เช็กชีพจรค่าเงินบาท เข้าปี 2025 มา เต้นแรงแค่ไหน

คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : ดร.กอบสิทธิ์ ศิลปชัย, จงรัก ก้องกำชัย ธนาคารกสิกรไทย

ในช่วงต้นปี 2025 ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวนสูง อย่างไรก็ดี ยังมีข่าวดีอยู่บ้างหากดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่แคบกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ๆ โดยปีนี้ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในประมาณ 1 บาท ระหว่าง 33.60-34.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าในปีนี้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่ารุนแรงสุดในรอบกว่า 2 ปี แตะระดับ 110 แต่ค่าเงินบาทกลับไม่ได้เหวี่ยงรุนแรงเท่ากับ 1-2 ปีก่อนหน้า ในกรอบการเหวี่ยงสูงถึงเกือบ 2 บาท

อะไรเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินบาทในปีนี้ ? ความแข็งแกร่งของค่าเงินบาทในปีนี้น่าจะมาจากปัจจัยหลายประการ อย่างแรกปัจจัยด้านฤดูกาลท่องเที่ยวในไทยที่ใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดมากขึ้น ช่วยสนับสนุนความต้องการค่าเงินบาท โดยในช่วงต้นปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทะลุ 4.8 ล้านคนแล้ว หรือเพิ่มขึ้น 17.13%YOY

ประกอบกันนี้ ราคาทองคำที่ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น จากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายภาษีนำเข้าของทรัมป์ โดยสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง และใกล้แตะ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งช่วยสนับสนุนค่าเงินบาท ประกอบกับการกลับมาแข็งค่าของค่าเงินเยน หลังบีโอเจขึ้นดอกเบี้ย

ดังนั้น ในระยะสั้นปัจจัยข้างต้นจะยังเป็นแรงหนุนช่วยค่าเงินบาทให้ไม่อ่อนค่าลงรุนแรง แม้ท่ามกลางดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่ามาก

อย่างไรก็ตาม แรงหนุนเหล่านี้อาจเริ่มลดลงเมื่อผ่านไตรมาสแรกของปี 2025 ไปแล้ว ส่วนหนึ่งจากที่ฤดูกาลท่องเที่ยวจะทยอยหมดไป ทำให้อุปสงค์ต่อค่าเงินบาทปรับลดลง นอกจากนี้ จะมีปัจจัยฤดูกาลที่เป็นลบอันใหม่เข้ามาแทนที่ คือการจ่ายปันผลของบริษัทไทยให้นักลงทุนชาวต่างชาติ

ซึ่งจะนำไปสู่การเทขายบาทเพื่อนำส่งเงินปันผลกลับประเทศ นำไปสู่การอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง โดยในอดีตที่ผ่านมาการจ่ายปันผลจะมีปริมาณสูงในช่วงหลังสงกรานต์ ต่อเนื่องไปถึงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งอาจเป็นจังหวะที่ดีของการซื้อขายค่าเงินบาทสำหรับผู้ส่งออกได้

ADVERTISMENT

ภาพค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2025 ยังคาดเดาได้ยาก โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อค่าเงินบาทส่วนใหญ่ในระยะนี้เป็นปัจจัยจากต่างประเทศ ทั้งแนวโน้มนโยบายการจัดเก็บภาษีนำเข้าของทรัมป์ รวมถึงทิศทางการลดดอกเบี้ยของเฟดที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง แต่โดยรวมจะยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในฝั่งที่ค่อนข้างอ่อนค่า

ในทางตรงกันข้าม ค่าเงินบาทอาจจะพลิกกลับมาอยู่ฝั่งแข็งค่าได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์ที่ทยอยหมดไป โดยเฉพาะหลังช่วง 100 วันแรกหลังการดำรงตำแหน่ง ที่ทรัมป์อาจไม่มีการขึ้นภาษีรุนแรงเท่าที่หาเสียงไว้

ADVERTISMENT

ประกอบกับคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่หากพลิกมาอยู่ฝั่งการลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยในอดีตการลดดอกเบี้ยของเฟดลง 1% อาจนำไปสู่การแข็งค่าของเงินบาทประมาณ 2-3 บาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐได้เลย ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อค่าเงินบาทที่ต้องจับตา