บาท Sideways ตามทิศทางตลาดโลก จับตาผลประชุมเฟดคืนนี้

ค่าเงินบาท

บาท Sideways ตามทิศทางตลาดโลก จับตาผลระชุมเฟดคืนนี้

วันที่ 18 กันยายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 18 กันยายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/9) ที่ระดับ 33.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (17/9) ที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นไปตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามบอนด์ยีลต์ที่ปรับตัวสูงขึ้นภายหลังจากตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐออกมาแข็งแกร่งเกินคาด

โดยเมื่อวานนี้ (17/9) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าเมื่อเทียบรายเดือน ยอดค้าปลีกเดือน ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะลดลง 0.2% หลังจากที่พุ่งขึ้น 1.1% ในเดือน ก.ค. บ่งชี้ถึงทิศทางที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงไตรมาส 3/2567 ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินเดือน ก.ย. ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ โดยตลาดคาดการ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่ง

ทั้งนี้นายโรเบิร์ต แคปแลน รองประธานธนาคารโกลด์แมน แซคส์ และอดีตประธานเฟดสาขาดัลลัส กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับรายการ Squawk Box ของสถานีข่าว CNBC สนับสนุนให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงมากถึง 0.50% ในการประชุมเดือน ก.ย. เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จะทำให้เฟดสามารถรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตได้ดีขึ้น

นอกจากนี้นายแคปแลน ยังแสดงความคิดเห็นว่าเฟดได้ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยล่าช้าไปในการประชุม 1 ครั้ง โดยเฟดควรจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุมนโยบายการเงินเดือน ก.ค. ทั้งนี้เครื่องมือ FewWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่าขณะนี้บรรดานักลงทุนให้น้ำหนักราว 65% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% สู่ระดับ 4.75% -5.0% จากระดับ 5.25%-5.50% ในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ก.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่ให้น้ำหนักเพียง 34%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศสัปดาห์นี้ยังคงต้องติดตามความต่อเนื่องของกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย โดยเฉพาะกองทุนวายุภักษ์ และการปรับตัวของราคาทองคำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทในช่วงนี้ รวมทั้งนักลงทุนยังคงจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด และรายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงการเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐ ของคณะกรรมการเฟดในวันนี้

ADVERTISMENT

ทั้งนี้เมื่อวาน (17/9) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนัดแรกของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีมติอนุมัติโครงการดิจิทัลวอลเลตในเฟสแรก แจกเงินเข้าบัญชีกลุ่มเปราะบางตั้งแต่วันที่ 25-27 และ 30 ก.ย. 2567 โดยคาดว่าจะมีผลกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปีนี้ให้เพิ่มขึ้นอีกราว 0.35% เมื่อเทียบกับไม่มีโครงการ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.27-33.42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/9) ที่ระดับ 1.1122/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (17/9) ที่ระดับ 1.1144/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เมื่อวานนี้ (17/9) ธนาคารกลางฝรั่งเศส (BdF) คาดว่า GDP ของฝรั่งเศสจะขยายตัว 1.1% ในปี 2567 โดยได้รับแรงหนุนจากการค้าต่างประเทศที่แข็งแกร่ง

ADVERTISMENT

อีกทั้งยังคาดว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จัด ณ กรุงปารีส ในช่วงฤดูร้อนจะส่งผลกระตุ้น GDP เพิ่มเติม โดย BdF คาดการณ์ว่าปี 2568 GDP ของฝรั่งเศสจะเติบโต 12% และลดคาดการณ์สำหรับปี 2569 ลงเหลือ 1.5% ทั้งนี้ BdF ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2567 อยู่ที่ระดับเดิมที่ 2.5% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง .114-1.1133 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1127/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/9) ที่ระดับ 142.00/01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (17/9) ที่ระดับ 140.52/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (18/9) สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นลดลง 0.1% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางกับนักวิเคราะห์ของโพลสำรวจจากสำนักข่าวรอยเตอร์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5%

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบรายปีในเดือน ก.ค. ยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 8.7% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 4.2% โดยยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานถือเป็นตัวบ่งชี้การใช้จ่ายด้านการลงทุนในอีก 6-9 เดือนข้างหน้า ซึ่งไม่นับรวมยอดสั่งซื้อสำหรับการต่อเรือและซ่อมแซม และการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มผันผวนสูง

อีกทั้งวันนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยยอดส่งออกเดือน ส.ค. ปรับตัวขึ้น 5.6% เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากเดือน ก.ค. ที่ปรับตัวขึ้น 10.3% ซึ่งแม้จะเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ว่าจะปรับขึ้นถึง 10.0%

โดยยอดส่งออกไปสหรัฐปรับตัวลดลง 0.7% ในเดือน ส.ค. ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี ตอกย้ำการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ยังคงไร้ทิศทาง อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุน (BOJ) ในวันที่ 20 ก.ย. 2567 โดยนักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 141.21-141.99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 141.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่คัญ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน ส.ค. จากสหรัฐ (18/9), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA), ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยจากเฟด (18/9), ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (19/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์จากสหรัฐ (19/9), ดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 2/2567 ของสหรัฐ (19/9),

ดัชนีการผลิตเดือน ก.ย. จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (19/9), ยอดขายบ้านมือสองเดือน ส.ค. จากสหรัฐ (19/9), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ส.ค. จาก Conference Board ของสหรัฐ (19/9), อัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค. จากญี่ปุ่น (20/9), ธนาคารกลางญี่ปุ่นประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (20/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.7/-7.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.8/-7.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ