แห่ใช้เงิน 1,000 บาท “ชิมช้อปใช้” 3 วันแรก ใช้สิทธิ์แล้วเฉียด 4 แสนราย

แห่ใช้เงิน 1,000 บาท “ชิมช้อปใช้” 3 วันแรก ใช้สิทธิ์แล้วเฉียด 4 แสนราย ยอดใช้จ่ายรวม 294 ล้านบาท โฆษกคลังชี้ส่วนใหญ่ 50% ใช้จ่ายซื้อสินค้าชุมชน-ธงฟ้า

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 8 วันแรก มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการ “ชิมช้อปใช้” เต็มตามโควตา 1 ล้านรายทุกวันโดยระบบจะใช้เวลาตรวจสอบ 3 วันทำการ และเมื่อได้รับSMS แจ้งสิทธิ์และยืนยันตัวตนในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้ว จะสามารถใช้สิทธิ์ได้ในวันถัดไป ซึ่งการยืนยันตัวตนนั้นเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ให้มั่นใจว่าจะไม่มีผู้อื่นใช้สิทธิ์ของท่าน หากสแกนใบหน้า 3 ครั้งแล้วยังไม่สามารถใช้งานได้ สามารถไปยืนยันตัวตนที่สาขาของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้การใช้งานแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และ “เป๋าตัง” ขอให้เปิด location ทุกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันว่ามีการไปใช้สิทธิ์ในจังหวัดที่เลือกจริง

สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2562 มีผู้ได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์ 3,115,449 ราย และการเริ่มใช้จ่ายวันแรกวันที่ 27 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2562 รวม 3 วัน มีผู้เริ่มไปใช้สิทธิ์แล้ว 370,523 ราย โดยมียอดการใช้จ่ายประมาณ 294 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดการใช้จ่าย พบว่า กว่าร้อยละ 50 ของการใช้จ่าย หรือประมาณ 148 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป”ซึ่งเป็นร้านในกลุ่มOTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ รองลงมา คือร้าน “ชิม”หรือร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่มียอดใช้จ่ายประมาณ 60 ล้านบาท สำหรับร้าน “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ เป็นต้น มียอดใช้จ่ายประมาณ 7 ล้านบาทส่วนร้านค้าทั่วไป มียอดใช้จ่ายประมาณ 79 ล้านบาท โดยร้านค้าที่รับชำระเงินด้วยแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” g-Wallet ช่อง 1 วงเงิน 1,000 บาท จากรัฐบาล จะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีของร้านค้าไม่เกินเวลา 21.00 น. ของวันทำการถัดไป ส่วน g-Wallet ช่อง 2 ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ประชาชนเติมเอง จะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีของร้านค้าในวันถัดไปไม่เกินเวลา 6.30 น. ของทุกวัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ระบบการชำระเงินระหว่าง “ถุงเงิน” และ “เป๋าตัง” สามารถใช้งานได้ปกติ โดยระบบไม่ได้ล่มตามที่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งตามเงื่อนไขการลงทะเบียนร้านค้า “ถุงเงิน” 1 ร้านค้า จะสามารถเข้าใช้งานพร้อมกันได้ 20 จุดใน 1 จังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระเงิน โดยเฉพาะร้านในกลุ่ม “ชิมช้อปใช้”เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังเศรษฐกิจฐานรากให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ สำหรับร้านค้าขนาดใหญ่ซึ่งเป็นร้านประเภททั่วไปที่มีหลายสาขาสามารถบริหารจัดการโดยลดจำนวนสาขาลงเพื่อให้มีจุดรับชำระเงินในแต่ละสาขาเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้สิทธิ์