KTC เล็งปล่อยสินเชื่อ “นาโน-พิโกไฟแนนซ์” Q3 คาดได้รับใบอนุญาตจากแบงก์ชาติ มิ.ย.นี้

ระเฑียร ศรีมงคล (แฟ้มภาพ)
“เคทีซี” บุกธุรกิจนาโน-พิโกไฟแนนซ์ คาดเปิดบริการปล่อยสินเชื่อไตรมาส 3/62 วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ขณะนี้รอใบอนุญาตจาก ธปท. คาดได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้  เชื่อเห็นกำไรได้ในปี 2564

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวในงาน “Opportunity day” ว่า ขณะนี้บริษัทได้จัดตั้ง 2 บริษัทใหม่เพื่อจะมาดำเนินธุรกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยบริษัทแรกคือ 1.บริษัท เคทีซี นาโน จำกัด ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) โดยให้สินเชื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย และ 2.บริษัท เคทีซี พิโก (กรุงเทพฯ) จำกัด ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (Pico Plus) โดยให้สินเชื่อแก่บุคคลในภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย มีแผนที่จะเปิดทั้งหมด 5 แห่ง เป็นโซนพื้นที่ในจังหวัดกรุงเทพและปริมณฑล

นอกจากนี้จะดำเนินธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถด้วย โดยธุรกิจใหม่ทั้งหมดคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ และจะสามารถเปิดให้บริการได้ช่วงไตรมาส 3/2562 คาดว่าจะเห็นกำไรในระดับหนึ่งหลังปล่อยสินเชื่อประมาณ 18-20 เดือน หรือจะเห็นกำไรในปี 2564

“ธุรกิจใหม่ยังตอบไม่ได้ว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ เพราะต้องรอดูหลังทดลองทำไปแล้ว แต่เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นในรูปแบบแพลตฟอร์ม ซึ่งธุรกิจนี้จะมีวัฎจักรราว 18-24 เดือน ทำให้เราคาดว่าปี 2564 น่าจะมีกำไรในระดับหนึ่ง เพราะถ้าไม่มีกำไรก็คงไม่ทำ โดยธุรกิจใหม่เราต้องตั้งสำรอง 7-8% ซึ่งใกล้เคียงกับธุรกิจปัจจุบันที่บริษัททำอยู่ นอกจากนี้เราเชื่อว่าธุรกิจนี้จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะดึงลูกหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบ แต่ต้องบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดี เก็บหนี้ให้ได้ เพราะที่ผ่านมาคนที่ทำธุรกิจนี้ยังไม่มีใครทำแล้วมีกำไร” นายระเฑียรกล่าว

ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 2/2562 ถือว่ายังดีต่อเนื่อง จากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรและพอร์ตลูกหนี้ แม้ว่ายังโตไม่ได้ตามเป้าหมายที่คาดไว้ 15% โดยเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 62 เห็นการโตที่มากกว่า 10% แต่มั่นใจว่าแผนธุรกิจปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้งยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่คาดเติบโต 15% และพอร์ตลูกหนี้ที่จะเติบโต 10% และมีกำไรเติบโตมากกว่า 10%

สำหรับหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้(NPL) ยอมรับว่ามีสัญญาณที่เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 1/2562 เอ็นพีแอลขยับมาอยู่ที่ 1.2% ซึ่งถือว่าสูงกว่าสิ้นปี 2561 ที่อยู่ 1.1% อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการคุมคุณภาพลูกหนี้ จึงเชื่อว่าสิ้นปีนี้จะควบคุมไม่ให้เกิน 1.1% ได้

“ไตรมาส 2/62 ก็โตได้ แต่อาจไม่ได้ดั่งใจที่คาดไว้ ผมอยากได้ 15% แต่ยังโตเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งปกติแล้วไตรมาส 2 จะเป็นโลว์ซีซั่น และตอนนี้เราเห็นการชำระหนี้ของลูกค้าที่ลดลง เก็บหนี้ได้ยากขึ้น ด้วยภาวะเศรษฐกิจ และวันหยุดที่มากขึ้น รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ล้วนเป็นสิ่งที่กดดันธุรกิจของเราในปีนี้” นายระเฑียรกล่าว