ตลาดหลักทรัพย์ รับลูกนายกฯ ดัน SET สู่ “Wall Street อาเซียน”

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย-เศรษฐา ฟทวีสิน-พิชัย ชุณหวชิร

รัฐบาลพยายามปลุกความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยอย่างเต็มที่ หลังจากปีที่ผ่านมา ทำผลงานไม่ดีเอาเสียเลย แม้ว่าจะมีการประกาศความชัดเจนของการไม่จัดเก็บภาษีหุ้นก็ตาม และมาจนถึงต้นปี 2567 ในเดือนมกราคม ตลาดหุ้นไทยก็ยังอาการไม่ดีขึ้น จากการเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี ในเดือนกุมภาพันธ์บรรยากาศเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง เริ่มเห็นเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) กลับเข้ามาลงทุน

ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ประกาศผลักดันตลาดหุ้นไทย ให้ก้าวไปเป็น “Wall Street” ของอาเซียน

โดยนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ระบุว่า ได้หารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนายคมกฤช เกียรติดุริยกุล กรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อ 1.ติดตามความคืบหน้าของมาตรการกำกับดูแลเรื่อง Short Sale และ Program Trading ให้โปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 2.เร่งรัดประเด็น Financial และ Digital Asset Hub และการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้เกิดโดยเร็ว

และ 3.มอบนโยบายให้ตลาดหลักทรัพย์ฯทำงานหนัก (Hard Working) และมีความมุ่งมั่น ปรารถนา (Ambition) ให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็น Regional Hub ของตลาดทุนในภูมิภาคนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด

“ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อม และศักยภาพไปสู่จุดมุ่งหมาย เพียงแต่เราต้องพัฒนาให้ประเทศหลุดจากข้อจำกัด เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็น ‘ตัวเลือกที่ดีที่สุด’ และเป็น Wall Street ของอาเซียน” นายกรัฐมนตรีระบุ

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรี พูดถึงมีอยู่ด้วยกัน 4 ส่วน คือ 1.จะทำอย่างไรให้ตลาดหุ้นไทยมีผลิตภัณฑ์ต่างประเทศมากขึ้น 2.จะทำอย่างไรให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยเจริญเติบโต 3.เป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยเร็ว และ 4.ผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยเป็น Regional Financial Center ซึ่งทั้งหมดนี้ อยู่ในแผนงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯตั้งใจจะทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว

ADVERTISMENT

โดยสิ่งที่อาจจะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ มากขึ้น มีอยู่ 2-3 เรื่อง คือ 1.ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯทำงานร่วมกับ เบเคอร์ แมคเคนซี (Baker McKenzie) ในการออก Carbon Credit Contract ที่สามารถใช้ได้ทั้งโลก และในขั้นต่อไป จะพิจารณาเกี่ยวกับการเซตอัพ Ecosystem ซึ่งน่าสนใจ เพราะการมี Digital Asset และโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง จะทำให้ตรงนี้เกิดขึ้นได้รวดเร็ว

2.ผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯพยายามหาบริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทยมากขึ้น และมีผลิตภัณฑ์ต่างประเทศที่ให้นักลงทุนไทยสามารถได้ลงทุนเป็นเงินบาทได้ และ 3.Regional Financial Center ส่วนนี้จะมีหลายหน่วยงานที่จะต้องร่วมกันทำงาน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ADVERTISMENT

“เราต้องช่วยกันทำให้เร็วที่สุดและดีที่สุด เพื่อจะได้แข่งกับประเทศอื่นที่เป็น Regional Financial Center อยู่ในปัจจุบันได้ ดังนั้น กฎระเบียบต่าง ๆ ต้องใช้งานได้ง่าย และต้องเป็น Paperless ซึ่งตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นองค์ประกอบองค์หนึ่งที่สำคัญ แต่มีองค์ประกอบอีกหลายส่วนที่จะต้องมาช่วยกันตัดสินใจ เพื่อให้เป้าหมายที่รัฐบาลต้องการไปสู่ผลสำเร็จ”

ด้านนายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด ให้มุมมองว่า คำว่า Wall Street อาเซียน ก็เป็นเหมือน Hub ที่นักลงทุนอยากเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้โดยผ่านเมืองไทย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะตลาดหุ้นไทยก็มีศักยภาพสูงหลายอย่าง มีความก้าวหน้า ทั้งกระบวนการกำกับดูแล กฎหมาย สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่จะรองรับ

“เชื่อว่า ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่น่าจะมีศักยภาพที่พร้อมที่สุดในอาเซียนแล้ว ซึ่งก็เห็นด้วยกับที่นายกฯกล่าว เป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น สิ่งที่เป็นการกำกับ หรือมาตรฐานต่าง ๆ ที่ยังดูไม่ค่อยดีนัก ก็น่าจะได้เห็นการแก้ไขอย่างรวดเร็วนับจากนี้ และหลังจากนี้น่าจะมีแผนยุทธศาสตร์ออกมา โดยบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯใหม่ คงจะเดินหน้าเต็มที่ ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากนี้และในปีนี้ตลาดหุ้นไทยจะดีกว่าที่ผ่านมา”

สุดท้ายแล้ว แผนขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยสู่การเป็น “Wall Street อาเซียน” จะออกมาเป็นรูปธรรมอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป