ราคาทองขาขึ้นพุ่งตามโควิด-19 นักลงทุนทิ้งหุ้น-เพิ่ม”พอร์ตทองคำ”

Photographer: Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images

นักลงทุนทั่วโลกตื่น “โควิด-19” แห่ทิ้งหุ้นหันลงทุน “ทองคำ” ดันราคาทองโลกทำนิวไฮรอบ 7 ปี 1,688 ดอลล์/ออนซ์ ดันตัวเลขส่งออกเดือน ม.ค.สูงถึง 24 ตัน เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว ขณะที่อานิสงส์เงินบาทอ่อนค่าดันราคาทองคำในประเทศทะลุ 25,000 บาท “ฮั่วเซ่งเฮง” ชี้เทรนด์ราคาทองคำขาขึ้น ตามสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัส+ภาวะเศรษฐกิจโลก วายแอลจีชี้มีโอกาสลุ้นแตะ 2.7 หมื่นบาท/บาททองคำ หุ้นไทยอ่วมโบรกฯเข้าสู่ภาวะ “ตลาดหมี” แนะปรับพอร์ตถือทองคำ 30% ลดพอร์ตหุ้นเหลือ 20%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดนอกประเทศจีนมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้เป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะเดียวกันก็พบว่าปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้นักลงทุนมีการเทขายหุ้นและเข้าซื้อทองคำเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ราคาทองคำ (แท่ง) โลก ปรับขึ้นทำจุดสูงสุด (new high) ในรอบ 7 ปีที่ 1,688 ดอลลาร์/ออนซ์

โควิด-19 ดันทองสูงสุดรอบ 7 ปี

นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทฮั่วเซ่งเฮง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภาวะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว (inverted yield curve) ทำให้เกิดความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำมากขึ้น โดยราคาทองคำโลก (gold spot) และราคาทองคำในประเทศ ในวันที่ 24 ก.พ. 63 ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 7 ปี ที่ 1,688 ดอลลาร์/ออนซ์ และ 25,300 บาท/บาททองคำ ตามลำดับ

โดยระยะสั้น แนวโน้มราคาทองคำโลกมีโอกาสปรับขึ้นไปทดสอบ 1,700 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศประเมินแนวต้านไว้ที่ 25,400 บาท/บาททองคำ โดยมีความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อราคาทองคำในช่วงนี้

“ฮั่วเซ่งเฮง” ชี้ทองคำขาขึ้น

นายธนรัชต์กล่าวว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา การส่งออกทองคำปรับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลจากที่เดือน ม.ค. 63 มีปัจจัยลบเรื่องความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านเข้ามากระทบ ส่งผลให้นักลงทุนหันเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงประมาณ 7% ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนทองคำในประเทศปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 11% สูงกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนทองคำต่างประเทศเล็กน้อยที่ 10% ส่งผลให้นักลงทุนนำทองคำออกมาขาย และดันให้การส่งออกทองคำสูงขึ้น

“ส่วนแนวโน้มการส่งออกทองคำในระยะข้างหน้า มองว่าจะยังมากขึ้นตามราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้น โดยฮั่วเซ่งเฮงยังมองทองคำเป็นขาขึ้นอยู่ จากที่สถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ยังประเมินยากว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และในเดือน ก.พ. 63 เห็นแนวโน้มว่าการส่งออกทองคำยังสูงต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงกว่าเดือน ม.ค. เนื่องจากราคาทองคำในเดือน ก.พ.เคลื่อนไหวเป็นขาขึ้นอย่างเดียว” นายธนรัชต์กล่าว

แห่ซื้อทอง-ผลตอบแทนเด่น

นายธนรัชต์กล่าวว่า แม้ราคาทองคำในประเทศวันที่ 24 ก.พ.จะปรับขึ้นสูงถึง 800 บาท แต่พบว่านักลงทุนในตลาดทองคำยังซื้อสุทธิเมื่อวันที่ 24 ก.พ. โดยคาดว่านักลงทุนยังมองว่าราคาทองคำจะยังสามารถปรับขึ้นได้สูงกว่าระดับปัจจุบัน เพราะมองว่าไวรัสโควิด-19 ยังหนุนให้ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสะสม

“เรามองว่าทองคำควรเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่อยู่ในพอร์ตของนักลงทุน เพราะปีนี้ทองคำถือว่าผลตอบแทนดีที่สุด โดยให้ผลตอบแทนเหนือกว่าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (กองรีท) และตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม ราคาตอนนี้ปรับขึ้นมาค่อนข้างเยอะแล้ว หากนักลงทุนจะเข้าลงทุนแนะนำให้เข้าลงทุนช่วงที่ราคาทองปรับลงมาบ้าง โดยให้แนวรับระยะสั้นไว้ที่ 1,620-1,640 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือประมาณ 24,000 บาท” นายธนรัชต์กล่าว

ขณะที่ในระยะยาวประเมินแนวต้านราคาทองคำโลกไว้ที่ 1,750 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศคาดว่าจะเคลื่อนไหวไม่เกินแนวต้าน 26,000 บาท/บาททองคำ เนื่องจากในปี 2563 ยังแวดล้อมไปด้วยปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่ ข้อตกลงทางการค้าเฟส 2 ระหว่างสหรัฐกับจีน ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำในระยะถัดไป


ม.ค.ส่งออกทองคำ 24 ตัน

ด้านนางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า ราคาทองคำในช่วงต้นปีที่ปรับขึ้นค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้มีการขายออกทองคำสูง ในส่วนของผู้ค้าทองหลังนักลงทุนนำทองคำมาขาย จะทยอยส่งออกไปต่างประเทศที่ยังมีความต้องการซื้อสูง เช่น สาขาของบริษัทที่สิงคโปร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ตลาดทองคำบางประเทศยังคงเป็นซื้อสุทธิอยู่ในขณะนี้

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ผลักดันให้การส่งออกสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) อย่างทองคำ ในเดือน ม.ค. 2563 ขยายตัวสูงถึง 299.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในเดือน ม.ค. 2563 กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ที่ 3.35% หากหักมูลค่าส่งออกทองคำออกไป จะทำให้ส่งออกไทยหดตัว 1.45%

ผู้สื่อข่าวรายงานตัวเลขส่งออกทองคำจากกรมศุลกากรพบว่า ในเดือน ม.ค. 2563 มีการส่งออกทั้งสิ้น 24,212 กิโลกรัม มูลค่า 36,211 ล้านบาท ขณะที่เดือน ธ.ค. 2562 มีการส่งออกทองคำปริมาณ 5,458 กิโลกรัม มูลค่า 7,148 ล้านบาท

ทองคำแตะ 3 หมื่นบาทยาก

สำหรับราคาทองคำมีโอกาสถึง 3 หมื่นบาทหรือไม่ นางพวรรณ์กล่าวว่า การที่ทองคำจะปรับขึ้นไปถึงระดับ 30,000 บาท/บาททองคำ ยังเป็นไปได้ยาก โดยวายแอลจีฯประเมินว่า ราคาทองคำในประเทศมีโอกาสปรับขึ้นทดสอบ 26,000-27,000 บาท/บาททองคำ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไวรัสโควิด-19 ยังมีการระบาดต่อเนื่อง ตลาดหุ้นยังมีความผันผวนสูง และเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบ

“จากตัวบ่งชี้ดัชนีความสัมพันธ์สัมพัทธ์ (RSI) ชี้ว่า ราคาทองคำปัจจุบันอยู่ในระดับที่มีการซื้อเกินจริง (overbought) หมายความว่า ราคาทองคำพร้อมที่จะปรับลงตลอดเวลา แม้จะมีข่าวมาผลักให้ราคาปรับขึ้น เพราะหากราคาทองปรับขึ้นขาเดียว เมื่อนักลงทุนขายทองออกไปแล้วถึงจุดหนึ่งนักลงทุนก็ต้องกลับมาซื้อ ดังนั้น คำแนะนำการลงทุนในช่วงนี้สามารถทำกำไรได้ แต่แนะนำให้อยู่ในระดับที่นักลงทุนแต่ละท่านรับความเสี่ยงได้” นางพวรรณ์กล่าว

สอดคล้องกับนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในระยะข้างหน้าทำนายได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากปัจจุบันราคาทองคำเคลื่อนไหวตอบรับกับปัจจัยไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก หากสถานการณ์เลวร้ายลงอาจส่งผลให้ราคาทองคำมีโอกาสปรับขึ้นต่อไป แต่ยังยากที่จะปรับขึ้นถึงระดับ 30,000 บาท/บาททองคำ

“โอกาสที่จะพุ่งขึ้นถึง 30,000 บาท/บาททองคำ คงไม่มี ถ้าออกมาแบบนี้แสดงว่า เศรษฐกิจต้องพังทั้งหมดแล้ว โดยในช่วง 8 ปีที่แล้ว ราคาทองคำเคยปรับขึ้นถึง 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์ และ 27,100 บาท/บาททองคำ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่โรคระบาดมีความเสี่ยงจะกระทบให้เศรษฐกิจและธุรกิจชะงัก ซึ่งสถานการณ์ไม่ได้เหมือนกับใน 8 ปีที่แล้ว” นายจิตติกล่าว

บาทอ่อนหนุนทองไทย

นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด เปิดเผยว่า ราคาทองคำในประเทศปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 7 ปี ประเมินว่า ผลจากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นักลงทุนแห่ขายหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงออกมา และนำเงินเข้าลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัยแทน ได้แก่ เงินดอลลาร์ และทองคำ โดยราคาทองคำในประเทศได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาทองคำมีความน่าสนใจมากขึ้น

“ด้วยภาวะเศรษฐกิจจีนและประเทศคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้ราคาทองคำในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยในระยะสั้น 2-3 วันนี้ มองว่ามีโอกาสที่ราคาทองคำโลกจะปรับขึ้นทดสอบ 1,700 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่ราคาทองในประเทศ เชื่อว่าจะเคลื่อนไหวผ่านแนวต้านที่ 25,500 บาท/บาททองคำไปได้”

โดยราคาทองคำที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้าจำนวนมากนำทองคำออกมาขาย ส่งผลให้ห้างทองแม่ทองสุก (บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด) ในฐานะผู้ประกอบการนายหน้าซื้อขายทองคำ จำเป็นต้องส่งออกทองคำในประมาณที่ค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา โดยมียอดการส่งออกทองคำสูงสุดในบรรดาโบรกเกอร์ซื้อขายทองคำทั้งหมด

ทิสโก้แนะนำถือทองคำ

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) กล่าวว่า ทิสโก้คงคำแนะนำให้นักลงทุนถือทองคำต่อ หลังจากช่วงที่ผ่านมา ราคาทองคำโลกและทองคำไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น เพราะได้รับปัจจัยบวกจากที่หลายประเทศกลับมาอัดฉีดสภาพคล่อง เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะที่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้ และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อและเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาทองคำในปัจจุบันอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก เนื่องจากสถานะเก็งกำไรสะสมของทองคำอยู่ในระดับสูงมาก ชี้ให้เห็นว่าตลาดมีการประเมินความเสี่ยงไว้ในระดับที่สูงมากแล้ว

โดยรายงานสถานะการลงทุนของนักเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (CFTC Commitment of Trader Report) ซึ่งสะท้อนมุมมองของนักลงทุนประเภท hedge funds เป็นรายสัปดาห์ ณ วันที่18 ก.พ. 2563 พบว่า นักเก็งกำไรเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทองคำ โดยนักเก็งกำไรเข้าซื้อสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าของตลาด CBOE มากกว่า 45,000 สัญญา ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 8 เดือน ส่งผลให้ขณะนี้สถานะเก็งกำไรในทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 353,600 สัญญา นับเป็นระดับการเก็งกำไรในทองคำสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

เพิ่มพอร์ตทองคำ 30% หุ้น 20%

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GBS) กล่าวว่า หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลุกลามต่อไปอีก คาดว่าจะส่งผลให้ราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากราคาปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีไปแล้ว อีกทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดปีนี้ที่ 1.46% เป็นสัญญาณของการลดความเสี่ยงของนักลงทุนเพิ่มเติม

“การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในขณะนี้เกิดจากความกังวลต่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ได้แพร่ระบาดรอบ 2 ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัว ซึ่งถือเป็นจังหวะทำกำไรทองคำในระยะสั้นได้”

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้เมื่อเทียบกับต้นปี ส่งผลเชิงบวกต่อการส่งออก ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานการส่งออก ม.ค. 2563 ขยายตัว 3.35% กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะหดตัว ซึ่งหากไม่รวมทองคำและน้ำมัน การส่งออกหดตัว 0.6% ดังนั้น แนะนำการจัดพอร์ตการลงทุนในทองคำที่ 30% ลงทุนในหุ้น 20% และถือครองเงินสด 50%

หุ้นไทยเข้าสู่ภาวะตลาดหมี

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้นักลงทุนอยู่ในโหมดเลี่ยงลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง โยกเงินเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย (risk-off) อย่างทองคำและตลาดพันธบัตร เนื่องจากตลาดกังวลสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีน ที่ดูเหมือนเพิ่งจะเริ่มต้น ทำให้กลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้มีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลงต่อ ซึ่งคาดคะเนได้ยากว่าเหตุการณ์จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ คงต้องรอให้สัญญาณผู้ติดเชื้อมีอัตราที่ลดลง จึงจะทำให้ตลาดหุ้นรีบาวนด์ได้ ทำให้แนวโน้มการลงทุนระยะข้างหน้าจะผันผวนในทิศทางขาลง

ก่อนหน้านี้ บล.ทิสโก้มองดัชนีระดับ 1,480 จุด เป็นระดับที่มีนัยสำคัญที่ไม่ควรหลุด เนื่องจากเป็นระดับที่บ่งชี้ภาวะตลาดว่าจะเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (bear market) แต่ตลาดหุ้นไทย วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา หลุดต่ำกว่า 1,480 จุดไปแล้ว และสิ้นวันปิดดัชนีต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี จึงถือว่าตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะตลาดหมีแล้ว และเมื่อ 25 ก.พ. ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,439.10 จุด

ขณะที่ราคาทองเร่งตัวขึ้นสวนทางกับตลาดหุ้น หลังนักลงทุนอยู่ในโหมดระมัดระวังและกระจายการลงทุนบางส่วนไปยังทองคำ ดังนั้นมีโอกาสที่จะทำจุดสูงสุด (พีก) ได้ต่อเนื่อง เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจในช่วงภาวะตลาดหุ้นผันผวน และมีโอกาสปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้

บาทอ่อน “เร็ว” สุดในเอเชีย

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 9 เดือน ที่ 31.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่าที่สุดในเอเชียที่ 5.78% มากกว่าเงินหยวนอ่อนค่าเพียง 0.97% เทียบกับดอลลาร์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงมาระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าไปได้ไกลถึง 32.00 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงไตรมาสแรก ขณะที่ไตรมาส 2 เศรษฐกิจจะต้องเจอกับความเสี่ยงภัยแล้ง และผลสืบเนื่องจากไวรัสโควิด-19 รวมทั้งเป็นช่วงที่ตลาดการเงินโลกมักปรับฐาน ซึ่งทั้งหมดมีโอกาสดันให้เงินบาทอ่อนค่าไปอีก

ด้านนางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ไตรมาส 1 นี้ ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นไตรมาสที่หนักสุดของค่าเงินบาท


“แม้ว่าเงินบาทจะอ่อน จะดีต่อความสามารถในการส่งออก แต่ปัจจุบันอุปสงค์ทั่วโลกไม่ดี ทำให้เราไม่ได้รับอานิสงส์จากบาทอ่อนมากนัก” นางสาวรุ่งกล่าว