้ผลิต (PPI) ของจีนเดือน ม.ค. (8/2) และตัวเลขดุลบัญชีเดือนสะพัดของญี่ปุ่นเดือน ธ.ค. (8/2)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.2/-7.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.1/-2.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ