เคาะงบปี’63 วงเงิน3.2ล้านล. ประกบทุกกระทรวงคุมนโยบายหาเสียง

ครม. “ตู่ 2” ไม่รื้อกรอบงบฯปี’63 ที่ 3.2 ล้านล้านบาท กู้เพิ่มเป็น 4.69 แสนล้านบาททดแทนรายได้ กสทช.หาย ผู้อำนวยการสำนักงบฯ ส่งทีมประกบ รมต.ทุกกระทรวงรื้อไส้ในงบฯตัวเอง หวั่นขอเพิ่มเว่อร์เกินไป ก่อนให้ชงคำขอในวันที่ 9 ส.ค. ระบุงบฯล่าช้า 4 เดือน ขุนคลังยันไม่ขึ้น VAT โปะรายได้หาย

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุม 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดยปรับลดประมาณการรายได้ลง 1.9 หมื่นล้านบาท และเพิ่มการขาดดุลงบประมาณจาก 4.5 แสนล้านบาท เป็น 4.69 แสนล้านบาท ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินวันที่ 6 ส.ค.นี้

เนื่องจากรายได้ที่จัดเก็บจะลดลง เป็นรายได้ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะประมูล แล้วเปิดประมูลไม่ได้ จะไปเพิ่มที่การขาดดุล ส่วนโครงสร้างอื่นยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะกรอบงบประมาณรายจ่ายยังอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ไม่อยากให้ขาดดุลมากเกินไป ซึ่ง ธปท.บอกว่าการขาดดุลระดับหนี้เหมาะสม เพียงพอต่อการประคองเศรษฐกิจ

ขณะที่รายจ่ายลงทุนปรับลดลงจากเดิมเล็กน้อย อยู่ที่ 6.5 แสนล้านบาท เนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่หาเสียงไว้ส่วนใหญ่ใช้รายจ่ายประจำ จึงต้องเกลี่ยไปให้ แต่รายจ่ายลงทุนก็ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง คือไม่ต่ำกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า ทุกกระทรวงจะต้องทำงบฯให้อยู่ในกรอบ 3.2 ล้านล้านบาท โดยแต่ละกระทรวงต้องทำคำของบฯส่งเข้ามาในวันที่ 9 ส.ค. เท่าที่ดูนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงไว้ต้องใช้เงินระดับแสนล้านบาท เช่น ถ้าจะประกันราคาพืชทุกชนิดก็จะต้องใช้เงินถึง 7 แสนล้านบาท หรือจะเพิ่มเบี้ยคนชรา ต้องใช้เงิน 4 หมื่นล้านบาท แต่งบฯอาจจะมีให้ไม่พอ จึงต้องดูความเหมาะสม เน้นโครงการที่ทำได้ทันทีในปี 2563 ก่อน ซึ่งนายกฯกำชับให้ดูแลการใช้จ่ายงบฯให้เกิดความคุ้มค่าอย่างแท้จริง ประโยชน์ตกอยู่กับประเทศ และมีการดูแลคนในระดับพื้นที่ทั่วถึง รวมถึงกำชับไม่ให้เสนอโครงการที่ใหญ่เกินไปแล้วสุดท้ายทำไม่ได้ แต่ขอให้แบ่งเป็นเฟสไป สำเร็จแล้วค่อยขยาย

“ต้องส่งสัญญาณไปยังรัฐมนตรีทุกท่านว่า ให้ดูงบฯตัวเองก่อน โดยดูจากฐานปีงบประมาณ 2562 ถ้าขอเพิ่มไม่ควรสูงเกินไป ถ้าต่างคนต่างขอมามาก คงไม่ได้ ซึ่งส่งทีมงานสำนักงบฯไปหารือกับทุกกระทรวง และเสนอแนะทางออกว่า ปี 2563 ให้เริ่มบางส่วนไปก่อนแล้วกัน จากนั้นค่อยไปตั้งเอาใหม่ในปีงบประมาณ 2564 เพราะเดือน ม.ค. 2563 ต้องเริ่มทำแล้ว”

หลังทุกกระทรวงส่งคำขอแล้ว สำนักงบฯจะใช้เวลา 3 สัปดาห์พิจารณา เน้นโครงการที่มีความพร้อม จากนั้นจะเสนอ ครม.เห็นชอบปลายเดือน ส.ค. หรือต้น ก.ย. จากนั้นต้องเปิดประชาพิจารณ์อีก 15 วัน ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ในงบประมาณปี 2563 งบฯกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จะลดลงจากปีงบประมาณ 2562 เหลือกว่า 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการจัดสรรงบฯช่วยเหลือเกษตรกรบางส่วน โดยนำไปไว้ในงบฯประจำแล้ว คาดว่ากระบวนการจัดทำงบประมาณจะแล้วเสร็จ และทูลเกล้าฯได้ปลายเดือน ม.ค. 2563 หรือล่าช้าราว 4 เดือน อย่างไรก็ดี เดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ สำนักงบฯจะออกมาตรการให้ทุกหน่วยงานเตรียมการใช้จ่ายงบฯปี 2563 โดยให้เตรียมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้าก่อนกฎหมายงบประมาณมีผลบังคับใช้


นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า งบฯปี 2563 ที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 4.69 แสนล้านบาท และงบประมาณรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท เพียงพอรองรับการดำเนินงานและการออกมาตรการต่าง ๆ รายได้ที่หายไปไม่ต้องกังวล เพราะมีรายได้ส่วนอื่น แต่ยืนยันว่ายังไม่มีแนวทางที่จะขึ้นภาษีมาชดเชยในส่วนดังกล่าว โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ยังไม่มีแนวคิด แต่การปรับโครงสร้างภาษีในภาพรวม เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ