แบงก์แห่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ผ่อนภาระ SME หมื่นล้าน

แบงก์แห่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ผ่อนภาระ SME หมื่นล้าน
วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไท

แบงก์พาเหรดลดดอกเบี้ยเงินกู้ ขานรับนโยบาย ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้ช่วยผ่อนภาระธุรกิจ โดยเฉพาะเซ็กเตอร์ท่องเที่ยวที่กำลังแย่ ฟาก “ทีเอ็มบี” ชี้แบงก์ลดดอกเบี้ย MRR ลูกค้าเอสเอ็มอีได้อานิสงส์ลดภาระจ่ายดอกเบี้ยกว่า 1.1 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมครั้งแรกปี 2563 เมื่อ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา และมีมติเอกฉันท์ 7 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ต่อปี สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม และขยายตัวได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น 

ตั้งรับ ศก.ทรุดลามจ้างงาน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า 3 ปัจจัยเสี่ยงหลัก กระทบการบริโภคและการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม กนง.จึงตัดสินใจลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการเร่งดำเนินนโยบายแบบตั้งรับ มองไปข้างหน้าการดำเนินนโยบายการเงินต้องให้ความสำคัญกับการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลรอบด้าน (data dependent) ชั่งน้ำหนัก 3 ด้าน คือ อัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน 

“นโยบายการเงินไม่ใช่เครื่องมือเดียว และนโยบายการเงินไม่ใช่แค่ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประสานมือกันระหว่างนโยบายการคลังและสถาบันการเงินมากขึ้น เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้”

ตั้งทีมปรับโครงสร้างหนี้

นายวิรไทกล่าวว่า ธปท.จะเร่งประสานให้สมาคมธนาคารไทยจัดตั้งทีมดูแลพิเศษเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก และดูแลลูกจ้างในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น การผ่อนปรนเรื่องผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต หรือปรับเป็นสินเชื่อระยะยาว และคิดดอกเบี้ยลดลง เป็นต้น ไม่อยากให้ผู้ประกอบการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพราะจะกระทบการจ้างงานหนักขึ้น

นายทิตนันท์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง.กล่าวว่า ปัจจัยที่ กนง.ให้ความสำคัญคือ การแก้ปัญหาด้านสภาพคล่อง และการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ภาคธุรกิจ ที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง

“ดอกเบี้ยอาจจะเป็นตัวเสริม แต่ที่สำคัญคือต้องเร่งขับเคลื่อนแพ็กเกจใหญ่ที่ออกมาแล้วให้เกิดขึ้นได้จริงโดยเร็ว”

แบงก์ใหญ่แห่ลด ดบ.กู้

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินหลัง กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายว่า ธนาคารกสิกรไทย นำร่องปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% ต่อปี มาอยู่ที่ 6.62% ในกลุ่มลูกค้าบุคคลและเอสเอ็มอี โดยเงินฝาก ปรับลดเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.10-0.12% และลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.05-0.25% ตั้งแต่ 6 ก.พ. 63 เป็นต้นไป

ธนาคารไทยพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทมีระยะเวลา (MLR) 0.25% มาอยู่ที่ 5.775% ช่วยลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากปรับลดเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.15-0.25% และลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.05-0.25% ตั้งแต่ 7 ก.พ. 63

ธนาคารกรุงไทยลดดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.25% ช่วยลดต้นทุนทางการเงินลูกค้าและผู้ประกอบการทุกประเภท ตั้งแต่ 7 ก.พ. 63 ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากยังคงไว้เท่าเดิม รวมถึงได้ออกเงินฝากประจำพิเศษ กรุงไทยเบิร์ทเดย์ 

ฝาก 7 เดือน ดอกเบี้ย 1.40% ต่อปี เพื่อให้ลูกค้ามีกำลังในการใช้จ่ายในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารกรุงเทพ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.25% และ ลดดอกเบี้ย MOR 0.125% ตั้งแต่ 7 ก.พ. 63 ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต ลดดอกเบี้ย MOR 0.25% มาอยู่ที่ 6.925% ตั้งแต่ 7 ก.พ. 63 เป็นต้นไป

แบงก์รัฐชูดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด

ฟากแบงก์รัฐ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงทั้งแผง 0.125-0.250% ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย MLR เหลือ 5.875% MRR เหลือ 6.375% และ MOR เหลือ 6.500% ตั้งแต่ 7 ก.พ. 63 ถือเป็นดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยต่ำสุดในระบบสถาบันการเงินปัจจุบัน

ธนาคารออมสิน ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ทั้งเงินกู้ MRR และเงินกู้ MOR เหลือ 6.495% ตั้งแต่ 7 ก.พ. 63 ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากปรับลด 0.25% ในประเภทเงินฝากประจำ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ แต่ไม่ลดดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียก เงินฝากกระแสรายวันพิเศษ และสลากออมสินทุกประเภท

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate สำหรับลูกค้าทั่วไปและเอสเอ็มอี เหลือ 5.985% ตั้งแต่ 11 ก.พ. 63 รวมถึงมีสินเชื่อพิเศษสนับสนุนผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจหรือนำเข้าเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิตหรือปรับปรุงโรงงาน ดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 2% ต่อปี 2 ปีแรก

ต่อลมหายใจภาคธุรกิจ

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การลดดอกเบี้ยของ กนง.รอบนี้ช่วยลดภาระการชำระหนี้คืนของธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจที่พักและโรงแรม ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจร้านอาหาร

“การลดดอกเบี้ยของ กนง.ทำให้สถาบันการเงินและธนาคารต่าง ๆ ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมลง แม้จะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้หากไม่ลดดอกเบี้ย ธุรกิจจะได้รับผลกระทบมาก ซึ่ง กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีกหากจำเป็น”

ลดภาระดอกเบี้ย SME 1.1 หมื่นล้าน

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า การส่งผ่านนโยบายการเงินรอบนี้ถือว่าเกิดขึ้นเร็วและทำได้ดี เพราะแบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ตาม 0.25% โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ย MRR จะช่วยเอสเอ็มอีได้มากสุด ปัจจุบันยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีในระบบธนาคารพาณิชย์กว่า 4.99 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ราว 3.28 ล้านล้านบาท หรือ 65% คิดดอกเบี้ย MRR ส่วนที่คิด MLR อยู่ที่ 1.27 ล้านล้านบาท หรือ 25% และ MOR แค่ 4.4 แสนล้านบาท หรือ 10%

และประเมินว่าการลดดอกเบี้ยในรอบนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีราว 1.045 ล้านราย จะได้รับประโยชน์ในการที่มีภาระดอกเบี้ยลดลงรวมทั้งสิ้น 11,130 ล้านบาทต่อปี หรือ 3.36% ของภาระดอกเบี้ยทั้งหมดเดิมที่มีอยู่ทั้งสิ้น 331,636 ล้านบาทต่อปี

ส่วนที่แบงก์ยังตรึงดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ เชื่อว่าน่าจะได้รับการขอความร่วมมือว่าให้ช่วยดูแลลูกค้ารายย่อยแต่ต้องติดตามว่าระบบแบงก์จะอั้นไว้ได้นานแค่ไหน เพราะแบงก์จะกดดันในเรื่อง NIM มากขึ้น และช่วงที่เหลือของปีนี้ ธปท.ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยนโยบาย เพิ่มเติมอีก หากเศรษฐกิจไม่ชะลอตัวหนักไปกว่าที่ทีเอ็มบีประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโต 1.7-2.1%