ศูนย์วิจัยกสิกรฯ สำรวจครัวเรือนไทยมอง “ชิมช้อปใช้” เฟส 1 ช่วยลดภาระค่าครองชีพ พร้อมขอรัฐออกมาตรการดูแลค่าครองชีพเพิ่มเติม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 1 โดยผลสำรวจมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

-43.0% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจวางแผนที่จะใช้จ่ายมากกว่า 1,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 3,300 บาทต่อคน ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ ที่วางแผนไปท่องเที่ยวและใช้จ่ายที่ชลบุรี นนทบุรี และสมุทรปราการ

-ครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน มุ่งเน้นการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากห้างสรรพสินค้า และมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายในงบ 1,000 บาทพอดี ขณะที่ครัวเรือนผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อเดือน มุ่งเน้นไปกับการรับประทานอาหารที่ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ และส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเกิน 1,000 บาท

-อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้มีข้อจำกัดในการได้รับสิทธิ์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือไม่เปิดใช้อินเทอร์เน็ต จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่พึงได้รับจากประโยชน์ของมาตรการภาครัฐ

-แม้ครัวเรือนไทยส่วนมาก 78.3% จะมองว่า มาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 1 มีส่วนช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของตนเองได้ แต่ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังอยากให้รัฐบาลมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อมุ่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการลดภาระค่าครองชีพ เช่น ปรับลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การช่วยพยุงค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสารสาธารณะ รวมไปถึงราคาพลังงานในประเทศ