
TDRI ชงแนวทางรื้อกฎระเบียบตลาดทุน ดันออก พ.ร.บ.การออมและการลงทุนสำหรับผู้เยาว์ ปลดล็อกเด็กต่ำกว่า 20 ปีลงทุนหุ้นได้ ไม่ต้องขอความยินยอมผู้ปกครอง หวังขยายฐานนักลงทุน คาดใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี พร้อมเสนอ “ก.ล.ต.-กระทรวงพาณิชย์” ออกเกณฑ์บริหารจัดการเงินปันผลคงค้างกว่า 700 ล้าน ไม่มีผู้ถือหุ้นมารับคืนจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ วางแนวทางเกิน 5 ปี ไม่มาขอคืน โยกเงินให้กองทุน CMDF ดูแล
ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี หัวหน้าโครงการกิโยตินกฎระเบียบตลาดทุน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า โครงการปรับปรุงกฎระเบียบตลาดทุน (กิโยติน) ได้มีการศึกษามาแล้วเป็นเวลา 1 ปี เป็นการทบทวนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนทั้งระบบแบบครั้งใหญ่ โดยจะไม่ใช่แค่ศึกษาเพื่อต้นทุนที่ประหยัดได้เท่านั้น แต่จะเพิ่มเติมกฎหมายใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยมีมาก่อน แต่มีความจำเป็น ยกตัวอย่างเรื่องการจำกัดสิทธิของนักลงทุนหน้าใหม่ ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกฎหมายไทยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังไม่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถลงทุนในตลาดหุ้นได้เอง แต่จะต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครอง หรือตัวแทนโดยชอบธรรม มิเช่นนั้นจะกลายเป็นโมฆียะ ต่างจากในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีช่องทางที่สามารถเอื้ออำนวยให้เด็กและเยาวชนสามารถเริ่มเรียนรู้ที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสมได้
“มาตรการระยะสั้น คือ ต้องมีเครือข่ายเยาวชน เสริมสร้างเรื่องทักษะความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้กับเด็กและเยาวชน ให้ตระหนักรู้เรื่องการลงทุนที่ถูกต้อง ไม่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยไม่มีเหตุผลหรือไม่มีความรู้ และหลังจากนั้นก็มีมาตรการระยะยาว ก็คือ ออกเป็น พ.ร.บ.การออมและการลงทุนสำหรับผู้เยาว์ เพื่อเปิดช่องการลงทุนให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ในการดำเนินการ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วย”
ดร.กิรติพงศ์กล่าวว่า จากการประเมินผลประโยชน์จากการปลดล็อก คาดว่าจะมีการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น 23 ล้านบาทต่อปี และลงทุนกองทุนรวมเพิ่มขึ้น 173 ล้านบาทต่อปี (บนสมมุติฐานจำนวนประชากรเด็กไทยอายุ 15-18 ปีคูณกับเงินในบัญชีธนาคารของเด็กในสัดส่วน 10%)
“ประเด็นนี้ยังมีความท้าทายอยู่มาก ถ้าเกิดจะปลดล็อกถาวร ต้องออกกฎหมายพิเศษเพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถลงทุนตลาดหุ้นได้เอง แต่การลงทุนอื่นต้องทำตามกฎหมายแพ่งฯปกติ ซึ่งเป็นปลายทางที่เราอยากจะเห็น แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นก็จะมีการเรียนรู้ว่า เด็กเราดีพอ หรือมีคุณภาพพอหรือไม่ก่อน”
ขณะที่กรณีศึกษาปัญหาเรื่องการขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเรื่องการบริหารจัดการเงินปันผลคงค้างของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) พบว่าในปัจจุบัน TSD และบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะมีภาระในการดูแลเงินปันผลที่ไม่มีผู้ถือหุ้นมารับคืน สะสมนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท ซึ่งเงินปันผลคงค้างเหล่านี้นอกจากกลายเป็นภาระแล้ว ยังก่อให้เกิดต้นทุนเสียโอกาสในระบบเศรษฐกิจ เพราะเงินเหล่านี้ไม่สามารถนำไปใช้ได้
ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบที่ชัดเจนว่าจะบริหารเงินปันผลเหล่านี้อย่างไร เพราะฉะนั้นได้เสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ ออกกฎเกณฑ์เรื่องการบริหารจัดการเงินปันผลคงค้าง
โดยอาจมีการกำหนดนิยามเงินปันผลและขอบเขต เบื้องต้นกำหนดว่า หากไม่มีการมาขอเงินคืนภายใน 5 ปี เงินปันผลคงค้างเหล่านี้จะโอนไปอยู่ในการดูแลของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เพื่อบริหารและนำกลับมาพัฒนาตลาดทุนไทย อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นเจ้าของเงินยังมีสิทธิที่จะขอเรียกร้องเงินคืนได้ เพราะถือเป็นกรรมสิทธิ์ แต่อาจจะต้องมีการหักค่าธรรมเนียมในการดูแล
นอกจากนี้ เสนอให้ ก.ล.ต. ยกเลิกการจ่ายเงินปันผลในรูปของเช็คกระดาษ โดยหันมาใช้เป็นบริการโอนเงินปันผลเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร (e-Dividend) ทั้งหมด เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น บางคนเปลี่ยนที่อยู่ แล้วไม่ได้แจ้ง หรือเจ้าของเงินเสียชีวิตไปแล้ว ลูกหลานไม่รู้ว่ามีเงินปันผลค้างอยู่ เป็นต้น
อีกประเด็นสำคัญคือ การเชื่อมโยงข้อมูลยืนยันตัวตนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง โดยปัจจุบันนักลงทุนหากจะเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
ในกรณีเปิดบัญชีหลายบริษัท จะต้องยืนยันตัวตนหลายครั้ง ซึ่งก่อให้เกิดภาระและกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน และก่อให้เกิดภาระต้นทุนแก่นักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยสิ่งที่เสนอคือ ปรับให้กรอกข้อมูลเพียงครั้งเดียวแล้วสามารถยืนยันตัวตนสำหรับการเปิดบัญชีที่อื่น ๆ ได้ด้วย
“ที่ผ่านมากระบวนการยืนยันตัวตนที่ต้องทำแต่ละแห่ง ประกอบกับมาตรฐานในการตรวจสอบการยืนยันตัวบุคคลตามมาตรฐานของ ก.ล.ต. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีความเคร่งครัดมากขึ้น กระบวนการเหล่านี้ก่อให้เกิดต้นทุนประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี หากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ จะลดจำนวนครั้งในการยืนยันตัวตนบุคคล และลดต้นทุนได้เกือบ 50% เลยทีเดียว”