เทรดวอร์-บึ้มกรุงทุบเชื่อมั่น คลังอัดมาตรการปั๊มศก.สิงหานี้

เศรษฐกิจไทยเจอศึกนอกศึกใน ระเบิดป่วนเมืองทุบความเชื่อมั่น ทำลายบรรยากาศการค้า-ลงทุน ขณะที่ทรัมป์เปิดศึกการค้ารอบใหม่ เขย่าขวัญผู้ส่งออก “จุรินทร์” เรียก 50 เอกชนระดมสมองรับมือเทรดวอร์ หลังครึ่งปีแรกส่งออกติดลบไปแล้ว 4.2% ขุนคลัง “อุตตม” เตรียมชง ครม.อัดมาตรการปั๊มเศรษฐกิจเร่งด่วน ด้านอุตฯยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์พาเหรด “ลดคน” ล่าสุดเดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ เปิดโครงการสมัครใจลาออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐอเมริกาได้ทวีตเมื่อวันพฤหัสบดี 1 ส.ค.ว่า จะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเก็บภาษีเพิ่มอีก 10% มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย.นี้ หลังการเจรจาหาข้อตกลงในการยุติสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อ 31 ก.ค.-1 ส.ค.ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้า และจีน “ผิดสัญญา” ในการเพิ่มปริมาณการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ ทำให้สัญญาณการเปิดศึกการค้าปะทุขึ้นมาอีกรอบ หลังเพิ่งตกลง “สงบศึกการค้า” ไปเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่บรรดานักลงทุนมีปฏิกิริยาแง่ลบอย่างชัดเจนต่อคำประกาศของทรัมป์ ทำตลาดหุ้นเกือบทุกตลาดทั่วโลกดิ่งลงถ้วนหน้า โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดลดลง 1% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดตลาดลดลงเกือบ 1% ขณะที่ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 1 ต่อเนื่องถึงวันที่ 2 ส.ค. 2562 เกิดเหตุระเบิดป่วนเมืองในกรุงเทพฯมากกว่า 7 จุด

อุตตม” เชื่อระเบิดไม่ฉุดเชื่อมั่น

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวถึงเหตุการณ์วางระเบิดป่วนเมืองที่เกิดขึ้นว่า เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลความสงบมีมาตรการดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยยังเข้มแข็ง ซึ่งจากการปรับอันดับเครดิตเรตติ้งของฟิทช์และมูดี้ส์ เป็นการสะท้อนความมั่นใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ

“ปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวร่วงลงมาค่อนข้างแรงวันนี้ (2 ส.ค.) อาจจะต้องไปหารือกับผู้บริหารตลาดทุนอีกที แต่มองว่าช่วงนี้ตลาดมีความผันผวนมาก ส่วนใหญ่มาจากเศรษฐกิจโลกกดดัน โดยเฉพาะข้อพิพาทการค้า เราต้องมาดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะความผันผวนของเศรษฐกิจโลกหรือเหตุการณ์ภายใน เราต้องมีมาตรการรองรับให้เร็ว ขณะเดียวกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้ตอบโจทย์ประชาชนด้วย” นายอุตตมกล่าว

ชงมาตรการปั๊มเศรษฐกิจ

นายอุตตมกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประเมินผลกระทบความขัดแย้งทางการค้า ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และให้มองถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งทางสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังจะพิจารณามาตรการมาช่วยเพื่อบรรเทาผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยคาดว่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน ส.ค.นี้

ทั้งนี้ มาตรการที่จำเป็นมากคือ การเร่งรัดการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ และมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานราก นอกจากนี้อาจจะเร่งการลงทุนด้านเทคโนโลยีหรือระบบอีเพย์เมนต์เป็นการต่อยอด เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีส่วนที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย โดยเม็ดเงินอยู่ในงบประมาณเดียวกันทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าวงเงินที่จะออกเป็นแพ็กเกจเม็ดเงินเท่าไร

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้ก่อการร้ายหวังผลให้เกิดความวุ่นวาย แต่มองว่าไม่น่ามีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากเป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้น ฝ่ายความมั่นคงจะสามารถดูแลรับมือได้เป็นอย่างดี กรณีที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีจีนอีก 10% มองว่าเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกให้ชะลอลง ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบในการส่งออกสินค้าโดยตรง เนื่องจากไทยเป็นห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของจีน อย่างไรก็ตามตลาดประเทศไทยยังมีความหวังในเรื่องของการทดแทนการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐ ซึ่งจะต้องช่วงชิงโอกาสนี้ ด้านตัวเลขส่งออกต้องติดตามหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งรัฐบาลก็พยายามทำหลายเรื่องให้การส่งออกดีขึ้น แต่ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้

สำหรับเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายให้ทุกส่วนราชการเร่งสร้างผลงานภายใน 3 เดือนนี้ สศค.มีแผนเรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาเร็ว ๆ นี้ และการปฏิรูปโครงสร้างภาษี โดยจะต้องมองทิศทางภาษีแต่ละตัว

“จุรินทร์” ดึงเอกชนระดมสมอง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการร่วมประชุม RCEP ที่กรุงปักกิ่งว่า ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ได้นัดประชุมคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชนในส่วนของ ก.พาณิชย์ (กรอ.) เป็นครั้งแรก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย ผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น ในการกำหนดแนวทางระหว่างประเทศไทยกับคู่ค้าทั่วโลก เพื่อผลักดันการส่งออก อย่างไรก็ตาม มองว่าทุกประเทศในโลกกำลังประสบอุปสรรคจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน

“ในที่ประชุม กรอ.นัดแรกจะพูดคุยเรื่องหาทางออกกรณีอุปสรรคที่เกิดขึ้น ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้อย่างไร” นายจุรินทร์กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า กรอ.ครั้งนี้คาดว่าจะมีตัวแทนหน่วยงานรัฐและเอกชนมาประชุมกว่า 50 ราย โดยขณะนี้ภาคเอกชนอยู่ระหว่างหารือ เพื่อจัดทำรายงานต่อปัจจัยลบต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และข้อเสนอแนะในการผลักดันการส่งออก โดยส่วนใหญ่มีการปรับลดเป้าส่งออกปีེ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3-5% เหลือติดลบ 2% ถึงบวก 1% แทน คาดว่าเอกชนจะเสนอให้รัฐบาลเน้นดูแลค่าบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง และออกมาตรการภาษีช่วยเหลือผู้ส่งออก จัดหาตลาดใหม่และฟื้นตลาดเก่าที่มีศักยภาพโดยรัฐบาลเร่งโรดโชว์ เป็นต้น

ห่วงจีนตอบโต้กลับ 

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีการประกาศขึ้นภาษีลอต 3 ว่า จะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลกลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ขยายตัว 3.2% เหลือ 3% ส่วนการส่งออกของไทยให้ปรับตัวลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ในปี 2562 เป็น -1 ถึง -1.5% โดยสินค้าไทยที่จะกระทบส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบที่จีนส่งออกไปสหรัฐ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า, ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง, ยางพารา เป็นต้น

“ผู้ส่งออกไทยเริ่มกังวลว่ารัฐบาลจีนจะตอบโต้สหรัฐด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้ากี่รายการ เนื่องจากที่ผ่านมาจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐไปแล้ว 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และจะให้มีการปรับขึ้นภาษีอีก 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หากจีนประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐทั้งหมดก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ส่งออกไทยและส่งออกทั่วโลกอยู่ในภาวะย่ำแย่กว่าเดิมอีก”

นางสาวกัญญาภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกฯได้ประเมินไว้แล้วว่าหากสหรัฐปรับขึ้นภาษีลอต 3 การส่งออกทั้งปีคาดจะติดลบ 1% แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้นคาดว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนต่อภาพการส่งออกไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนปัญหาสงครามการค้าจะยืดเยื้อไปจนถึงสหรัฐทำการเลือกตั้ง มีโอกาสเป็นไปได้สูง ทางผู้ส่งออกจะต้องเร่งผลักดันการส่งออกไปในตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น และภาครัฐจำเป็นต้องเดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรีมากขึ้นด้วย

ประเมินผลกระทบไทย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สินค้าลอตใหม่ 3 แสนล้านดอลลาร์ ที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษี 10% ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ มีจำนวน 3,812 รายการ ครอบคลุมสินค้าอุปโภคและบริโภค อาทิ อาหาร อุปกรณ์/เครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (โทรศัพท์มือถือ) เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องประดับ และของเล่น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคสหรัฐ

สำหรับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากการขึ้นภาษีรอบนี้ต่อภาคส่งออกไทย ประเมินว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับมาตรการที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์จะติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นประเมินว่า สินค้าเกษตร 725 รายการ มีโอกาสที่ไทยจะส่งออกไปตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดและความสามารถทางการแข่งขันสูง อาทิ อาหารและเครื่องปรุงอาหาร น้ำผลไม้ เป็นต้น

ทุบเชื่อมั่นผู้บริโภค 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯในวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่ได้หวังผลถึงชีวิตแต่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น และประชาชนมองไปในเรื่องการเมืองไม่มีเสถียรภาพสูงด้วย หวั่นจะเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นและขยายตัว ซึ่งจะกระทบต่อภาคธุรกิจและการลงทุน แต่หากรัฐบาลเข้ามาดูแลควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดความรุนแรงและรักษาความปลอดภัยให้ความมั่นใจต่อประชาชนได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในระยะสั้น”

นายธนวรรธน์กล่าวว่า การที่สหรัฐปรับขึ้นภาษีรอบใหม่จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะซึมตัว นอกจากนี้ จากปัญหาสงครามการค้าที่จะมีผลการปรับขึ้นภาษีสินค้าในเดือนกันยายน และผลกระทบจากเบร็กซิตในเดือนตุลาคม 2562 มองว่าจะกระทบต่อภาวะทางเศรษฐกิจอย่างมาก และทำให้การนำเข้าทั่วโลกอาจลดลง โอกาสการส่งออกไทยที่จะติดลบก็มีมากขึ้น จากที่ประเมินการส่งออกไว้ติดลบ 1-0% จะติดลบสูงถึงติดลบ 2-3% และมีโอกาสที่การส่งออกในปี 2563 จะติดลบด้วย ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินคงอาจจะไม่เพียงพอ รัฐบาลก็อาจจะใช้นโยบายการคลังร่วมด้วย โดยกระตุ้นการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจในระบบ พร้อมดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ตลาดหุ้นเจอข่าวร้ายถล่ม

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันนี้ (2 ส.ค.) ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงได้รับผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นทั้งภูมิภาค ซึ่งมาจากการที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ทวีตข้อความว่าจะขึ้นภาษีจีนลอตใหม่ลอตสุดท้าย วงเงิน 3 แสนล้านเหรียญ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 10% และมีผลวันที่ 1 ก.ย. 62 ประกอบกับตลาดหุ้นไทยผิดหวังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ยต่อ

ส่วนปัจจัยภายในประเทศมาจากเหตุการณ์วางระเบิดป่วนเมืองที่เกิดหลายจุดในกรุงเทพฯ ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์มากกว่าหวังผลในเรื่องของชีวิตและทรัพย์สิน จึงให้น้ำหนักกับปัจจัยต่างประเทศกดดันตลาดหุ้นไทยมากกว่า แต่จะเป็นการพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลชุดใหม่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยต่อไปในอนาคต

“เราคิดว่าการวางระเบิดป่วนเมืองเป็นปัจจัยชั่วคราว และคงไม่ได้เกิดขึ้นต่อเนื่อง เหมือนสงครามทางการค้า และคิดว่าจากนี้รัฐบาลคงจะดูความปลอดภัยและฝ้าระวังมากขึ้นเป็นลำดับแรก ต่อมาต้องให้ความสำคัญกับการเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ออกมาเร็วขึ้น” นายอภิชาติกล่าว

ชี้เหตุระเบิดกระทบหุ้นระยะสั้น

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า กรณีที่ภาวะตลาดหุ้นไทยวันที่ 2 ส.ค. 62 ปรับลดลงประมาณ 20 จุด ชี้ว่าเป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกมีทิศทางปรับลดลงตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.-2 ส.ค. 62 หรือตั้งแต่ช่วงที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% และตลาดคาดว่าอาจไม่เกิดการลดลงแบบต่อเนื่อง รวมถึงกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ทวีตข้อความจะขึ้นภาษีจีน 10% ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 4 วันที่ผ่านมา

ส่วนเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อตลาดหุ้น แต่จะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น และกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหรือความสามารถการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคในวันที่ 2 ส.ค. 62 พบว่า ตลาดหุ้นไทยมีการปรับลดลงต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ขณะที่ผลกระทบของเหตุการณ์นี้ต่อเศรษฐกิจไทยจะต้องติดตามต่อว่าจะคลี่คลายออกมาอย่างไร

จากที่มีการสอบถามว่ามีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ นายภากรกล่าวว่า โดยปกติถ้ามีปัจจัยใหญ่ ๆ ก็มีการคุยกันตลอด อย่างคราวนี้ปัจจัยใหญ่ที่เรามองคือเรื่องเศรษฐกิจโลกและตลาดโลกมากกว่า รวมถึงการเคลื่อนไหวของเงินทุนว่ามีการเคลื่อนไหวเข้าประเทศไทยอย่างไรบ้าง ส่วนเหตุการณ์อื่น ๆ ก็มีการมอนิเตอร์ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่อย่างวันนี้ก็ยังไม่สื่อสารกัน เนื่องจากตลาดเพิ่งลงมา 1% หากมีการเคลื่อนไหวรุนแรงก็จะอัพเดตกันอยู่เสมอ

นายภากรกล่าวอีกว่า ฝากถึงนักลงทุนให้พิจารณาปัจจัยพื้นฐาน สภาวะเศรษฐกิจ และความสามารถในการทำกำไรของ บจ. ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ นอกจากนี้ หากไม่สามารถติดตามสถานการณ์ได้ทัน แนะนำซื้อกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนและนักลงทุนสถาบันดูแลให้

อุตฯรถยนต์-อิเล็กฯลดคน

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2562 พบว่าขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ตามอุปสงค์ต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว โดยเฉพาะ “หมวดยานยนต์” หดตัวตามการผลิตทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกหดตัว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ผลกระทบจากตลาดส่งออกรถยนต์และยอดขายในประเทศที่มีแนวโน้มลดลงส่งผลให้แต่ละค่ายทยอยปรับลดกำลังผลิต และปรับลดต้นทุนด้านต่าง ๆ โดยเดือน มิ.ย.ผ่านมา บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศโครงการสมัครใจลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานอายุ 45-54 ปี ที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไปเปลี่ยนอาชีพ โดยจ่ายชดเชยตั้งแต่ 16.5 เดือน ถึงสูงสุด 27.34 เดือน

เช่นเดียวกับบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ฟอร์ดและมาสด้า ได้เปิดโครงการโอกาสสานฝันสู่อาชีพทางเลือก โดยบริษัทจะจ่ายชดเชยให้ตามอายุงาน กรณีน้อยกว่า 1 ปี รับเงินชดเชย 8.67 เดือน จนสูงสุดอายุงาน 20 ปี รับเงินชดเชย 24.01 เดือน และบวกเงินช่วยเหลือพิเศษอีก 26,700 บาท

นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ก็ได้รับผลพ่วง โดยล่าสุดบริษัท วาลีโอ คอมฟอร์ท แอนด์ ไดร์ฟวิ่ง แอสซิสแทนซ์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศหยุดกิจการชั่วคราวในไตรมาส 3/2562 เนื่องจากยอดการสั่งซื้อชิ้นส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการเพิ่มวันหยุดงาน โดยบริษัทจะจ่ายค่าจ้าง 75% ในวันที่หยุดงานตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 2562


และเมื่อ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้ประกาศโครงการสมัครใจลาออก โดยมีเงื่อนไขเป็นพนักงานระดับซี 3-ซี 5 อายุงาน 10 ปีขึ้นไป บริษัทให้เงินช่วยเหลือตามกฎหมายบวกจำนวนปีของอายุงานที่เหลืออยู่จนเกษียณ คูณ 0.5 เดือน และบริษัทจ่ายเงินพิเศษให้อีก 120 วัน สำหรับพนักงานที่ทำงานจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2562