ภากร ปีตธวัชชัย ดัน‘ตลาดหุ้นไทย’ เชื่อมโลก ชู 20 ล้านบัญชี ‘ออม-ลงทุน’

ผ่านมาเกือบปีครึ่งสำหรับการก้าวขึ้นรับตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คนที่ 13 ที่มีวาระ 5 ปี นับตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2561 ของ “ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” แม้ยังไม่ถึงครึ่งทาง แต่ที่ผ่านมาได้ผลักดันพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯอย่างต่อเนื่อง

“ดร.ภากร” ให้สัมภาษณ์พิเศษเครือมติชน และ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้องการทำให้ตลาดทุนเป็นแหล่งออมเงินและลงทุนสำหรับประชาชนทุกคน ซึ่งไม่เฉพาะการลงทุนในประเทศ แต่สามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้ด้วย รวมถึงผลักดันให้บริษัทสตาร์ตอัพเล็ก ๆ สามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯได้ ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้ ตลท.จำเป็นต้องสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สื่อมวลชน ฯลฯ เพราะที่ผ่านมา คนไทยยังเข้าใจตลาดทุนไม่ครบถ้วน

ที่ผ่านมา คนจะมองตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยรวมทั้ง SET, ตลาด mai, ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เรียกรวม ๆ ว่าเป็นการลงทุน แต่มาวันนี้นักลงทุนและผู้ร่วมตลาดจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกัน เช่น คนที่ลงทุนใน SET กับลงทุนใน mai อาจเป็นคนละกลุ่ม คนที่เข้ามาในตลาด TFEX ชอบเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง ดังนั้น เรื่องแบรนดิ้งของ ตลท. ต้องจัดวางตำแหน่งแต่ละส่วนให้ชัดเจน แล้วสื่อสารออกไปให้ชัดเจน

“กำลังเริ่มคิดกันว่า เราจะตั้งแบรนด์ไปเลยมั้ยว่า SET คือ หุ้นประเภทใหญ่ stability ลงทุนระยะยาว ส่วนหุ้น mai จะเป็นหุ้น high growth ส่วน TFEX จะเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่”

นอกจากนี้ อนาคตจะมี “LiVE platform” จะเป็นอีกหนึ่งตลาด เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอี ซึ่งได้ให้เร่งดำเนินการให้ชัดเจนกลางปี 2563

ตั้งเป้าผู้ลงทุนเพิ่มเป็น 20 ล้านบัญชี

“ดร.ภากร” บอกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว การจะเพิ่มบัญชีนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นเรื่องยากมาก เพิ่มขึ้นได้แค่ปีละ 4 หมื่นบัญชี แต่ช่วงหลังนี้เพิ่มได้อย่างน้อยปีละ 1 แสนบัญชี ต่อเนื่องกัน 5 ปีแล้ว จากการร่วมมือกับแบงก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบงก์ที่ยังไม่เคยจับกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่เป็นลูกค้าแบงก์ให้เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ในตลาดทุน

แต่ระดับ 1 แสนบัญชีต่อปียังไม่น่าพอใจ ต้องการขยับให้ขึ้นไปถึง 20 ล้านบัญชีให้ได้ ตัวเลข 20 ล้านบัญชีที่ว่า จะหมายถึงทุกคนที่ใช้ตลาดทุนเพื่อการออม ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่บัญชีหุ้น หรือกองทุนรวม เป็นประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ได้

“ปัจจุบันคนไทยมีบัญชีลงทุนผ่าน บล. ประมาณ 2 ล้านบัญชี ผ่านกองทุนรวม 6 ล้านบัญชี แถมเป็นบัญชีที่ซ้ำกัน บัญชีหุ้นจริง ๆ อาจเหลือ 1.5 แสนคน ถ้าจะทำให้ได้สัก 20 ล้านบัญชี จะต้องทำอย่างไร อันนี้คือโจทย์ที่เราคิด ต้องมองว่าถ้าจะขยายก้อนนี้ จะต้องมี strategy และจะต้องเป็น digital strategy”

หนุนรายย่อย-ดันต่างชาติกระจายลงทุน

ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยมีบทบาทลดลงไป แต่ถ้าดูจำนวนไม่ได้ลดลง เพียงแต่นักลงทุนสถาบันกับ
นักลงทุนต่างชาติมีบทบาทเพิ่มขึ้นมากกว่า ตลท.คงปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ ต้องสร้างฐานให้กว้างขึ้น และพัฒนานักลงทุนรายย่อยขึ้นมา สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นผลในแต่ละปี

“เรามีตัวเลขวิเคราะห์ว่า บัญชีใหม่ที่เข้ามาจะเทรดในปีแรกเป็นอย่างไร ปีที่สอง ปีที่สามอย่างไร เทรดหุ้นประเภทไหน เราใช้ข้อมูลเยอะมาก เพราะเชื่อว่าเดี๋ยวนี้ One Size Fits  All ไม่มีแล้ว”

ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นและมีบทบาทในตลาดทุนไทยอย่างมากนั้น จะให้ต่างชาติหันมาสนใจหุ้นที่ไม่ใช่แค่ใน SET50 แต่ขยายออกไปมากขึ้น จะต่อท่อไปออก Bloomberg ด้วย

ดึงหลักทรัพย์ทั่วโลกเทรดในไทย

“ดร.ภากร” กล่าวว่า มีแนวคิดว่าจะนำหุ้นต่างประเทศ อาทิ หุ้นจากอเมริกา เป็นต้น เข้ามาจดทะเบียนในตลาด
หลักทรัพย์ฯไทยด้วย ในรูปแบบดิจิทัล ออกมาเป็น token แล้วไปซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศ ผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่าน Stable Coin ขณะเดียวกัน ตลท.ก็ได้รับนโยบายจากรองนายกฯ สมคิดจาตุศรีพิทักษ์ ให้ผลักดันการจดทะเบียนหลักทรัพย์ข้ามตลาด กับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งไม่ได้มองแค่ตลาดฮ่องกง แต่มองตั้งแต่กลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) อาเซียน นอกอาเซียน ยุโรป เพราะในอนาคต นักลงทุนจะออกไปได้ลงทุนต่างประเทศเองอยู่แล้ว

“โจทย์คือเราต้องดึงสินทรัพย์ ดึงหลักทรัพย์ต่าง ๆ เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯของเราให้ได้ จะด้วยในรูปแบบไหน เช่น depositary receipt (DR) หรือ ETF (exchange traded fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ) หรือในรูปสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่เช่นนั้นจะถูกมองข้าม ที่แย่กว่าคือ ข้อมูลต่าง ๆ จะไม่เห็นเลย เงินออกไปอยู่ข้างนอกหมด ไม่ผ่าน ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ไม่ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ผ่าน ตลท. เราอยากจะทำกับฮ่องกง เพราะฮ่องกงเป็นจุดเริ่มต้นที่ขยายต่อไปเมืองจีน หากไปเซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น จะยากกว่าผ่านฮ่องกง อันนี้จึงเป็นโจทย์ที่รับจากท่านรองนายกฯมา”

พัฒนาเครื่องมือลงทุน-ต่อยอดธุรกิจ

“ดร.ภากร” บอกว่า แผนงานที่จะขับเคลื่อนในระยะข้างหน้า มี 2 ส่วน ส่วนแรก คือ เดินหน้างานที่ทำมาแล้ว แต่ยังไม่เสร็จ อย่างเช่น แพลตฟอร์มลงทุนที่เพิ่งทำเฟสแรกไป ส่วนเฟส 2 ต้องกว้างขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น การที่จะทำให้ในอนาคต เรื่องการ settlement ของ บลจ. มีประสิทธิภาพขึ้นเป็นแบบ paperless โดยปัจจุบันนี้ เวลากองทุนรวมซื้อตราสารหนี้ ทำผ่านโทรศัพท์ และเป็นกระดาษ ซึ่งจะทำให้เป็นดิจิทัล ให้ทุกอย่างต้นทุนถูกลง เรื่องระบบการชำระเงิน ปัจจุบันยังเป็นแค่การชำระธุรกรรมของหุ้น ในอนาคตจะดึงพวกบริการโอนเงินปันผล/ดอกเบี้ย เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของ บจ. รวมถึงการโอนเงินของ บล., บลจ. หรือประกัน มาใช้ระบบนี้

นอกจากนี้้ จะมีระบบเปิดบัญชี มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) แบบไม่เห็นหน้า ซึ่งหากจะทำข้ามหน่วยงานผ่าน NDID ทาง ตลท.ก็เป็นตัวกลางให้ได้ ส่วนต่าง ๆ มีแอปพลิเคชั่นมาเชื่อมต่อได้เลย เพียงแต่ค่าธรรมเนียมธุรกรรมควรจะถูกกว่า 100 บาท ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 150 บาท อาจทำให้ NDID เกิดยาก เพราะคนจะไปใช้ช่องทางอื่นแทน

การทำธุรกิจของ ตลท.จะมีทั้งตั้งบริษัทลูก อย่างเช่น ปัจจุบันก็มี อาทิ Fundconnext, FinNet ฯลฯ และการเข้าไปจับมือเป็นกิจการร่วมค้า (JV) กับคนที่เก่ง ๆ ในแต่ละด้าน เพื่อเสนอบริการ โดยไม่ต้องถือหุ้น 100% กำลังพิจารณา JV กับผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ ที่เป็นระดับสากล ในเรื่อง green bond, green project ซึ่งจะเป็นอีกทางที่ช่วยสนับสนุน บจ.ไทยที่ขณะนี้เกิดกระแสการลงทุนหุ้นยั่งยืน (ESG) กันมากขึ้น

ชู “เทคโนโลยี-ข้อมูล” รับมือความผันผวน

สำหรับภาพการลงทุนในปี 2563 “ดร.ภากร” มองว่า โลกในระยะข้างหน้าเริ่มอยู่ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการเปิดรับเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และเชื่อมต่อกันได้หมด ความผันผวนจะมากขึ้นแน่นอน แต่โจทย์คือเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน เวลามีข่าวไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง ในตลาดทุน เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยได้ ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันราคาหุ้นจะขึ้นลงเร็วมาก เพราะเกิดจากการที่เมื่อหุ้นมันลงมากเกินไป ก็จะมีแรงซื้อกลับคืน หรือถ้าหุ้นขึ้นมากเกินไปก็มีการขายลงมา

นอกจากนี้ ยังมีโจทย์เรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่มีข้อมูลต่าง ๆ ไหลออกมาเยอะมาก ก็ทำให้เกิดความผันผวนมากขึ้น โดยหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯก็คือ ทำอย่างไรให้นักลงทุนมีข้อมูลอย่างเพียงพอ มีการงานวิจัยออกมารองรับมากขึ้น เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลไปใช้เพื่อตัดสินใจมากขึ้น


ทั้งหมดเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการพัฒนาเพื่อยกระดับตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นแหล่งออม แหล่งลงทุน และมีอีกหลากหลายภารกิจที่ต้องขับเคลื่อน รวมทั้งริเริ่มขึ้นใหม่