เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

ตลาดหุ้นและตลาดการเงินปรับตัวดีขึ้นในเดือนมกราคม หลังจากที่มีการเทขายหุ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว หลังจากที่เห็นการอ่อนตัวลงของเศรษฐกิจในเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะจีนและยุโรป และนักลงทุนก็หันไปลงทุนในตลาดพันธบัตร จนทำให้ดอกเบี้ยระยะยาว เช่นพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 3% มาอยู่ที่ 2.5-2.6% ส่วนตลาดหุ้นโดยรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 10% จากสิ้นปีที่แล้ว และดัชนีหุ้นส่วนใหญ่กลับไปใกล้กับระดับก่อนเกิดการเทขายในต้นเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

เหตุผลที่ทำให้นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้น น่าจะมาจาก 2 เรื่อง คือ การเปิดการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งเริ่มเจรจาในต้นเดือนมกราคม ทำให้มีความหวังว่าสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศจะคลี่คลายได้หรืออย่างน้อยก็น่าจะไม่เพิ่มแรงตึงเครียดไปมากกว่านี้ ซึ่งปัจจุบันการเจรจาก็ยังไม่จบ บางประเด็นมีความคืบหน้าที่ตกลงกันได้ เช่น จีนยอมที่จะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และจะพยายามลดการเกินดุลกับสหรัฐ รวมทั้งยอมลดข้อจำกัดด้านการลงทุนให้บริษัทสหรัฐมากขึ้น แต่ก็ยังมีประเด็นที่ยังตกลงไม่ได้ เช่น เรื่องที่ทางการจีนให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจจีนในการพัฒนาเทคโนโลยี เรื่องที่จีนขอให้สหรัฐยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าจีน รวมทั้งเรื่องกลไกการบังคับใช้ (enforcement mechanism) ที่ไม่ให้จีนตอบโต้สหรัฐ ซึ่งทรัมป์ได้แถลงเมื่อวันที่ 4 เมษายนว่า จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4-6 สัปดาห์ในการเจรจา (ถึงกลางเดือนพฤษภาคม) ซึ่งหมายความว่า เรื่องนี้ยังเป็นปัจจัยที่ยังคงต้องติดตาม และยังเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าถ้าหากไม่สามารถตกลงกันได้

อีกปัจจัยที่สำคัญมากที่เป็นข่าวดีกับตลาดหุ้นและตลาดการเงินก็คือ ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินทั้งในเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยและการปรับลดงบดุล ทำให้นักลงทุนมองว่าเฟดกำลังช่วยเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงมากนัก โดยตลาดเริ่มคาดหวังว่า มีโอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปลายปีนี้หรือปีหน้า ซึ่งคงต้องรอดูว่า เฟดจะส่งสัญญาณผ่อนคลายเพิ่มเติมที่เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นอีกหรือไม่

ต้องยอมรับว่า ตลาดการเงินและตลาดหุ้นนั้น มักจะอ่อนไหวกับข่าวสาร และใช้การคาดการณ์ในการตัดสินใจลงทุน ซึ่งจะมีความผันผวน หากคาดการณ์ผิดพลาด

ในส่วนของภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันนั้น จะเห็นว่าปัจจัยบวกมีน้อยกว่าปัจจัยลบ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว เช่น

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งปรับตัวลดลงในเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะยุโรปและเอเชีย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังน่าจะชะลอตัวในระยะ 1-3 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ของจีนเดือนมีนาคมเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย หากทิศทางเป็นไปในทางบวกต่อเนื่องก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีประการหนึ่ง

การส่งออกของเอเชียติดลบต่อเนื่อง การส่งออกของเกาหลีตัวเลขล่าสุดในเดือนมีนาคมยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องมา 4 เดือน เช่นเดียวกับการส่งออกของจีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมโดยเฉพาะเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลง

ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนการคาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะขยายตัวต่ำ โดยพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐอยู่ที่ 2.4-2.5% ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของเยอรมนี ซึ่งปรับลดลงมาในใกล้ 0 รวมทั้งพันธบัตรของประเทศอื่น ๆ รวมทั้งไทยก็อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน

ล่าสุด ไอเอ็มเอฟได้แสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวเศรษฐกิจอีกครั้ง ทั้งนี้ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ จาก 3.7% เป็น 3.5% ในเดือนมกราคม และจะมีการเผยแพร่การคาดการณ์ใหม่ในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งอาจจะปรับลดอีกก็เป็นได้ ทั้งนี้ไอเอ็มเอฟคาดว่า การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ประมาณ 70% ของประเทศสมาชิกไอเอ็มเอฟจะชะลอตัวลง โดยมองว่าความเสี่ยงที่สำคัญ คือ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟยังมองว่า โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะใกล้ ๆ นี้นั้นยังอยู่ในระดับต่ำ

จากตัวเลขเศรษฐกิจข้างต้น และปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ ทั้งเรื่องการค้าสหรัฐ-จีน Brexit แนวโน้มการอ่อนตัวของเศรษฐกิจยุโรป น่าจะสรุปได้ว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าจะยังคงอ่อนแอ แต่หากตัวเลขชี้นำบางตัว เช่น PMI ของจีนดีขึ้นต่อเนื่อง หรือการส่งออกของเอเชียเริ่มปรับตัวดีขึ้น ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่บอกว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในครึ่งหลังของปีตามที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ไว้