คลัง-ธปท.ต้านพายุ ศก.’62 งัดข้อ “ขึ้นดอกเบี้ย” ตรึงจีดีพี

เศรษฐกิจโลกป่วนระดับมิคสัญญีสงครามเย็นทางการค้าทวีความรุนแรงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ที่อาจกลับไปขาขึ้นล้วนเป็นปัจจัยภายนอก-ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย-กระทรวงการคลัง และนักวิเคราะห์เอกชน จับประเด็นวิเคราะห์-คาดการณ์ทำนายผลถึงปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย หนึ่งในทางเลือก-ทางออกของการกู้เศรษฐกิจในประเทศ คือการออกมาตรการสำหรับประคองเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อเหวี่ยงแรงหนุนให้เกิดขึ้นต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปีหน้า

แบงก์ชาติ-ขยับบริหารดอกเบี้ย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจก่อนตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละครั้ง โดยยึดหลักการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลที่มีนัยสำคัญ (data dependent) เป็นสำคัญ เนื่องจากไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กและเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของตลาดเงินตลาดทุนโลกที่มีอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ ธปท.ต้องนำมาใช้พิจารณาเพื่อตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสมมากที่สุด

ผู้ว่าการแบงก์ชาติอธิบายว่า “ข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าระดับปกติต่อเนื่องเป็นเวลานานถือว่ามีความจำเป็นน้อยลง แต่นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ต่อเนื่องนั้น ยังคงมีความจำเป็นอยู่ เพียงแต่การผ่อนคลายในระดับเป็นพิเศษดังเช่นปัจจุบัน จะมีความจำเป็นน้อยลง เพราะเศรษฐกิจไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องและขยายตัวได้ในอัตราที่ดี”

อัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้อยู่ที่ระดับ 1.50% ถ้ามองถอยหลังไปที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดอยู่ที่ 1.25% นั้น เป็นการลดลงในช่วงเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงปี 2552 ซึ่งช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตรา -0.9% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.50% ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วง 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเศรษฐกิจไทยโตแค่ 0.7% และใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นพิเศษนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยก็มีความเข้มแข็งขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมามาก

“หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับที่สูงกว่านี้ในช่วงต่อไป เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยต่อจากนี้มากนัก โดยเฉพาะเมื่อพูดว่าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 4% ต้น ๆ และปีหน้าอยู่ที่ 3% ปลาย ๆ หรือ 4% ต้น ๆ แต่การปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำนาน ๆ จะสร้างผลข้างเคียง อาจจะเป็นปัญหาได้ในระยะยาว และไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ระดับปกติ”

“หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น ในสภาพที่ระบบเศรษฐกิจไทยมีสภาพคล่องสูงมาก ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่กระทบต่อผู้กู้ทันที เพราะยังมีช่องในการปรับลดดอกเบี้ยของรายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยพันธบัตร หรือตราสารหนี้ที่สูงขึ้น และในช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้น ธนาคารพาณิชย์จะได้เปรียบเพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะขึ้นตามระยะเวลาการฝากเงิน 3 เดือน 6 เดือน รายจ่ายดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จึงไม่ได้ปรับขึ้นทันทีแม้มีการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากแล้วก็ตาม”

คลัง-แย้งขยับดอกเบี้ยสะเทือนลงทุน

“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง กล่าวว่า การส่งสัญญาณเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นหน้าที่ ธปท.อยู่แล้ว แต่การจะขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องคำนึงถึงหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ใช่แค่จะขึ้นตามคนอื่น โดยหัวใจสำคัญต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงทางด้านการเงิน เพราะจะปล่อยให้เกิดปัญหาความปั่นป่วนขึ้นไม่ได้ ซึ่งจะต้องชั่งน้ำหนักดูว่าขณะนี้เกิดเงินไหลออกมาก หรือค่าเงินตกอย่างรวดเร็วจนคุมไม่อยู่หรือไม่ นอกจากนั้นก็ต้องดูผลกระทบต่อการลงทุน

“เขา (ธปท.) ต้องดู เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้งจะมีต้นทุน การขึ้นดอกเบี้ยแต่ละครั้งมีต้นทุน ขึ้น 0.25% ก็เป็นต้นทุนของประเทศหลายหมื่นล้านบาท เป็นต้นทุนของ ธปท.เองก็หลายหมื่นล้านบาท” รมว.คลังกล่าว

ส่วนความจำเป็นที่จะต้องมีช่องว่างทางนโยบาย (policy space) ไว้เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตหรือไม่นั้น รมว.คลังกล่าวว่า เวลาเกิดเหตุขึ้นจริง ๆ ด้านการเงินช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะมีเอฟเฟ็กต์น้อยเอกชนฟันธงปีหน้าขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง

ขณะที่นักวิเคราะห์เอกชน “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐถือว่าถึงจุดสูงสุด (พีก) แล้ว และเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น สหรัฐจึงมองความจำเป็นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ไปอยู่ที่ประมาณ 3% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% คาดว่าภายในปี 2562 สหรัฐน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 3-4 ครั้ง ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น คาดว่าจะปรับขึ้น 2 ครั้งในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยอาจจะเห็นปรับขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจไม่ชะลอตัวไปมากกว่านี้ หรืออย่างช้าในเดือน ก.พ.ปีหน้า และจากนั้นน่าจะปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง โดยรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจก่อน ทั้งนี้ การปรับขึ้นแต่ละครั้งจะไม่ได้รุนแรง คือไม่เกิน 0.25%

“ดร.พิพัฒน์” วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่า 4.3% เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวในไตรมาส 3 และในไตรมาส 4 ก็อาจจะขยายตัวได้ไม่มากนัก ส่วนปีหน้าเศรษฐกิจจะโตได้กว่า 3% ปลาย ๆ ไม่ถึง 4% ต่ำกว่าปีนี้ มีปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้การค้าโลกชะลอตามไปด้วย สงครามการค้ายังเป็นปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากไทยเป็นซัพพลายเชนของจีน ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกจากไทยไปจีนอยู่ที่ 10%

“ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย น่าจะปรับขึ้น 1 ครั้ง ภายในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า โดยภายใน 1 ปี น่าจะเห็นปรับขึ้น 2 ครั้ง ซึ่งต้องจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ต.ค.นี้ว่าขยายตัวเป็นอย่างไร หากขยายตัวได้ดีและมีเสถียรภาพ ก็อาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการขึ้นดอกเบี้ยได้ เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4%อัดฉีดเงินสดลงรากหญ้า-เร่งลงทุนรับภัยเศรษฐกิจ

ด้าน “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลือของปีนี้ จะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ตามแผน เพราะมีส่วนสำคัญในการช่วยเศรษฐกิจให้ขยายตัว ส่วนการส่งออกล่าสุดเดือน ต.ค.ก็กลับมาเป็นบวก

“ช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลือต้องผลักดันการลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายให้ได้ การท่องเที่ยวต้องประคองให้ฟื้น การใช้จ่ายของรัฐต้องเร่งรัด และดูเรื่องการส่งออกในส่วนที่เราควบคุมได้ ซึ่งไตรมาส 4 ถ้าโตได้สัก 3.5% จีดีพีปีนี้ก็ยืนอยู่เหนือ 4% ได้แล้ว แต่ถ้าเกินกว่านั้นก็โตได้ 4% กว่า” ดร.สมคิดกล่าว

“ดร.สมคิด” กล่าวด้วยว่า มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ มีทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยาง คนชรารายได้น้อย รวมถึงข้าราชการบำนาญ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเราสู้กันมา เหลืออีกนิดเดียวก็จะเลือกตั้งแล้ว ก็สู้กันต่อไปให้จีดีพียืนเหนือ 4% ให้ได้ แม้ตัวเลขจะไม่สำคัญ แต่การแข่งขันของประเทศสำคัญ