รมว.คลังพร้อมร่วมทำงาน ‘กิตติรัตน์’ ชี้ประธานแบงก์ชาติผ่านทุกคุณสมบัติ

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
กิตติรัตน์ ณ ระนอง

เผยเบื้องหลังเลือก “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” นั่งเก้าอี้ประธานแบงก์ชาติคนที่ 5 โดย ปธ.กก.คัดเลือกฯยืนยันผ่านคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม ทุกขั้นตอนปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบกฎหมายกำหนด จากนั้นเสนอชื่อให้ รมว.คลังพิจารณา ก่อนเข้า ครม.และทูลเกล้าฯ ต่อไป ส่วนอีก 2 กรรมการที่ได้รับคัดเลือกพร้อมกัน เป็นตัวแทนจากฝั่งคลังและแบงก์ชาติ ด้าน “พิชัย ชุณหวชิร” รมว.คลัง ชี้เป็นใครก็ทำงานได้เหมือนกัน พร้อมพูดคุยเพื่อปรับการทำงานให้เข้ากันง่ายขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ ประชุมเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยหลังประชุมแจ้งว่า กระบวนการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.เสร็จสิ้นลงแล้ว และเลขานุการจะดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป

คณะกรรมการลงมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง, อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ รวมถึงอดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรายชื่อที่กระทรวงการคลัง เสนอขึ้นเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนที่ 5 ต่อจากนายปรเมธี วิมลศิริ ที่ครบวาระไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา

ADVERTISMENT

เผยขั้นตอนก่อนเข้าทำงาน

ขั้นตอนต่อจากนี้ ประธานกรรมการจะนำเสนอชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ให้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ส่วนกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป

ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ราย ที่พิจารณาในคราวเดียวกัน เลือกจากที่กระทรวงการคลังเสนอ 1 ราย ได้แก่ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นอดีตลูกหม้อกระทรวงการคลัง เติบโตจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รวมถึงรองปลัดกระทรวงการคลัง ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกราย เป็นชื่อที่ทาง ธปท.เสนอ ได้แก่ นางชุณหจิต สังข์ใหม่ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเติบโตมาจากกรมบัญชีกลาง

ข้อมูลจาก ธปท.ระบุว่า นายกิตติรัตน์จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานแบงก์ชาติคนที่ 5 ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยประธานคนแรก ได้แก่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล คนต่อมาคือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ต่อมานายอำพน กิตติอำพน และก่อนหน้านี้ คือ นายปรเมธี วิมลศิริ

ADVERTISMENT

เร่งสรุปรายงานเสนอ รมว.คลัง

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯกล่าวว่า หลังจาก ธปท.สรุปรายงานการประชุมเรียบร้อย ก็จะเสนอผลการประชุมคัดเลือกไปให้ รมว.คลังพิจารณาทันที ซึ่งกระบวนการคงเร็ว ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับผลการคัดเลือกนั้น ยังเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้

นายสถิตย์กล่าวถึงเหตุผลของการเลื่อนการคัดเลือกมา 2 ครั้งว่า ครั้งแรกที่เลื่อน เมื่อวันที่ 8 ต.ค. เนื่องจากมีเอกสารเพิ่มเติมเข้ามาก่อนที่จะมีการนัดประชุม ทางฝ่ายเลขานุการจึงจำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนเพื่อให้การดำเนินการตัดสินใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ADVERTISMENT

“เหตุผลที่เลื่อนครั้งแรก เพราะฝ่ายเลขานุการได้ไปพบข้อมูลอีกหลายเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ จึงจำเป็นต้องกลับไปหาข้อมูลทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน ทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและข้อมูลที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย”

เลื่อน 2 รอบเพื่อดูให้ครบถ้วน

ส่วนครั้งที่ 2 ที่เดิมนัดวันที่ 4 พ.ย. แต่ขยับออกมาเป็น 11 พ.ย.นั้น เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกฯได้รับเอกสารข้อมูลในวันที่ 30 ต.ค. ซึ่งมีเวลาเพียง 5 วัน จึงต้องการให้คณะกรรมการคัดเลือกฯได้มีเวลาพิจารณาข้อมูลอย่างครบถ้วน จึงได้เลื่อนออกไปอีก 1 สัปดาห์

“ประกอบกับวันที่ 11 พ.ย. มีเลข 1 สองตัว ถือว่าเป็นวันธงชัย จะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ดี” นายสถิตย์กล่าวและว่า กรณีมีข้อคิดเห็นของอดีตผู้ว่าการ ธปท. ก็เป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง รวมถึงข้อคิดเห็นของทางลูกศิษย์หลวงตามหาบัวก็ต้องรับฟัง

ผ่าน “คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม”

สำหรับประเด็นคุณสมบัตินั้น นายสถิตย์กล่าวว่า ก่อนที่จะเสนอชื่อมาให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องลักษณะต้องห้าม และต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ซึ่งผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อมา ผ่านทั้ง 2 เรื่อง ยกเว้นลักษณะต้องห้ามที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของ ธปท. เช่น การเป็นกรรมการในบริษัทที่อยู่ภายใต้กำกับของ ธปท. ซึ่งกรณีดังกล่าว ถือว่าต้องห้ามโดยมีเงื่อนไข ถ้าลาออกก็จะพ้นข้อต้องห้าม

“ทุกคนที่ถูกเสนอชื่อ ไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งหมด ทั้งประธานกรรมการ 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน” นายสถิตย์กล่าวและว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และกฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ชัดเจน ทั้งในตัวกฎหมายและในระเบียบการคัดเลือก ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯจึงต้องมีสมาธิแน่วแน่

นายสถิตย์กล่าวอีกว่า เมื่อมีสมาธิจะทำให้ใจเป็นกลาง และมุ่งไปสู่การพิจารณาที่มีการกำหนดไว้โดยชัดเจน ทั้งในทางกฎหมายและทางระเบียบ ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่โดยเป็นกลาง โดยยึดมั่นในหลักนิติธรรม ถือว่าทำหน้าที่ด้วยจิตใจที่แน่วแน่ ในการจะทำหน้าที่ให้ถูกต้องชัดเจนตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนดไว้

“พิชัย” ชี้เป็นใครก็เหมือนกัน

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯคงแจ้งมา ซึ่งต้องรอดูว่าจะสรุปผลมาให้อย่างไร ก็รอตามขั้นตอนของกฎหมาย มาเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนายกิตติรัตน์จะต้องรับแรงกระแทก และถูกมองว่ามีการเมืองแทรกแซง นายพิชัยกล่าวว่า เป็นใครก็เหมือนกัน เพราะหน้าที่ถูกเขียนใน พ.ร.บ.ชัดเจน ว่าประธานบอร์ดและคณะกรรมการแบงก์ชาติต้องทำหน้าที่อย่างไร และของเดิมก็แบ่งหน้าที่ไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการชุดใหญ่ดูแลอะไร และอีก 4 ชุดที่เหลือมีหน้าที่อะไร ฉะนั้นทุกอย่างมีหน้าที่ชัดเจนและมีความเป็นอิสระ

เชื่อจูนเข้าหากันง่ายขึ้น

“เมื่อคุณกิตติรัตน์นั่งทำหน้าที่ตรงนั้น ก็ต้องทำหน้าที่ให้กับ ธปท. ใครทำหน้าที่ไหน ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ที่นั่น ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบ”

เมื่อถามว่า การทำงานของรัฐบาลกับ ธปท.จะง่ายขึ้นหรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า ทำงานง่ายอยู่แล้วและไม่มีปัญหา เพราะเชื่อว่าในความเป็นประเทศ รัฐบาลดูเรื่องคลังและแบ่งหน้าที่เรื่องเงินในภาพใหญ่ให้ ธปท.ดู และเมื่อดูแล้วก็พยายามปรับจูนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ฉะนั้นหากมีการพูดคุยกันบ่อยขึ้น ก็จะจูนเข้าหากัน

จุลพันธ์-ภูมิธรรมย้ำโปร่งใส

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบคำถามเรื่องแรงกระเพื่อมต่อจากนี้ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน และมีกฎหมายรองรับ เราไม่รู้ว่าผลออกมาอย่างไร แต่สุดท้ายทั้งหมดเป็นกระบวนการที่โปร่งใส ไม่ได้ไปแทรกแซงใด ๆ เชื่อว่าคนที่จะมาเป็นคงสามารถทำงานร่วมกับทาง ธปท.ได้อยู่แล้ว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เมื่อมีกระแสต้าน คนที่เป็นรัฐบาลมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เมื่อมีกระแสต้าน มีข้อเรียกร้อง หรืออะไรเราก็รับมาพิจารณา โดยต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริงและกรอบของกฎหมายที่อนุญาตให้ทำ จะไม่ทำอะไรที่ฝืนกับกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็น

“คณะกรรมการสรรหาพิจารณาเรื่องคุณสมบัติต่าง ๆ อยู่แล้ว ไม่สามารถทำนอกกรอบได้ หากพิจารณาตามกรอบที่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และผ่านการพิสูจน์ทราบแล้วว่ามีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก็เป็นไปตามนั้น คณะกรรมการสรรหาว่าอย่างไรจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว”