สรรพากร คาด เก็บภาษีได้เพิ่มพันล้าน หลังออกประกาศให้แบงก์รายงานข้อมูลบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เริ่ม พ.ค.นี้

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า เนื่องจากมีสถาบันการเงินบางแห่งยังแนะนำให้ลูกค้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลี่ยงภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% โดยแนะนำให้ปิดบัญชีแล้วเปิดใหม่ เมื่อได้รับดอกเบี้ยเกือบถึง 20,000 บาทต่อปี ซึ่งคุยกันมา 1-2 ปีแล้ว เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาที่กรมสรรพากร ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ และผลตอบแทนเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์

“จะให้กรมสรรพากรทำอย่างไร คุยกันมา 2 ปี (สรรพากรกับแบงก์) ก็ยังมีหลีกเลี่ยงภาษีกันอยู่ โดยเป็นสิ่งที่ธนาคารทั้งหลายทำกันเอง ดังนั้นกรมสรรพากรจึงให้ส่งข้อมูลมาให้ว่า แต่ละบัญชีได้รับดอกเบี้ยเท่าไหร่ แล้วสรรพากรจะนำตัวเลขมาจับกันเอง ใครรวมกันทุกบัญชีแล้วดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ก็จะเก็บภาษี ใครไม่เกินก็ไม่มีการเก็บภาษี” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า เนื่องจากระบบแบงก์ในอดีตไม่ได้เชื่อมโยงกัน จึงทำให้ตรวจสอบยาก ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว แบงก์จะต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรอยู่แล้ว เพียงแต่ส่งเป็นกระดาษ แต่ตามประกาศใหม่นี้จะให้รายงานเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือน พ.ค. และ พ.ย.ของทุกปี

อย่างไรก็ดี แบงก์จะต้องทำความยินยอมกับลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์ทุกราย เพื่ออนุญาตให้รายงานข้อมูลต่อกรมสรรพากร โดยหากลูกค้าไม่ให้ความยินยอมก็จะต้องถูกหักภาษี ตั้งแต่ดอกเบี้ยบาทแรก โดยผู้ที่เข้าข่ายคือ ต้องมีเงินฝาก 4 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันสรรพากรมีรายได้ส่วนนี้หลักพันล้านบาท และจากแนวทางนี้น่าจะเก็บได้เพิ่มอีกราว 1,000 ล้านบาท


“ประชาชนที่มีเงินฝากออมทรัพย์ไม่มาก จะไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะกว่า 99% ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีกว่า 80 ล้านบัญชี มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาท แล้วถูกหักภาษีไว้ เพราะไม่ได้ยินยอมให้แบงก์ส่งข้อมูล ตรงนี้ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีแล้วขอคืนภาษีอีกที” นายปิ่นสายกล่าว