ผวาธุรกิจ”หนี้พุ่ง-กำไรหด” 4กลุ่มหุ้นติดโผ-สัญญาณอันตราย

จับสัญญาณความอ่อนแอภาคเอกชน ชี้ดอกเบี้ยต่ำบริษัทในตลาดหุ้น “สะสมหนี้” เพิ่มสวนทาง “กำไรหดตัว” เผย 4 กลุ่มหุ้น “อาหาร-อสังหาฯ-รับเหมาก่อสร้าง-พลังงาน” หนี้สินต่อทุนพุ่งต่อเนื่อง 3 ปี หลายบริษัทเผชิญภาวะ “หนี้สูง-ขาดทุน” ขณะที่ “PACE” โคม่าหนี้ท่วม 80 เท่า แจ้งแบงก์ไทยพาณิชย์ขอเลื่อนชำระหนี้ แบงก์ชาติเตือน “กันชน” ภาคธุรกิจน้อยลง หลายบริษัทขายหุ้นกู้เพื่อนำเงินไป “ซื้อหุ้นคืน” หวังพยุงราคาหุ้น ไม่ได้ใช้ขยายลงทุน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวในงานเสวนาเครือข่ายบุคลากรด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ช่วงหนึ่งที่ได้ระบุถึงผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำนาน นอกจากปัญหาการแสวงหาผลตอบแทนการลงทุนในลักษณะ search for yield อีกด้านก็พบว่าทำให้ทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนก่อหนี้เพิ่ม โดยพบว่าบริษัททั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยมีอัตราส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) สูงขึ้น

ขณะเดียวกันก็พบว่าช่วงที่ผ่านมาก็มีการเสนอขายหุ้นกู้ความเสี่ยงสูงมากขึ้น ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ D/E เพิ่มสูงขึ้น ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยต่ำหนุนภาคธุรกิจก่อหนี้เพิ่ม ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัว ผลประกอบการของธุรกิจมีทิศทางชะลอลงเช่นกัน แต่มูลค่าตลาดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นกลับเพิ่มมากขึ้น เพราะธุรกิจหลายแห่งไปออกหุ้นกู้ แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อหุ้นคืน เพื่อพยุงราคาหุ้น ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก และภาวะเช่นนี้ทำให้ “กันชนรองรับความเสี่ยง” ของภาคธุรกิจบางลง

บจ.หนี้พุ่ง-กำไรหด

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) ภาพรวมปัญหาหนี้สินของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (debt to equity ratio : D/E) เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2560 บจ.ไทยมี D/E อยู่ที่ระดับ 2.85 เท่า โดยปิดงบการเงินงวดไตรมาส 2/62 พบว่า D/E ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.90 เท่า ซึ่งสวนทางกำไรสุทธิของ บจ.ทั้งตลาดที่ปรับลดลงต่อเนื่อง

โดยปี 2560 กำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ 9.43 แสนล้านบาท และปี 2561 ปรับลดลงเหลือ 9.31 แสนล้านบาท หรือหดตัว 1.30% (YOY) และงบการเงินงวดไตรมาส 2/62 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.59 แสนล้านบาท หดตัว -13.16% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5.29 แสนล้านบาท

4 กลุ่มหลัก D/E เพิ่มขึ้น

นายอภิชาติระบุว่า หากดูในภาพแต่ละเซ็กเตอร์ พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิลดลงมี 4 เซ็กเตอร์คือ กลุ่มอาหาร, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มพลังงาน และในจำนวนนี้มี 40 บริษัทที่ D/E ทะลุเกิน 2 เท่า อย่างไรก็ตาม หากนับรวมหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ก็จะมีมากกว่า 40 ตัวที่มี D/E เกิน 2 เท่า

สำหรับกลุ่มอาหาร พบว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมามี D/E เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2560 อยู่ที่ 1.54 เท่า ปี 2561 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.75 เท่า และเมื่อไตรมาส 2/62 อยู่ที่ 1.77 เท่า ขณะที่กำไรสุทธิของกลุ่มอาหารก็ปรับลดลงจาก 47,156 ล้านบาท มาอยู่ที่ 44,848 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 23,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.64% (YOY)

สำหรับกรณีความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำนาน ทำให้ภาคธุรกิจมีการออกหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงขายในตลาดมากขึ้น และบางส่วนก็เป็นการนำไปซื้อหุ้นคืน นายอภิชาติมองว่า ธปท.คงอยากจะออกมาเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังลงทุน ไม่อยากให้พิจารณาแต่ผลตอบแทนอย่างเดียว ถ้าเกิดเป็นหุ้นกู้บางประเภทที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากข้อมูล หุ้นกลุ่มอาหารถือว่ามีสัดส่วนหนี้ค่อนข้างสูง และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องคือ บมจ.มาลีกรุ๊ป หรือ MALEE ซึ่งปีที่ผ่านมามี D/E อยู่ที่ 2.91 เท่า และสิ้นไตรมาส 2/62 เพิ่มเป็น 3.32 เท่า ส่วนกำไรสุทธิก็ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 273 ล้านบาท และ 6 เดือนแรกปีนี้ ขาดทุนสุทธิ 63 ล้านบาท

รวมทั้ง บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR พบว่าปีที่ผ่านมา D/E อยู่ที่ 3.11 เท่า และสิ้นไตรมาส 2/62 ปรับเพิ่มเป็น 3.91 เท่า ส่วนกำไรสุทธิก็สวนทางคือปรับลดลงต่อเนื่องจากปี 2560 อยู่ที่ 525 ล้านบาท ลดลงเหลือ 272 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และ 6 เดือนแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ 42 ล้านบาท

เพซโคม่าหนี้ท่วม 81 เท่า

นอกจากนี้ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (PROP) พบว่า D/E เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 หนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.22 เท่า ปี 2561เพิ่มเป็น 1.33 เท่า และเมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 1.43 เท่า ขณะที่กำไรสุทธิปี 2560 อยู่ที่ 69,595 ล้านบาท และปี 2561 ลดลงมาอยู่ที่ 67,981 ล้านบาท ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 32,357 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะมีการเร่งซื้อขายและโอนช่วงต้นปีก่อนที่แบงก์ชาติจะมีมาตรการบังคับ LTV ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

โดยหุ้นอสังหาฯที่มีอัตราหนี้สินต่อทุนพุ่งสูงมากก็คือ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE โดย D/E ปี 2561 อยู่ที่ 16.08 เท่า และกลางปีที่ผ่านเพิ่มเป็น 81.64 เท่า ขณะที่ผลประกอบการปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 5,156 ล้านบาท และ 6 เดือนแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ 726 ล้านบาท และล่าสุดบริษัท เพซฯ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ กรณีขอผ่อนผันและขยายเวลาการชำระหนี้ กับธนาคารไทยพาณิชย์ที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ไปเป็นวันที่ 20 พ.ย. 2562

สำหรับหุ้นรับเหมาก่อสร้าง ถือเป็นกลุ่มที่มี D/E เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน จากระดับ 2.49 เท่า เป็น 2.71 เท่า และกลางปีที่ผ่านมาอยู่ 2.73 เท่า ขณะที่กำไรสุทธิปี 2560 อยู่ที่ 2,327 ล้านบาท และปี 2561 ปรับลดลงอยู่ที่ 2,108 ล้านบาท แต่ทั้งนี้หุ้นรับเหมาอาจจะเป็นลักษณะที่มีงานเข้ามาในมือ (backlog) ซึ่งจะมีเงินสดประมาณ 10% เป็นค่าจ้างที่อาจจะยังไม่สามารถรับรู้เป็นรายได้และจะถูกตั้งเป็นหนี้สินไว้ก่อน ทำให้ D/E สูงขึ้น ฉะนั้นในกลุ่มรับเหมาต้องประเมินอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (current ratio) ประกอบด้วย

โดยกลุ่มรับเหมา ถือว่าบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD มี D/E ค่อนข้างสูง ปี 2561 อยู่ที่ 5.9 เท่า และ มิ.ย. 2562 เพิ่มเป็น 6.68 เท่า ขณะที่กำไรสุทธิลดลงต่อเนื่องจากปี 2560 อยู่ที่ 413 ล้านบาท ปี 2561 ลดเหลือ 306 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ 348 ล้านบาท

 สำหรับหุ้นกลุ่มพลังงาน (ENERG) มี D/E เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน จากปี 2560 อยู่ที่ 1.08 เท่า ปี 2561อยู่ที่ 1.11 เท่า และกลางปีที่ผ่านมา 1.23 เท่า ขณะที่กำไรสุทธิก็ปรับลดลงต่อเนื่องจากปี 2560 อยู่ที่ 286,470 ล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 261,630 ล้านบาท และ 6 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 129,666 ล้านบาท หดตัว 20.68% (YOY)

“บินไทย-แสนสิริ” ติดโผ

นายสรพล วีระเมธีกุล นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 62 พบว่าหุ้นที่มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (net debt to equity ratio : N/E) พุ่งมากที่สุดในกลุ่มขนส่งคือ บมจ.การบินไทย (THAI) มี N/E อยู่ที่ 9 เท่า และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์คือ บมจ.แสนสิริ (SIRI) N/E อยู่ที่ 1.8 เท่า สูงที่สุดในกลุ่ม

“ในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว หุ้นอสังหาฯค่อนข้างได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV เนื่องจากมีสต๊อกเหลือค่อนข้างมาก เมื่อเปิดโครงการใหม่ก็ขายไม่ได้ ขณะนี้ D/E สูงจึงต้องกังวล ส่วนเซ็กเตอร์อื่น ๆ อาจจะยังไม่น่ากังวล ยกเว้นเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างกลุ่มปิโตรเคมี หรือ global play ต้องระมัดระวัง อย่างไรก็ดี อาจจะเร็วไปที่จะพูดถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ส่วนใหญ่ D/E ยังอยู่ในระดับ 1 เท่า ซึ่งถ้าย้อนไป 3 ปี หุ้นหลัก ๆ ที่ D/E สูงขึ้นเพราะบริษัทขยายกำลังการผลิต”

บจ.ก่อหนี้ขยายลงทุน

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้อาจจะยังไม่เห็นสัญญาณเสี่ยงในตลาดทุนมากนัก แม้ว่าจะมีหลาย ๆ บริษัทออกหุ้นกู้เสี่ยงสูงกันมากขึ้นในช่วงดอกเบี้ยต่ำ ส่วน D/E ของ บจ.ที่ขยับพุ่งสูงขึ้น อาจจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไม่ใช่ภาพใหญ่ทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ แต่ก็ยอมรับว่าช่วงนี้ทุกฝ่ายกำลังจับตาและระมัดระวัง

“ถ้าดูภาพของ D/E หลัก ๆ จะมาจากการกู้เงินและออกหุ้นกู้ ซึ่งการกู้เงินแบงก์จะระวังอยู่แล้ว ส่วนการออกหุ้นกู้นักลงทุนส่วนใหญ่ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น ที่เหลืออาจเป็นเงินทุนระยะสั้น ๆ ที่อาจจะมีบ้างแต่ไม่ได้เยอะมาก” นายสุกิจกล่าว

หวั่นปีหน้าเสี่ยงหนี้ธุรกิจพุ่งต่อ

ด้านนายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาหลายบริษัทมีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อีค่อนข้างมาก ซึ่งจะเห็นตลาดตราสารหนี้ไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในด้าน company risk เป็นความเสี่ยงเฉพาะในแต่ละบริษัทที่เพิ่มขึ้น โดยจะสังเกตว่าช่วงหลังหลาย ๆ บริษัทหันมาออกหุ้นกู้แปลงสภาพกันมากขึ้น เพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้ D/E ขยับขึ้น เพราะส่วนนี้ยังถูกนับเป็นส่วนของทุน จึงช่วยให้ D/E ไม่ได้พุ่งสูงเกินไปนัก อย่างไรก็ตาม ปีหน้าจะต้องพิจารณาว่ามาตรฐานบัญชีใหม่ จะกำหนดให้หุ้นกู้แปลงสภาพบันทึกเป็นส่วนของหนี้หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะทำให้ D/E ของบริษัทเหล่านั้นพุ่งสูงมากขึ้นในปีหน้า

“สำหรับบริษัทที่มีหนี้สูงอย่างเดียวไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากนัก ถ้าความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตยังดี คือต้องดูทิศทางการเติบโตของกำไรว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ซึ่งถ้าสวนทางกันก็ต้องระมัดระวัง ที่ต้องระวังคือหุ้นที่ D/E สูง แล้วทิศทางกำไรในอนาคตไม่เพียงพอที่จะมาชำระหนี้ได้ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อกระแสเงินสดของบริษัทในอนาคตด้วย” นายณัฐชาตกล่าว

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการนักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า หนี้สินต่อทุน (D/E) ที่พุ่งสูงขึ้นของแต่ละ บจ. ต้องพิจารณาหลายปัจจัย อาจต้องดูว่ามีการลงทุนที่มากเกินไป หรือบริษัทมีกำไรที่แย่ลงหรือไม่ ภาวะตลาดขณะนี้ดูเหมือนสัญญาณไม่เอื้อต่อการฟื้นตัว การทำธุรกิจตอนนี้อาจจะไม่เห็นผลมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจฝืด จึงอาจจะต้องใช้เวลาต้องดูทีละเปลาะ

“หุ้นที่ D/E สูงมาก ๆ มันก็ไม่ดีอยู่แล้ว ฉะนั้นเราต้องหาสาเหตุก่อนว่าทำไมบริษัทนี้ถึงมี D/E สูง การจะเข้าไปลงทุนก็ต้องระมัดระวัง ขณะที่โดยรวมภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกที่แย่ เศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า จึงอาจจะอยู่ในช่วงของเฟสการลงทุนเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปก่อน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้บริษัทที่เข้าซื้อหุ้นคืนรวมประมาณ 20 บริษัท ซึ่งมีหลายบริษัทที่มีการเสนอขายหุ้นกู้ในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเพื่อใช้ขยายการลงทุน แต่ขณะเดียวกันก็มีการประกาศซื้อหุ้นคืน อาทิ กรณี บมจ.บ้านปู, บมจ.แอล.พี.เอ็น.ฯ, บมจ.แสนสิริ เป็นต้น