บอร์ด PPP ตีกลับโครงการมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ 7.9 หมื่นล้าน

บอร์ด PPP ตีกลับโครงการมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ 7.9 หมื่นล้านบาท พร้อมไฟเขียว 2 โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า มูลค่าลงทุนรวมกว่า 4,000 ล้านบาท จี้ PPP Fast Track รถไฟฟ้าสายสีม่วง-สีส้มเร่งเสนอโครงการเร็วขึ้นเป็นภายในปี 2561 นี้

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 3/2561 วันนี้ (9 ส.ค.) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการให้เอกชนร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า ของกรมการขนส่งทางบก จำนวน 2 โครงการ

ได้แก่ 1.โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม มูลค่าเงินลงทุน 1,361 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ค่าควบคุมงานก่อสร้าง ส่วนภาคเอกชนลงทุนในค่าก่อสร้างอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และค่าเครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึงค่าดำเนินการและการบำรุงรักษา(O&M) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี

2. โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 2,829 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์สำนักงานและส่วนประกอบ และงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ รวมถึง O&M ทั้งหมด ระยะเวลาดำเนินโครงการ 15 ปี โดยให้เสนอ 2 โครงการดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการต่อไป

ขณะเดียวกันคณะกรรมการ PPP ได้เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track จำนวน 8 โครงการ ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยคาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกและตะวันออก จะสามารถนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในปี 2561 ประมาณการเงินลงทุนรวม 366,274 ล้านบาท รวมถึงยังได้เร่งรัดโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตให้สามารถเสนอกระทรวงเจ้าสังกัดจากปี 2562 เป็นภายในปี 2561

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP รับทราบสถานะของโครงการร่วมลงทุนและเร่งรัดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุนที่มีระยะเวลาของสัญญาเหลือน้อยกว่า 5 ปี ดำเนินการจัดทำแนวทางการดำเนินกิจการของรัฐภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดให้แล้วเสร็จโดยเร็วตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 โดยคำนึงถึงภาระทางด้านการเงิน ทรัพย์สิน และเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนผู้ใช้บริการ

ADVERTISMENT

นายประภาศ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดี ในส่วนของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง นครปฐม-ชะอำ มูลค่า 79,000 ล้านบาท ที่ทางกระทรวงคมนาคมเสนอมา เนื่องจากมีข้อท้วงติงในประเด็นว่า จะดำเนินการภายใต้กฎหมายทางหลวงสัมปทาน หรือ กฎหมายทางพิเศษ โดยเห็นว่าควรดำเนินการภายใต้กฎหมายทางหลวงสัมปทาน จะได้ไม่มีข้อจำกัดการคิดค่าผ่านทาง

“เรื่องนี้คณะกรรมการ PPP ยังไม่มีมติ โดยให้ทาง สคร. กับทางกระทรวงคมนาคมไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง แล้วนำกลับมาเสนอใหม่ในเดือน ก.ย. ซึ่งจะมีประชุมคณะกรรมการ PPP นัดพิเศษสำหรับเรื่องนี้” นายประภาศกล่าว

ADVERTISMENT