ความเสี่ยง…เศรษฐกิจถดถอย ยังมีจำกัด

Risk
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : คมศร ประกอบผล ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานแรงในเดือนสิงหาคม หลังตัวเลขอัตราการว่างงานสหรัฐออกมาสูงกว่าคาด และจุดชนวนความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยยังจำกัดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

1.อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น เกิดจากการเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงาน ทั้งจากผู้ว่างงานที่กลับเข้ามาหางาน และแรงงานอพยพจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น และดันอัตราการว่างงานให้เพิ่มขึ้นในระยะสั้น ในขณะที่อัตราการเลิกจ้างและการปลดคนงานยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงตำแหน่งงานว่างเปิดรับสมัครก็ยังยืนได้ในระดับที่ค่อนข้างสูง สะท้อนว่าอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นไม่ได้สะท้อนภาพการจ้างงานที่อ่อนแอลง

2.ดัชนีเศรษฐกิจอื่น ๆ ยังคงแข็งแกร่ง เช่น ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ซึ่งยังยืนเหนือระดับหนึ่งแสนตำแหน่งต่อเดือน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ซึ่งยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังอยู่ในภาวะขยายตัว

3.ธนาคารกลางสหรัฐมีเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงพอ โดยคณะกรรมการเฟดหลายท่านได้ออกมากล่าวถึงความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และ TISCO ESU ประเมินว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายน และลดดอกเบี้ยรวมสามครั้งในปีนี้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ยืนอยู่ในระดับสูงถึง 5.5% ในปัจจุบัน ทำให้เฟดมีช่องว่างทางนโยบายที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น เราจึงสรุปว่า การที่ตลาดปรับฐานตามตัวเลขอัตราการว่างงานที่ออกมาอ่อนแอเพียงตัวเดียวนั้น นับเป็นการตื่นตระหนกมากจนเกินไป นอกจากนั้น อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดผันผวนมากในช่วงที่ผ่านมานั้น เกิดจากเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นที่ไหลกลับประเทศจากการปิดสถานะ Yen Carry Trade (การกู้เงินเยนซึ่งดอกเบี้ยต่ำแล้วแลกเงินไปลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า) หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศขึ้นดอกเบี้ยซึ่งทำให้ต้นทุนการทำ Yen Carry Trade นั้นปรับสูงขึ้น และส่งผลให้เกิดการเทขายสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อนำเงินมาใช้คืนเงินกู้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าปริมาณการทำ Yen Carry Trade นั้นมีการปิดสถานะไปมากแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเทียบเคียงจากสถานะการเก็งกำไรในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าค่าเงินเยน (Yen Net Speculative Short Positions) ซึ่งลดลงอย่างรวดเร็วจากที่เคยมีสถานะ Short สุทธิมากถึงเกือบสองแสนสัญญา มากที่สุดในรอบ 8 ปี ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ลงมาเหลือราวหนึ่งหมื่นสัญญาในปัจจุบัน ปริมาณการทำ Yen Carry Trade ที่ลดลงทำให้เราประเมินว่าแรงเทขายและความผันผวนในตลาดการเงินโลกจะลดลงเช่นเดียวกัน

ADVERTISMENT

สำหรับนัยต่อการลงทุน เรามองว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาต่อจากนี้จะช่วยลดความกังวลของตลาด และทำให้ตลาดหุ้นทยอยฟื้นตัวขึ้น ส่วนในตลาดบอนด์ เรามองว่าบอนด์ยี ลด์สหรัฐที่ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 4% สะท้อนความกังวลของตลาดต่อเศรษฐกิจถดถอยไปพอสมควรแล้ว และหากความกังวลดังกล่าวบรรเทาลง บอนด์ยีลด์ก็น่าจะปรับขึ้นมายืนเหนือ 4% ได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้