
ธปท.ปรับปรุงเกณฑ์ “ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ” หรือ D-SIBs ระบุเพิ่ม 2 ปัจจัยในการชี้วัดเดิม “ความเชื่อมโยงธุรกิจขนาดใหญ่-SMEs-Mobile banking” หวังสะท้อนถึงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มใช้ประเมินประจำปี 2567
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงแนวทางการระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ โดยเพิ่มปัจจัยพิจารณาภายใต้กรอบการชี้วัดเดิม เช่น
1.ด้านความเชื่อมโยงทางอ้อมระหว่างธนาคารพาณิชย์ผ่านการให้สินเชื่อ หรือลงทุนกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบการเงิน (Systemically Important Corporation) รายเดียวกัน
2.ด้านการทดแทนกันได้ โดยพิจารณาถึงการเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญให้กับธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย และระดับความสำคัญในการให้บริการทางการเงินพื้นฐานผ่าน Mobile Banking ซึ่งหากบริการดังกล่าวหยุดชะงักจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในวงกว้าง
แนวทางการประเมินใหม่จะเริ่มใช้สำหรับการประเมิน D-SIBs ประจำปี 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกระดับการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (Domestic Systemically Important Banks : D-SIBs) ให้มีความมั่นคงและมีความสามารถในการรองรับความเสียหายจากการดำเนินการได้มากขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560 โดยได้กำหนดแนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ
โดยมีกรอบการชี้วัด 4 ด้านคือ ขนาด ความเชื่อมโยง การทดแทนกันได้ และโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงิน และความซับซ้อน และกำหนดให้มีการทบทวนแนวทางดังกล่าวเป็นประจำทุก 3 ปี นั้น
ธปท.ได้ปรับปรุงแนวทางการระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ โดยเพิ่มปัจจัยพิจารณาภายใต้กรอบการชี้วัดเดิม เช่น 1.ด้านความเชื่อมโยงทางอ้อมระหว่างธนาคารพาณิชย์ ผ่านการให้สินเชื่อหรือลงทุนกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบการเงิน (Systemically Important Corporation) รายเดียวกัน
และ 2.ด้านการทดแทนกันได้ โดยพิจารณาถึงการเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญให้กับธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย และระดับความสำคัญในการให้บริการทางการเงินพื้นฐานผ่าน Mobile Banking ซึ่งหากบริการดังกล่าวหยุดชะงักจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในวงกว้างด้วย
ทั้งนี้ การปรับแนวทางการประเมินครั้งนี้ เพื่อให้สามารถสะท้อนถึงความสำคัญต่อระบบได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเงิน (Financial Landscape) ในระยะข้างหน้า และความสำคัญของการทำธุรกรรมดิจิทัลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งความสำคัญเชิงระบบในมิติอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยแนวทางการประเมินใหม่จะเริ่มใช้สำหรับการประเมิน D-SIBs ประจำปี 2567 เป็นต้นไป