ผลสำรวจเผย 71% คลิปวิดีโอให้คำแนะนำด้านการลงทุนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันขาดความน่าเชื่อถือ พร้อมสร้างความเข้าใจผิด ๆ ต่อกลุ่มคนที่หมกมุ่นกับเรื่องการเงินเป็นพิเศษอย่าง Gen Z และชาว Millennial
แม้ว่าแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง TikTok, Youtube และ Instagram จะได้รับความนิยมจากคอนเทนต์เต้นเพลงสุดไวรัล และเรื่องราวอัพเดทจากอินฟลูเอนเซอร์ แต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงานโดยเฉพาะช่วงอายุ 18-41 ปี มักหมกมุ่นอยู่กับการดูวิดีโอให้คำแนะนำด้านการลงทุนมากกว่าคอนเทนต์รูปแบบอื่น
รายงานล่าสุดจาก Social Capital Markets ระบุว่า คลิปวิดีโอให้คำแนะนำด้านการเงินกว่า 71% ที่กลุ่มคน Gen Z และชาว Millennial เลือกเสพนั้นขาดความน่าเชื่อถือ พร้อมสร้างความเข้าใจผิด ๆ โดยเฉพาะวิดีโอสั้นในแพลตฟอร์ม TikTok ที่พบปัญหามากที่สุดกว่า 91% ด้วยลักษณะคลิปที่สั้นทำให้เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง
จากการวิเคราะห์วิดีโอ 2,470 คลิป จากแพลตฟอร์ม TikTok, YouTube และ Instagram รวมถึงแฮชแท็กที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ #StockTok, #Investing และ #Stocktips พบว่า
- 83% ไม่มีคำเตือนด้านการลงทุน ทำให้ผู้ชมเห็นภาพเพียงด้านเดียว
- 70% มีการเชิญชวนให้ผู้ชมลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว รวมถึงไม่ให้ความรู้วิธีจัดการความเสี่ยง
- 57% จูงใจผู้ชมด้วยการรับประกันผลตอบแทน ซึ่งเป็นแนวคิดต่างจากธรรมชาติของตลาดหุ้นที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา
- 45% สนับสนุนให้ผู้ชมนำรายได้มาลงทุน
นอกจากนี้ในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำวิดีโอให้คำแนะนำด้านการเงินทั้งหมดนี้ มีเพียง 13% เท่านั้นที่มีคุณวุฒิด้านการเงินหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือได้ ทำให้ในหลายประเทศมีกฎหมายควบคุม อย่างออสเตรเลียที่กำหนดให้การให้คำแนะนำทางการเงินโดยไม่มีใบอนุญาตเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยจะมี Australian Securities and Investments Commission (ASIC) ดูแล เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ กับประชาชน
เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษที่เพิ่งมีการตั้งข้อหากับอินฟลูเอนเซอร์ที่พูดเรื่องการลงทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากองค์กร The Financial Conduct Authority (FCA) ที่ดูแลเรื่องนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
TikTok เป็นปัญหามากที่สุด
ในบรรดาแพลตฟอร์มที่วิเคราะห์วิดีโอกว่า 91% จาก TikTok กลายเป็นปัญหามากที่สุด โดยสาเหตุคือขาดการให้ความรู้การลงทุนรอบด้าน และอีกว่า 70% สนับสนุนการซื้อลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว ประกอบกับลักษณะวิดีโอในแพลตฟอร์มนี้ที่สั้นทำให้คลิปถูกแชร์ออกไปแชร์ว่อนเน็ตอย่างรวดเร็ว ซึ่งมักจะเป็นการสรุปเคล็ดลับสั้น ๆ มากกว่าการให้ข้อมูลรอบด้าน
นอกจากนั้นอินฟูเอนเซอร์ใน TikTok กว่า 65% ยังรับประกันผลตอบแทน และสนับสนุนให้นำรายได้มาลงทุน นับเป็นความเสี่ยงอย่างมากสำหรับนักลงทุนมือใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z ที่ต้องแบกรับค่าเทอม หรือมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ต่ำ
Instagram ไลฟ์สไตล์ดีแต่น่าหนักใจ
แม้ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มนำเสนอไลฟ์สไตล์ที่น่าดึงดูด แต่ก็มีสถิติที่น่าหนักใจเช่นเดียวกัน วิดีโอในแพลตฟอร์มนี้ 88% ขาดการให้ข้อมูลด้านการเงินแบบครบทุกด้าน, 65% สนับสนุนให้ลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้อีก 50% ยังรับประกันผลตอบแทน และร้อย 40 ผลักดันให้นำรายได้มาลงทุน
YouTube ให้คำแนะนำดีแต่ไม่รอบด้าน
แม้ว่ารูปแบบวิดีโอของ Youtube ที่ยาวกว่าใครเพื่อนจะทำให้มีการนำเสนอเนื้อหาที่ลึกซึ้งมากขึ้น แต่ยังขาดข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน โดย 55% ของวิดีโอในแพลตฟอร์มนี้รับประกันผลตอบแทน ขณะที่ 45% แนะนำให้นำรายได้ของตัวเองมาลงทุน
Crypto ยังคงความนิยม
นอกจากหุ้นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่เจนแซดและชาวมิลเลนเนียล เหรียญคริปโตก็เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่เหล่าฟลูเอนเซอร์เชิญชวนผู้ติดตามให้มาลงทุนด้วยการพูดถึงบ่อย ๆ โดยเฉพาะ Memecoins ที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่สร้างจากเรื่องตลกบนอินเทอร์เน็ต อาทิ Dogecoin และ Moo Deng Coin ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ในแพลตฟอร์มยูทูปพูดถึงมากที่สุดกว่า 51% รองลงมาคือบน TikTok 44% และ 40% บน YouTube
รองลงมาคือ AI Coin ที่มีการพูดถึงมากที่สุดบน Instagram กว่า 22% 20% บน YouTube และ 16% บน TikTok ตามมาด้วย โทเคนจากเกมบล็อกเชน (Web3 Gaming Token) ที่มีการพูดถึง 30% บน YouTube, 18% บน TikTok และ 14% บน Instagram
ปิดท้ายด้วย NFT ที่เคยได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ก่อนจะความนิยมจะลดลงในปัจจุบัน ซึ่งมีการพูดถึงบน Instagram เพียง 17%, 13% บน TikTok และแค่ 5% บน YouTube