สรรพสามิต แจงปรับโครงสร้างภาษีดีเซลรองรับอนาคต ไม่ต้องชง ครม.บ่อย ยันไม่กระทบราคาน้ำมันปัจจุบัน

นางสดศรี พงศ์อุทัย รองอธิบดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า วานนี้ (14 พ.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่กรมสรรพสามิตเสนอปรับอัตราภาษีน้ำมันดีเซลตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อเป็นการช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำมันปาล์มให้แก่เกษตรกร โดยมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีเพิ่มขึ้น จากเดิมมีเพียงดีเซล บี 7

“เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ทาง กบง. ประชุมแล้วมีการให้ปรับอัตราภาษีไบโอดีเซล ซึ่งได้ปรับภาษี บี 7 กับ บี 20 ขึ้นเล็กน้อย และเพิ่มพิกัดอัตรา บี 10 เข้ามา กระทรวงการคลังจึงมอบหมายให้กรมมาปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับมติ กบง. และ เพื่อให้รองรับการใช้ไบโอดีเซลในอนาคตไปพร้อมกัน จะได้ไม่ต้องมาพิจารณาในแต่ละครั้งที่กระทรวงพลังงานมีการปรับโครงสร้างไบโอดีเซล” นางสดศรีกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กบง. ได้มีมติกำหนดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลหมุนเร็วประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ดีเซลบี 7 ปรับภาษีเพิ่ม 0.01 บาทต่อลิตร เป็น 5.99 บาทต่อลิตร แต่ไม่มีนัยต่อราคาน้ำมัน เพราะเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกให้ผู้ผลิตในการคืนภาษี ขณะที่ดีเซลบี 10 กำหนดอัตราภาษีที่ 5.80 บาทต่อลิตร และ ดีเซลบี 20 ปรับเพิ่ม 0.001 บาทต่อลิตร เป็น 5.153 บาทต่อลิตร

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการ สำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เดิมโครงสร้างภาษีน้ำมันดีเซล มีแค่บี 7 กับบี 20 แต่ได้มีการเพิ่มบี 10 ขึ้นมา เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มตกต่ำ นอกจากนั้น ยังจัดทำโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งหมดไว้รองรับอนาคต โดยจะรองรับจนถึงบี 24

“หมายความว่า ต่อไป จะสามารถเติมน้ำมันไบโอดีเซล ตามภาวะของเนื้อน้ำมันปาล์มในตลาดได้ มีมากก็เติมมาก มีน้อยก็เติมน้อย อันนี้เป็นนโยบาย รมว.คลังที่ต้องการให้มีความยืดหยุ่นในการเติมเนื้อน้ำมันกับไบโอดีเซล จะได้ไม่ต้องเสนอ ครม.เห็นชอบบ่อย ๆ ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มแล้ว ยังเป็นการช่วยด้านสิ่งแวดล้อมด้วย” นายณัฐกรกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับน้ำมันดีเซล บี 10 ที่เพิ่งประกาศใช้นั้น สามารถรองรับรถที่มีใช้งานอยู่ในปัจจุบันได้ในหลายรุ่น ส่วนบี 20 จะต้องเป็นรถใหม่ที่ผู้ผลิตผลิตให้เครื่องยนต์รองรับได้

นายณัฐกร กล่าวว่า ปัจจุบัน มีปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลอยู่กว่า 2 หมื่นล้านลิตรต่อปี โดยกรมเก็บภาษีได้ราว 1.4 แสนล้านบาท