ยูโอบี มั่นใจเอสเอ็มอีทั้งปีโต 3% ผนึกลาซาด้าปล่อยกู้ร้านค้า

ยูโอบี ลั่นปี 63 เน้นโตสินเชื่อเอสเอ็มอีแบบระมัดระวัง ขอโตแค่ 3% พร้อมคุมคุณภาพหนี้ไม่เกิน 5% ระบุ 11 เดือนแรก ปล่อยกู้ 1.4 หมื่นล้านบาท ล่าสุด จับมือลาซาด้า-เบนโตะเว็บปล่อยสินเชื่อร้านค้า ตั้งเป้าปีแรก 500 ล้านบาท

นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มียอดขายไม่เกิน 400 ล้านบาท ในช่วง 11 เดือน ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีจะจบอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 3% ยอดสินเชื่อคงค้างเอสเอ็มอีอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 4.6% ถือว่าต่ำกว่าในระบบอุตสาหกรรมที่เอ็นพีแอลขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลัก

สำหรับแนวโน้มธุรกิจเอสเอ็มอีในปี 2563 ธนาคารคาดว่ายอดการปล่อยสินเชื่อใหม่จะใกล้เคียงกับปีนี้อยู่ที่ 3% สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารจะพยายามขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ในการต่อยอดธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่เอ็นพีแอลพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 5% เนื่องจากในปี 2563 มองว่ายังคงมีปัจจัยความท้าทายเข้ามากระทบอุตสาหกรรมอยู่ ดังนั้นการปล่อยสินเชื่อปีหน้าธนาคารเชื่อว่า ยังอยู่ในโหมดระมัดระวัง และปล่อยสินเชื่ออย่างรัดกุมอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสินเชื่อ

อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีหันมาทำธุรกิจบนช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อทำการตลาดและสร้างยอดขายให้กับธุรกิจ ดังนั้น ธนาคารจึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ธนาคารจะสร้างฐานการเติบโตใหม่ๆ จากธุรกิจออนไลน์ ล่าสุด ธนาคารได้จับมือกับลาซาด้า แพลตฟอร์ม ธุรกิจซื้อขายออนไลน์ และเบนโตะเว็บ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการระบบของร้านค้าออนไลน์ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือร้านค้า ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และให้ร้านค้ามีเครื่องมือในการช่วยจัดการระบบร้านค้าบนออนไลน์แบบครบวงจร

ทั้งนี้ ธนาคารจะเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้กับร้านค้าที่ทำธุรกิจอยู่บนแพลตฟอร์มของลาซาด้า ผ่านสินเชื่อ “UOB BizMerchant” หรือ สินเชื่อไม่มีหลักประกันสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยลูกค้าสามารถยื่นขอสินเชื่อเว็บไซต์ลาซาด้า หรือผ่านสาขาธนาคาร โดยวงเงินสินเชื่อขั้นต่ำ 2 แสนบาท สูงสุด 1 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระภายใน 12 เดือน ภายใต้ดอกเบี้ยต่ำที่ MRR+7 หรืออัตราดอกเบี้ยที่ 14.75% แต่หากเปิดบัญชีสินเชื่อพร้อมเปิดบัญชีเงินฝากระแสรายวัน ร้านค้าจะได้ดอกเบี้ยพิเศษเพียง 12% เท่านั้น

“ธนาคารตั้งเป้าในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อร้านค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซราว 500 ล้านบาทภายใน 1 ปี หรือคาดว่าได้มาร์เก็ตแชร์ร้านค้าราว 10% หากเทียบกับร้านค้าบนลาซาด้าในปัจจุบัน ที่มีการค้าขายบนลาซาด้าสม่ำเสมอราว 2 หมื่นร้านค้า โดยผู้ประกอบการ ที่สามารถสร้างยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ต่งๆ รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนหมุนเวียนที่ทันท่วงที”