เศรษฐกิจฝืด “บริษัทเงินกู้” ผุดพรึ่บ KTC-TU ร่วมวงปล่อยกู้รากหญ้า

เศรษฐกิจซบเซา ประชาชนรากหญ้าขาดสภาพคล่อง ดันธุรกิจ “ปล่อยกู้รายย่อย” เบ่งบาน สินเชื่อโตกระฉูด คลังเผยยอดขอไลเซนส์ “พิโกไฟแนนซ์-พิโกพลัส” ทั่วประเทศพุ่ง 1,254 ราย “นครราชสีมา” แชมป์จังหวัดที่มีบริษัทยื่นขออนุญาตสูงสุดกว่า 100 ราย ตามด้วย “กรุงเทพฯ-ขอนแก่น” ชี้ 3 ปีแรกยอดปล่อยกู้กว่าสี่พันล้านบาท หนี้เสียเฉียด 12% วงในชี้ตลาดใหญ่-เสี่ยงสูง แบงก์พาณิชย์เจาะไม่ถึง ธุรกิจใหญ่ “เคทีซี-ทียู” โดดร่วมวงขอไลเซนส์พิโกไฟแนนซ์ปล่อยกู้รายย่อย ขณะที่ “เมืองไทย แคปปิตอล” ขาใหญ่นาโนไฟแนนซ์ เร่งขยายสาขาตีกันคู่แข่ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าจากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนระดับฐานรากเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ทั้งจากปัญหาการค้าขายที่ซบเซา แรงงานที่ถูกเลิกจ้างหรือปรับลดค่าล่วงเวลา รวมทั้งภาคเกษตรที่รายได้ลดลงจากปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ หรือได้รับภัยพิบัติทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง ทำให้ธุรกิจปล่อยกู้รายย่อยกลายเป็นหนึ่งในที่พึ่งสำคัญ

แห่ขอไลเซนส์พิโกฯ 1,254 ราย

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ที่กระทรวงคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือ”สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์” จนถึงล่าสุด ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2562 พบว่ามีการขออนุญาตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยประมาณ 3%ต่อเดือน และใบอนุญาตประเภท “พิโกพลัส” ที่เริ่มให้ขออนุญาตเมื่อ มี.ค. 2562 มีคำขอเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% ต่อเดือน

ข้อมูลของ สศค.ระบุว่า นิติบุคคลยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์รวมทั้งสิ้น 1,254 ราย ใน 76 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 110 รายกรุงเทพฯ 96 ราย และขอนแก่น 65 ราย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตรวมทั้ง 2 ประเภท จำนวน 716 ราย ใน 72 จังหวัด โดยได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 619 ราย ใน 68 จังหวัด

ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอไลเซนส์ “พิโกไฟแนนซ์” ต้องมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ปล่อยกู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี และไลเซนส์ “พิโกพลัส” ต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ปล่อยกู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยไม่เกิน 36% สำหรับวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทและวงเงินส่วนที่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ต่อปี โดยเป็นการปล่อยกู้ทั้งแบบที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (จำนำทะเบียนรถ) และแบบไม่มีหลักประกัน

“พิโกพลัสขณะนี้มีผู้ยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 121 ราย ใน 46 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เดิมซึ่งได้รับใบอนุญาตแล้ว และได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 10 ล้านบาท แล้วมาขอเปลี่ยนใบอนุญาตเป็นพิโกพลัส มีจำนวน 78 ราย ใน 38 จังหวัด เพื่อที่สามารถขยายการปล่อยกู้วงเงินต่อรายมากขึ้น ส่วนที่มายื่นคำขอใหม่มี 43 ราย โดยทั้งหมดนี้มีผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว 15 รายใน 8 จังหวัด”

ปล่อย 4 พันล้านหนี้เสีย 11.93%

นายพรชัยกล่าวว่า สำหรับยอดการปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และพิโกพลัส ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2562 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมรวม 160,596 บัญชี มูลค่า 4,245.20 ล้านบาท คิดเป็น วงเงินเฉลี่ย 26,434.03 บาทต่อบัญชี แบ่งเป็น สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 79,921 บัญชี เป็นเงิน2,310.25 ล้านบาท หรือ 54.42% ของยอดสินเชื่ออนุมัติ และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 80,675 บัญชี เป็นเงิน 1,934.95 ล้านบาท คิดเป็น 45.58%

ขณะที่ปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 82,946 บัญชี เป็นเงิน 2,257.05 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือน รวม 10,422 บัญชี คิดเป็นเงิน 306.63 ล้านบาท หรือ 13.59% ของยอดสินเชื่อคงค้าง และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวม 9,584 บัญชี คิดเป็นเงิน 269.34 ล้านบาท หรือ 11.93% ของยอดสินเชื่อคงค้าง

ทั้งนี้ การให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจอย่างถูกต้อง ไปพร้อม ๆ กับการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งผลการดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดสะสมนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นเดือน พ.ย. 2562 มีจำนวนรวม 5,340 คน

KTC-TU ร่วม “พิโกไฟแนนซ์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกันพบว่ามีธุรกิจรายใหญ่ที่สนใจมองเห็นโอกาสในตลาดนี้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ยังเข้าไม่ถึง รวมทั้งไม่กล้าปล่อยกู้ โดยล่าสุดบริษัทที่ได้รับไลเซนส์พิโกพลัส มี 4 บริษัทลูกของ บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) รวมอยู่ด้วย คือ บริษัท เคทีซี พิโก (ปทุมธานี), บริษัท เคทีซี พิโก (สมุทรปราการ), บริษัท เคทีซี พิโก (สมุทรสาคร) และบริษัท เคทีซี พิโก (ชลบุรี) โดยกำหนดเปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา จากก่อนหน้านี้มี บริษัท เคทีซี พิโก (กรุงเทพฯ) ได้รับไลเซนส์และเปิดดำเนินการไปตั้งแต่เดือน ก.ย. 2562

ก่อนหน้านี้ นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เคทีซี ระบุถึงแผนธุรกิจปี 2563 ว่า เคทีซีจะปูพรมขยายธุรกิจใหม่ นอกเหนือจากธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เพื่อเสนอสินเชื่อให้กับผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย ทั้งสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน, พิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทยอยเปิดให้บริการแล้ว และคาดว่าทั้ง 3 ธุรกิจใหม่นี้จะเริ่มทำกำไรใน 18-24 เดือน

นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อเดือน พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนียน จำกัด (มหาชน) ก็ได้ตั้งบริษัทพิโกไฟแนนซ์ขึ้นมา 2 บริษัท คือ บริษัท ทุนธนศิริ (สมุทรปราการ) จำกัด บริษัท ทุนธนศิริ (ชลบุรี) จำกัด ทุนจดทะเบียนบริษัทละ 10 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้เมื่อปี 2560-2561 ได้ตั้งบริษัท ทุนธนศิริ จำกัด และบริษัท ทุนธนศิริ (สงขลา) จำกัด

ขณะที่นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทเพิ่งได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด พร้อมเดินหน้ารุกธุรกิจปล่อยสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ภายใต้ชื่อ “รถทำเงิน” โดยเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และจัดทัพทีมขายบุกตลาดทั่วประเทศ

MTC เร่งขยายสาขาตีกันคู่แข่ง

ขณะที่นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) ที่ทำธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ และนาโนไฟแนนซ์ กล่าวว่า ในปี 2563 นี้ บริษัทตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อคงค้างเติบโต 20-25% โดยมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 600 แห่ง จากสิ้นปี 2562 ที่มีสาขาอยู่กว่า 4,107 แห่งทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะทำกำไรเติบโตได้ในอัตราที่สูงขึ้น เนื่องมาจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง เป็นผลจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่บริษัทได้รับการปรับอันดับเครดิตเรตติ้งจาก BBB เป็น BBB+ ในปีที่ผ่านมา

ส่วนภาวะการแข่งขันในปีนี้ นายชูชาติกล่าวว่า ปีนี้มีผู้เล่นหน้าใหม่ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดอีก 2-3 ราย รวมทั้งผู้เล่นรายเก่าที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว แต่เนื่องจาก MTC มีสาขาครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว และมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ การให้บริการที่ดี จึงทำให้ลูกค้ามี loyalty ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้เล่นใหม่ที่จะเข้ามา

ทั้งนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ในส่วนผู้ได้รับใบอนุญาต “นานาไฟแนนซ์” จาก ธปท. ล่าสุดมีจำนวน 39 ราย มีการปล่อยกู้ 1.23 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อคงค้าง 1.97 หมื่นล้านบาท

ติดปัญหาขั้นตอนอนุมัติล่าช้า

นายบูรพงศ์ วรรักษ์ธารา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูราพาณิชย์ จำกัด ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ จังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าความตื่นตัวในการขอจดทะเบียนพิโกไฟแนนซ์มีอยู่ค่อนข้างมาก แต่ติดอยู่ที่การอนุมัติล่าช้ามาก เช่น กรณีของบริษัทยื่นขอประกอบธุรกิจพิโกพลัสมา 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีการตอบรับจากกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับผู้ประกอบการหลายราย

“การได้ใบอนุญาตล่าช้ากระทบต่อการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบมาก เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถวางแผนได้ ขณะเดียวกัน NPL ค่อนข้างเยอะ ผมมองอยู่ที่ประมาณ 10% โดยสถานการณ์เก็บหนี้ยากขึ้น แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นหนี้เสีย”

ด้านนายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมทุนจดทะเบียนพิโกเพิ่มขึ้นไม่สูงมากนัก ตอนนี้มีการยื่นขอใบอนุญาตพิโกพลัสไป 121 ราย ขณะนี้ผ่านการอนุมัติแค่ 15 ราย โดยสถานการณ์หนี้เสียตอนนี้อยู่ที่ 11.93% จากยอดสินเชื่อสะสม 4,245 ล้าน คาดว่าปีนี้จะมีโอกาสหนี้เสียขยับสูงขึ้นเล็กน้อยแบงก์เจาะเข้าไม่ถึง

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่าการที่ธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ๆ อย่างพิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อจำนำทะเบียน เติบโตได้ดีและมีคนเข้ามาทำธุรกิจกันมากขึ้นนั้น น่าจะเป็นการเข้ามาจับกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อแบงก์ ขณะเดียวกันแบงก์ก็ยังปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงบัตรเครดิตเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 นี้ คาดว่า สินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักประกันจะยังโตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.6 แสนล้านบาท ส่วนบัตรเครดิตก็น่าจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท

แห่ตั้งบริษัทปล่อยกู้ทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการตรวจสอบการจดทะเบียนตั้งบริษัท ในหมวด 64929 (การให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด กิจการรับจำนอง รับจำนำ ขายฝาก เพื่อเป็นการรับประกันการให้กู้ยืม) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ก.ค.-ธ.ค. 2562) พบว่า มีบริษัทที่จัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 120 บริษัท โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานอาทิ นครราชสีมา มหาสารคาม ขอนแก่น อุบลราชธานี ชัยภูมิ จังหวัดละ 6-7 บริษัท และภาคกลาง อาทิ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ จังหวัดละ 5-6 บริษัท รองลงไปเป็น ชลบุรี มุกดาหาร บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ จังหวัดละ 3-4 แห่ง นอกจากนี้จะมีการกระจายตัวอยู่ในเชียงใหม่ เชียงราย สงขลา พิจิตร นครปฐม พิษณุโลก จังหวัดละ 1-2 แห่ง

โดยบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน 1-5 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นและกรรมการส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการธุรกิจในท้องถิ่น และบางส่วนก็มีบริษัทให้บริการเงินกู้อยู่แล้ว และได้ทยอยตั้งบริษัทใหม่เพื่อให้บริการในจังหวัด หรืออำเภอใกล้เคียง อาทิ บริษัท เพื่อนแท้เงินด่วน (ชัยภูมิ) จำกัด จากก่อนหน้านี้ที่มีบริษัทในจังหวัดนครราชสีมา มหาสารคาม ขอนแก่น บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เป็นต้น

หรือบริษัท ไทย พิโก พลัส จำกัด ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ถือหุ้นได้จัดตั้งบริษัทเงินกู้ในจังหวัดอุดรธานี มหาสารคาม หรือบริษัท เงินต่อยอด (อุบล) จำกัด ก็มีบริษัทพิโกไฟแนนซ์ให้บริการอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ เช่นเดียวกับบริษัท สหะพืชผล นครพนม พิโก จำกัดก็มีบริษัทเปิดให้บริการอยู่ในภาคอีสานหลายจังหวัด

ขณะเดียวกันยังพบว่ามีบริษัทที่จัดตั้งใหม่ ประมาณ 15-20 บริษัท มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพื่อขอรับใบอนุญาต “พิโกพลัส” เพื่อที่จะสามารถขยายวงเงินสินเชื่อได้มากขึ้น ตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด อาทิ บริษัท ศรทอง พิโก พลัส จำกัด (บุรีรัมย์), ห้างหุ้นส่วนจำกัด โชคชัย (อุบล) พิโก พลัส (อุบลราชธานี), บริษัท เงินซิ่ง พิโก 2019 จำกัด (ร้อยเอ็ด) บริษัท ถาวรธนสินทรัพย์ 2019 จำกัด (ชัยภูมิ), บริษัท พรสวรรค์ พลัส จำกัด (บุรีรัมย์) เป็นต้น