สรรพสามิต เคลียร์ปมภาษี ห่วงเศรษฐกิจชะลอ-แตะเบรกยกแผง

แฟ้มภาพ

ช่วงที่ผ่านมาปรากฏข่าวว่า กรมสรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมในหลายสินค้า โดยที่่มีความชัดเจนไปแล้วก็คือ การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ ที่เปลี่ยนไปจัดเก็บภาษีตามปริมาณการปล่อยมลพิษ (CO2) แทนเก็บตามขนาดเครื่องยนต์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 นี้ อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าอีกหลาย ๆ ตัวที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวจะมีความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมหรือไม่ และแนวทางจะเป็นอย่างไร “พชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ไว้ ดังนี้

ศก.ชะลอท้าทายเป้าเก็บรายได้

“พชร” กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2563 กรมสรรพสามิตได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ภาษีที่ 642,000 ล้านบาท ขณะนี้ใกล้ครบไตรมาสแรก (ต.ค.-ธ.ค. 2562) แล้ว โดยกรมอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขการจัดเก็บ ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงานภาษีที่เก็บได้สูงเกินคาดเข้ามา ก็คือ “น้ำมัน” เนื่องจากเป็นฤดูท่องเที่ยว รวมถึงปัจจัยที่มีการปิดโรงกลั่นซ่อม 3 แห่งในประเทศ จึงมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาขาย ทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้นด้วย ขณะที่ภาษีเบียร์ ภาษีสุรา ก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามภาวะปกติ ส่วนภาษีรถยนต์ชะลอตามยอดขายรถยนต์ แต่ภาษีรถจักรยานยนต์เก็บได้สูงกว่าปีที่แล้ว อาจจะเป็นเพราะปีหน้าจะมีโครงสร้างภาษีใหม่ จึงมีการเร่งซื้อกัน ด้านภาษียาสูบก็น่าจะเป็นไปตามแนวโน้มที่ทางกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ปัจจุบันลดลง และการขยายเวลาคงการจัดเก็บ 2 อัตราไว้อีก 1 ปีด้วย

ขณะที่ภาษีความหวานน่าจะเก็บได้ตามเป้า แต่สิ่งสำคัญ คือ ตอนนี้ตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้านค้าอื่น ๆ เริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ที่ลดปริมาณความหวานลง ออกมาให้เลือกซื้อหลากหลายมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่อยากให้เป็น เนื่องจากกรมทำเรื่องนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เก็บภาษีได้สูงขึ้นเป็นหลัก สิ่งที่อยากได้ คือ การเพิ่มทางเลือกอื่นในการบริโภคให้ประชาชน

การจัดเก็บรายได้ในช่วง 9 เดือนที่เหลือก็ต้องขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจด้วย เพราะสมมุติฐานการจัดเก็บที่ประมาณการไว้อาจจะเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมยังคงยึดตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 642,000 ล้านบาท

ชะลอเก็บภาษี “ความเค็ม”

สำหรับการจัดเก็บภาษีความเค็มที่กล่าวถึงกันก่อนหน้านี้ อธิบดีสรรพสามิตกล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องรอให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศปริมาณโซเดียมที่ประชาชนบริโภคในแต่ละวัน ซึ่งเป็นค่ากลางเป็นมาตรฐานออกมา ซึ่งทาง WHO ระบุว่า จะประกาศออกมาในปี 2563 กรมจึงต้องรอให้มีการประกาศออกมาก่อน หลังจากนั้นจึงจะสามารถนำมาใช้เป็นฐานในการศึกษา เพื่อค่าที่เหมาะสมสำหรับคนไทย เพื่อกำหนดอัตรา และแนวทางการจัดเก็บภาษีต่อไป นอกจากนี้การจะเก็บภาษีเพิ่มในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวคงไม่ค่อยเหมาะสมนัก

“ภาษีความเค็มคงไม่ทันออกมาในปีงบประมาณ 2563 เพราะต่อให้ภาครัฐมีนโยบายออกมาได้ ก็ไม่ใช่ว่าจะจัดเก็บภาษีได้เลย ต้องมีช่วงเวลาให้ผู้ผลิตปรับตัว อาจจะเป็น 2 ปี 4 ปี หรือ 5 ปี คงไปเร่งรัดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แค่รัฐมีนโยบายจะทำเรื่องนี้ ตอนนี้ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์สินค้าที่ลดโซเดียมออกมาจำหน่ายแล้ว” นายพชรกล่าว

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีความเค็มในต่างประเทศขึ้นกับนโยบายแต่ละประเทศ อย่างกรณีประเทศสิงคโปร์ ใช้วิธีการห้ามโฆษณาสินค้าที่มีความเค็ม ส่วนที่ใช้มาตรการทางภาษีก็มีทางยุโรป อเมริกาใต้ เป็นต้น โดยประเทศที่จัดเก็บภาษีก็จะโฟกัสเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ไม่รวมเครื่องปรุง อาหารปรุงสด และของขบเคี้ยว

ขึ้นภาษีรถเก่าผิดหลักการ-ทำไม่ได้

“พชร” กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอเรื่องกองทุนรถยนต์เก่า เป็นแนวคิดจากภาคเอกชน แต่ก็ยังไม่เห็นเสนอมาให้พิจารณา ซึ่งหากเอกชนต้องการทำก็ควรใช้หลักการด้านการตลาด การจะให้แรงจูงใจด้านภาษีคงทำไม่ได้ เนื่องจากหลักการของภาษีสรรพสามิตเก็บจากผู้ผลิต ณ โรงงานอุตสาหกรรม เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถไปเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นรายปีได้

“รถยนต์ใช้กระบวนการต่อทะเบียนผ่านทางกรมการขนส่งทางบกอยู่แล้ว ซึ่งอัตราที่ขนส่งเก็บก็จะเพิ่มขึ้นทุกปี จนถึงอัตราสูงสุด หลังจากนั้นก็จะเป็นอัตราเดียวต่อไป โดยการจะใช้ภาษีสรรพสามิตคงทำไม่ได้ เพราะผิดหลักการ” นายพชรกล่าว

สิ่งที่กรมสรรพสามิตได้หารือกับผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ และจะผลักดันต่อไปก็คือ การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว โดยกระทรวงการคลังมีนโยบายให้ปัดฝุ่นนำเรื่องนี้มาพิจารณาใหม่ จากเดิมที่ชะลอเสนอร่างกฎหมายไป เพราะเกรงว่าจะซ้ำซ้อนกับกฎหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ขณะนี้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวพับไปแล้ว จึงคิดว่าจะเสนอกฎหมายของกรมในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งจะปรับปรุงให้เปิดช่องไว้สำหรับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีการใช้แบตเตอรี่ด้วย ไม่เฉพาะรถยนต์

“เราเชิญเอกชนมาหารือ ทุกคนก็เห็นด้วยว่าเป็นประโยชน์เพราะถ้ามีการผลิตก็ต้องพูดถึงปลายทางว่า ถ้าแบตเตอรี่ครบอายุแล้วต้องทำอย่างไร โดยการผลิตในประเทศไม่มีปัญหา เพราะมีเงื่อนไขที่ได้รับการส่งเสริมบีโอไอ อยู่แล้วว่า แผนกำจัดซากแบตเตอรี่จะต้องเป็นอย่างไร แต่ที่กังวล คือ รถนำเข้า”

สำหรับแนวทางก็คือ การนำเข้าจะต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมเข้ากองทุน ในอัตราไม่เกิน 1,000 บาท/แบตเตอรี่ 1 ยูนิต ขึ้นกับความจุ ซึ่งจะเป็นเหมือนเงินมัดจำไว้ โดยผู้ประกอบการจะบวกไว้ในราคารถ ดังนั้น เมื่อผู้บริโภครายสุดท้ายนำไปส่งคืน ก็จะได้เงินส่วนนี้คืน หรือหากไม่คืน ทางกองทุนก็จะต้องเป็นผู้จัดการ

ภาษี “กัญชา-สตรีมมิ่ง” แค่ศึกษา

ส่วนความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีกัญชานั้น “พชร” กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ และการศึกษาเป็นหลัก ซึ่งส่วนนั้นกรมก็ไม่เก็บภาษีอยู่แล้ว แต่หากอนาคตมีการเปิดให้ใช้กัญชาเชิงพาณิชย์ได้ จึงจะเข้าไปจัดเก็บภาษี โดยกรมก็มีการตั้งแท่นศึกษาเรื่องนี้เอาไว้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศก็เปิดให้ทำเชิงพาณิชย์ แต่ก็กำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม ส่วนของไทยยังติดข้อกฎหมาย

ด้านแนวคิดที่จะเก็บภาษีจากผู้ให้บริการสตรีมมิ่งออนไลน์ก็คงไม่จัดเก็บแล้ว เพราะไม่ต้องการจัดเก็บซ้ำซ้อนกับที่ทางกรมสรรพากรจะดำเนินการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการจากต่างประเทศ หรือ e-Business

ภาษี “น้ำมันเครื่องบิน” ลดยาก

ส่วนที่ผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำเรียกร้องให้ลดภาษีน้ำมันลงนั้น ยังรอฟังคำตอบจากสายการบินอยู่ว่า หากรัฐลดภาษีสรรพสามิตให้แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร หากให้คำตอบได้ชัดเจนก็อาจจะพิจารณา ซึ่งทางฝ่ายนโยบายก็ให้ดูว่า หากไปลดภาษีแล้วจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้จริงหรือไม่


“เพราะในข้อเท็จจริง ต้นทุนขนส่งทางอากาศก็ถือว่าต่ำที่สุดแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งประเภทอื่น เราถึงมีการปรับเพิ่ม ซึ่งก็ไม่ได้สูง” นายพชรกล่าว