“อุตตม” จี้บีโอไอออกมาตรการจูงใจดึงต่างชาติลงทุน แจง “ชิม ช้อป ใช้” ตรงจุด

นายอุตตม สาวนายน
แฟ้มภาพ

รมว.คลังเผยในงาน “Thailand Focus” เร่งบีโอไอออกมาตรการจูงใจต่างชาติลงทุน กางแผนระยะยาวเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปรับเปลี่ยนประเทศ แจงมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ตรงจุด หวังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายหนุนสภาพคล่องเศรษฐกิจไทย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในฐานะเป็นประธานกล่าวเปิดงาน Thailand Focus 2019 ที่มาในหัวข้อ “Embracing Opportunities – The Next Chapter” ว่า แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยจะเป็นรัฐบาลผสมที่มาพรรคการเมืองกว่า 19 พรรคก็ตาม แต่มีความตั้งใจที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ให้ได้ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถที่จะพัฒนาประเทศ โดยชี้ว่าแม้แต่ละประเทศมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป แต่ในส่วนของประเทศไทยมองว่ามีจุดเด่นของที่ตั้งประเทศ การเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดที่เอื้อให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้

โดยการลงทุนร่วมดังกล่าวรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดการลงทุนด้วยเม็ดเงินเท่านั้น แต่ต้องการเปิดรับหุ้นส่วนเพื่อให้เกิดการถ่ายโอนความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ มายังประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งจากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติพบว่าหลายประเทศให้ความสนใจในการลงทุนเพื่ออนาคตของไทยอย่างมาก โดยที่ผ่านมามองว่าประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จไปในระดับหนึ่งแล้วสะท้อนจากการถูกจัดอันดับประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) และการถูกปรับเพิ่มอันดับเรทติ้งประเทศที่ดีขึ้น

“เราได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปรับแรงจูงใจใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน เช่น กฎหมายอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ที่เราพยายามผลักดันให้ชัดเจน ทำให้โปร่งใส เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจว่าเราจะทำอะไรบ้าง หรือการอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนผ่านระบบชำระภาษีอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) เข้ามาในระบบมากขึ้น ผ่านการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีใช้ระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น” นายอุตตม กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก จากปี 2557 จีดีพีเติบโตไม่ถึง 1% ขณะที่ในปี 2561 จีดีพีไทยเติบโตถึง 4.1% อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันส่งผลให้การเติบโตของจีดีพีไทยในไตรมาสแรกเติบโต 2.8% ขณะที่ไตรมาส 2/62 เติบโตชะลอลงที่ 2.3%

“แม้เศรษฐกิจของเราจะชะลอตัวลงในไตรมาส 2 แต่ยังสามารถเติบโตเป็นบวกได้ ขณะที่หลายๆ ประเทศในโลกได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเร็วและแรงกว่าประเทศไทย ส่งผลให้จีดีพีไตรมาส 2 ในบางประเทศไม่เติบโตหรือเผชิญกับการหดตัวลงของเศรษฐกิจ” นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม กล่าวอีกว่า แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะพึ่งเข้ามาดำเนินงานประมาณ 1 เดือนเศษ แต่ได้มีการเร่งผลักดันชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพื่อส่งเสริมความมั่นใจและความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงที่เข้ามากระทบกับประเทศไทยในวันนี้ เชื่อว่าชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวที่ออกมาสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว

ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยประคองเศรษฐกิจไทยต่อไปได้ ในส่วนของแผนระยะข้างหน้ารัฐบาลยังเร่งสร้างโอกาสใหม่ๆ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล คน รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนา โดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังมีการคำนึงถึงการรักษาวินัยทางการคลังอยู่ตลอด โดยชี้ว่าการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนประเทศจะต้องเป็นการลงทุนอย่างมีวินัย

ขณะที่มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่ถูกวิจารณ์ว่าอาจแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุดนั้น ชี้แจงว่า มาตรการทุกอย่างที่ออกมาของรัฐบาลมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในสถานการณ์ที่ความเชื่อมั่น การบริโภค และการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัวลงทั่วโลก มาตรการดังกล่าวจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสภาพคล่องหมุนเวียนภายในประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยวที่เป็นหัวจักรสำคัญของประเทศไทยซึ่งมีการจ้างงานที่ค่อนข้างสูง หากปล่อยให้การบริโภคในส่วนดังกล่าวลดลงอาจก่อให้เกิดผลเสียได้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีข้อมูลที่จะติดตามและให้ความช่วยเหลือแต่ละภาคส่วน ซึ่งอาจไม่ได้เป็นความช่วยเหลือที่ให้เป็นเงินเสมอไป โดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลก