คว้าโอกาสจากเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ธนาคารกสิกรไทย

ในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดเช่นนี้ ทำให้ภาพความต้องการเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพหรือ HealthTech ชัดเจนมากขึ้น เพื่อเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก และลดความเสี่ยงจากการเดินทางมารับบริการสุขภาพ หรือแม้กระทั่งลดภาระของแพทย์ที่มีจำนวนจำกัดให้เข้าถึงผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล เช่น เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยวินิจฉัยโรคหรืออาการเบื้องต้น รวมถึงการติดตามอาการผู้ป่วย หรืออาจใช้เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอยู่แล้ว เช่น การติดต่อสื่อสารผ่านสื่อโซเชียล เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของโรค

ปัจจุบันมีการพัฒนาสินค้าและบริการ HealthTech เป็นจำนวนมาก และประเมินว่า HealthTech มีมูลค่าในตลาดโลกสูงถึงประมาณ 8.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2568 โดยมีตลาดหลักคือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และในเอเชียได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น สำหรับตลาด HealthTech ในประเทศไทย มีโอกาสเติบโตอยู่พอสมควร โดยกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจ คือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจำนวนมาก ทั้งนี้ในปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 11.1 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.0 ของประชากรทั้งหมด และมีการคาดหมายว่าไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2565 คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด โดย HealthTech ในต่างประเทศที่น่าสนใจ มีดังนี้

TeleHealth เป็นการให้บริการทางการแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ เช่น วิดีโอคอล ผ่านสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีทั้งการปรึกษาผ่านแอปพลิเคชั่น และประเมินอาการและวิธีรักษาเบื้องต้น ผ่านระบบ AI รวมถึงการปรึกษากับแพทย์ผ่านวิดีโอทางไกลโดยตรง เช่น Ping An Good Doctor ของประเทศจีนซึ่งเป็นตู้ที่ให้คำปรึกษาและวินิจฉัยโรคผ่าน AI พร้อมจ่ายยารักษาตามอาการ ซึ่งในไทยก็มีการนำ TeleConsult เข้ามาใช้ในบางโรงพยาบาลบ้างแล้ว

Service Search เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางค้นหาผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพใกล้ที่พัก พร้อมติดต่อนัดหมายบริการ เช่น ZocDoc ของสหรัฐ ในขณะที่ไทยมีบริการ เช่น แอปพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่ให้ผู้ป่วย รวมถึงแพลตฟอร์มจัดหาผู้เชี่ยวชาญให้มาดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยที่บ้าน

Remote Monitoring เป็นการติดตามสุขภาพผ่านแพลตฟอร์มที่เชื่อมกับอุปกรณ์ติดตามตัว เพื่อแจ้งเตือนสุขภาพไปยังผู้ใช้หรือผู้ดูแล ซึ่งบางรายมีการแจ้งขอความช่วยเหลือได้ทันที โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องดูแลใกล้ชิด เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อาทิ Vistalconnect ของสหรัฐ ที่มีอุปกรณ์ตรวจสอบความคืบหน้าอาการผู้ป่วยจากที่พักหลังการรักษา

Medical Big Data การนำเทคโนโลยีมาใช้รวบรวมข้อมูลทางการแพทย์ จากแหล่งต่าง ๆ ที่มีจำนวนมากและมีความซับซ้อน เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูล สำหรับบุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้ เช่น Flatiron ของสหรัฐ ที่มีบริการรวบรวมข้อมูลด้านเนื้องอก จากนักวิชาการ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ผ่านซอฟต์แวร์ให้กับสถานพยาบาลต่าง ๆ

Digital Med Device อย่างเช่น อุปกรณ์ที่ใช้ติดตามอาการผู้ป่วย และวัดค่าต่าง ๆ ได้แก่ การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ค่าออกซิเจนหรือน้ำตาลในเลือด ผ่านอุปกรณ์ เช่น Smart Watch สายรัดข้อมืออัจฉริยะ ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลและใช้ในการติดต่อขอความช่วยเหลือ รวมถึงอุปกรณ์สวมใส่อื่น ๆ เพื่อหวังผลเฉพาะ เช่น อุปกรณ์วิเคราะห์ความพร้อมในการตั้งครรภ์ อุปกรณ์กระตุ้นปลายประสาทเพื่อคลายความเจ็บปวด อาทิ IRhyth ของสหรัฐ ที่เป็นอุปกรณ์วัดการเต้นของหัวใจต่อเนื่อง แม้ตอนอาบน้ำ ออกกำลังกาย หรือขณะหลับ

Robotic เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เข้ามาช่วยเหลือคนไข้ เช่น แขนและขากลที่ช่วยฟื้นฟูจากอัมพาตหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือหุ่นยนต์ที่ช่วยผ่าตัด อาทิ Davinci ของสหรัฐ ที่เข้ามาช่วยแพทย์ผ่าตัดในบริเวณที่ซับซ้อนและเข้าถึงยาก

Genomic บริการตรวจสอบจีโนมหรือพันธุกรรมที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดโรค เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการตัดสินใจด้านการรักษาที่เหมาะสมกับผู้รับบริการแต่ละราย เช่น Hinounon ของจีน ซึ่งเป็นกล่องทดสอบยีนเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคในผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ HealthTech ในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของแพลตฟอร์มที่ให้บริการ Services Search และแพลตฟอร์มที่ใช้ในการปรึกษาแนะนำข้อมูลทางการแพทย์หรือ TeleHealth ซึ่งทั้งสองประเภทมีสัดส่วนรวมกันสูงถึงประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด โดยผู้ประกอบการที่สนใจตลาด HealthTech คงต้องมีการสำรวจตัวเองใน 2 ประเด็นสำคัญคือ ความพร้อมของตัวเองที่จะเข้าสู่ธุรกิจ ทั้งความพร้อมทางด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เช่น พันธมิตรทางการแพทย์ รวมถึงนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี และปัจจัยที่สำคัญอีกประการก็คือ การเลือกหรือนำเสนอ HealthTech ที่ตรงกับความต้องการของตลาด