ผู้ถือหุ้น ROBINS ยิ้ม สวอปหุ้น “เซ็นทรัล รีเทล” อนาคตธุรกิจสดใส

“บล.ฟีนันเซีย” ชี้ ROBINS-CRC สวอปหุ้นอานิสงส์นักลงทุนเพียบ “เซนทรัล รีเทล” ไซส์ใหญ่กว่าโรบินสัน 3 เท่า-ธุรกิจแข็งแกร่ง-เรทติ้งดี รอประเมินกำไรหลังแจกแจงหุ้นปลายปีนี้/ต้นปีหน้า ฟาก “บล.เอเซีย พลัส” ชูข้อดีโอกาสเติบโตสูง-ขยายธุรกิในต่างประเทศ

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CRC) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.โรบินสัน (ROBINS) โดยถือหุ้นรวม 53.83% (รวมบริษัทลูก) ซึ่งหาก CRC ต้องการซื้อหุ้น ROBINS ทั้งหมดเพิ่มจะต้องใช้เงินหลักหมื่นล้านบาท ดังนั้น CRC จึงตัดสินใจทำการแลกหุ้น (Share Swap) หุ้นแทน ซึ่ง CRC กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อเข้าระดมทุน IPO ในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

“การสวอปหุ้นเปรียบเสมือนการ ROBINS อยู่ในตลาดฯ เหมือนเดิม แต่เข้ามาภายใต้ CRC ที่จะเข้ามาลิส (listed) แทน ซึ่งผู้ถือหุ้นเดิมของ ROBINS จะต้องขายหุ้น ROBINS ให้ CRC เพื่อแลกกลับมาเป็นหุ้น CRC แทน ซึ่งมีข้อดีตรงที่ CRC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า ROBINS ประมาณ 3 เท่า

ดังนั้นในแง่ของความแข็งแกร่งและเรทติ้งของบริษัทจึงดีกว่า ROBINS โดยราคา TENDER OFFER (การทำคำเสนอซื้อหุ้นต่อผู้ถือหุ้นทั่วไป) อยู่ที่ 66.50 บาท อย่างไรก็ตาม แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าราคาเทนเดอร์จะถูกจ่ายออกมาในอัตราส่วนเท่าไหร่ เช่น 1 หุ้น ROBINS จะได้รับกี่หุ้น CRC เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีการกำหนดออกมาในช่วงปลายปี 2562 หรือช่วงต้นปี 2563” นายวีระวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 บล.ฟินันเซียฯ คาดว่า ROBINS จะมีกำไรสุทธิที่ 3,164 ล้านบาท หรือเติบโต 6.6% เมื่อเทียบกับปี 2561 ในส่วนของมูลค่าหุ้น CRC จะต้องรอประเมินหลังการกำหนดอัตราส่วนของหุ้นที่จะจ่ายให้ ROBINS อีกครั้ง

นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพธุรกิจก็คงมีโอกาสเติบโตที่ดี เพราะมีโอกาสในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อขยายธุรกิจได้ดีขึ้น สำหรับผู้ถือหุ้น ROBINS เองก็คงดีอยู่แล้ว เพราะมีโอกาสไปถือหุ้นเซนทรัลฯ จากเดิมที่ ROBINS เป็นแค่ห้างสรรพสินค้าที่ครอบคลุมเฉพาะตลาดลูกค้าระดับกลางถึงล่างในพื้นที่ต่างจังหวัด การที่มีเซนทรัลฯ อย่างน้อยเครือข่ายห้างสรรพสินค้าสามารถจะครอบคลุมพื้นที่ในเมืองได้มากขึ้น

“ธุรกิจของ ROBINS ก็ยังมีอยู่ ในฐานะผู้ถือหุ้นที่จะเปลี่ยนมาเป็นเซนทรัลฯ ก็ถือว่ายังเป็นเจ้าของ ROBINS อยู่ นอกจากนี้ เซนทรัลฯ ก็ยังมีสาขาขนาดเล็กๆ อย่างพวก ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต, แฟมิลี่มาร์ท ที่เป็นร้านสะดวกซื้อ และก็ร้านค้าเฉพาะทางอื่นๆ เช่น ไทวัสดุ, พาวเวอร์บาย, ซุปเปอร์สปอร์ต ตรงนี้ยังมีช่องว่าง(room) ให้เติบโตได้ในประเทศไทยอีก แต่ถ้ากลับมาดูผู้ถือหุ้น ROBINS ปัจจุบัน และกลับมาย้อนดูสาขาที่มีอยู่ในต่างจังหวัด

ขณะนี้ ห้างสรรพสินค้าโรบินสันก็ครอบคลุมจังหวัดรองๆ ก็เกือบครบแล้ว เพราะฉะนั้นการเติบโตก็อาจจะต้องมองหาวิธีการเติบโตอื่นๆ เช่น ปรับสาขาเล็กๆ ลงบ้าง หรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งถ้ายังถือหุ้น ROBINS เหมือนเดิม ก็ต้องไปเริ่มใหม่หมด เพราะ ROBINS ไม่เคยมีสาขาเล็กๆ เลย และถ้าไปต่างประเทศก็มีแล้วที่เวียดนาม แต่ไปหลายปีแล้วแต่ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก

ขณะที่ถ้าถือหุ้นเซนทรัลฯ แน่นอนว่า มีสาขาที่เซตอัพไว้อยู่แล้ว ขณะที่ในการขยายธุรกิจต่างประเทศเองภายใต้ CRC ก็มีเครือข่ายอยู่ในเวียดนามและอิตาลี ซึ่ง 2 ปีล่าสุดก็ค่อนข้างเห็นการเติบโตที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นการขยายธุรกิจในเครือเซนทรัลมีเครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น ฉะนั้นโอกาสเติบโตในประเทศก็ยังมีด้วยรูปแบบสาขาเล็กๆ ของทางเซนทรัล

รวมถึงลักษณะสินค้าที่ขายเซนทรัลก็มีความหลากหลายมากกว่า เพราะประมาณ 50% เป็นอาหาร แน่นอนเป็นสิ่งจำเป็นกับผู้บริโภค อีกสัก 20% มาจากพวกฮาร์ดไลน์ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า, วัสดุก่อสร้าง ซึ่งทางไทวัสดุทางเซนทรัลก็ยังมีโอกาสเติบโต เพราะมาร์เก็ตแชร์ยังไม่นักในธุรกิจดังกล่าว” นายสุวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ในแง่ของกำไร จากปัจจุบันที่ข้อมูลของเซนทรัลฯ ยังเบื้องต้นมากจึงไม่สามารถประเมินได้ ในส่วนของกำไร ROBINS ในปี 2562 บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่าจะเติบโตประมาณ 5-10%