ปี’67 มูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1.5 ล้านล้าน จดทะเบียนยกเลิก 4 กอง

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ภาพจาก PIXABAY

ก.ล.ต.เผยปี 2567 มูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแตะ 1.5 ล้านล้านบาท โตขึ้น 6.4% มีกองทุนทั้งหมด 351 กอง พบครึ่งปีหลังจดทะเบียนยกเลิก 4 กอง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ประกาศเกี่ยวกับการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เพื่อเข้าร่วมกองทุนหลายนโยบายการลงทุน/หลายนายจ้าง บนราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568

ก.ล.ต.ขอให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในครึ่งปีหลังของปี 2567 ไม่มีการจัดตั้งกองใหม่ โดยมีการจดยกเลิกเพื่อโอนย้ายไปยังกองทุนหลายนายจ้างและหลายนโยบายการลงทุน (master pooled fund) จำนวน 4 กอง ประกอบด้วย

1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานในกลุ่มบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด 2.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท 3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทรานสโป และ 4.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)

โดยการโอนย้ายไปนั้น เป็นไปตามความประสงค์ของนายจ้างที่ต้องการให้ลูกจ้างสมาชิก PVD มีทางเลือกมากขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการกองทุน

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ เรื่องการออกประกาศการจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเข้าร่วมกองทุนหลายนายจ้าง เป็นเรื่องที่ ก.ล.ต. ในฐานะนายทะเบียน PVD ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ จะรวบรวมและนำมาประกาศปีละ 2 ครั้ง (กลางปีกับสิ้นปี) โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สำหรับข้อมูลสถิติของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสิ้นปี 2567 (สิ้นสุด 31 ธ.ค.) มีดังนี้

ADVERTISMENT

1. จำนวนนายจ้าง 23,779 ราย เพิ่มขึ้น 4.2% จากสิ้นปี 2566 ที่มีอยู่ 22,821 แห่ง
2. สมาชิก 2,965,946 คน เพิ่มขึ้น 1.7% จากสิ้นปี 2566 ที่มีอยู่ 2,916,700 คน
3. มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1,513,173 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% จากสิ้นปี 2566 ที่มีอยู่ 1,421,986 ล้านบาท
4. กองทุน 351 กอง ลดลง 1.9% จากสิ้นปี 2566 ที่มีอยู่ 359 กองทุน (โดยในปี 2567 มีนายจ้างยกเลิกกองเพื่อโอนย้ายไปเข้า master pooled fund รวม 9 กองทุน และการจัดตั้งใหม่ 1 กองทุน)

อนึ่ง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เป็นกองทุนภาคสมัครใจที่มีเป้าหมายการออมระยะยาวเพื่อให้มีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ ที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันตั้งขึ้น เป็นเงินออมที่จะมาจากส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง และจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี