วายแอลจี บูลเลี่ยนฯ รายงานราคาทองคำ วันที่ 8 ต.ค. 2562

บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รายงานราคาทองคำ วันที่ 8 ต.ค. 2562 และแนวโน้มการซื้อขายทองคำ

ปัจจัยพื้นฐาน

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 11.29 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวน ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีช่วยของสหรัฐและจีนได้เริ่มต้นการเจรจาการค้ารอบใหม่แล้วในวันจันทร์และอังคารนี้ ขณะรายงานข่าวระบุว่า การเจรจาที่เกิดขึ้นวานนี้เป็นไปอย่างตึงเครียด โดยไม่มีฝ่ายใดส่งสัญญาณการประนีประนอม ด้าน Bloomberg รายงานว่า จีนไม่ต้องการทำข้อตกลงการค้าในวงกว้างตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการ นั่นสร้างความหวาดหวั่นให้กับนักลงทุนว่า การเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าระดับรัฐมนตรีของ 2 ประเทศในวันที่ 10-11 ต.ค.นี้อาจเผชิญกับอุปสรรคซึ่งเป็นปัจจัยกดดันสินทรัพย์เสี่ยง

อย่างไรก็ดี ราคากลับปรับตัวลดลงโดยได้รับแรงกดดันจากการฟื้นตัวของสกุลเงินดอลลาร์ รวมไปถึงรายงานข่าวจากฟ็อกซ์ บิสซิเนสส์ ที่ระบุในทวิตเตอร์ว่า กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า จีนพร้อมที่จะทำข้อตกลงกับสหรัฐในส่วนของการเจรจาที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน จนกดดันให้ราคากลับลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐ รวมไปถึงถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเวลา 00.50 น. ของคืนวันนี้

ปัจจัยทางเทคนิก

หากราคาทองคำยืนเหนือ 1,486-1,483 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นไปในช่วงสั้นเพื่อทดสอบแนวต้านบริเวณ 1,505-1,520 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (แนวต้าน 1,520 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นแนวต้านสำคัญ) อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านสำคัญดังกล่าวได้ แนวโน้มราคายังคงเคลื่อนไหวในกรอบในทิศทางอ่อนตัวลง

กลยุทธ์การลงทุน

เน้นเก็งกำไรตามกรอบ ในทิศทางอ่อนตัวลง โดยอาจพิจารณาบริเวณ 1,486-1,483 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยืนได้อาจเสี่ยงซื้อ โดยมีเป้าหมายที่ 1,505-1,520 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากไม่สามารถทะลุ 1,520 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปได้ อาจเปลี่ยนมาเปิดสถานะขายจะมีความเสียงน้อยกว่า


คำแนะนำ ราคาอาจอ่อนตัวลงทดสอบแนวรับ 1,486-1,483 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากสามารถยืนได้แนะนำเข้าเสี่ยงซื้อทำกำไรระยะสั้นจากการดีดตัวขึ้น โดยรอแบ่งขายทำกำไร ถ้าราคาไม่สามารถผ่านแนวต้านบริเวณ 1,505-1,520 ดอลลาร์ต่อออนซ์