
“ภากร” ตั้งโต๊ะแถลงด่วนกรณีตลาดหุ้นเซอร์กิจเบรกเกอร์วันนี้ หลัง SET ร่วงถึงระดับ 8% ชี้หุ้นไทยปรับลงตามตลาดหุ้นเอเชีย-ยุโรป พอใจเกณฑ์เซอร์กิตเบรกเกอร์ใหม่ช่วยยันดัชนียืนเหนือ 10% ปัดรีบใช้กองทุนพยุงหุ้นหลังมาตรการปรับเกณฑ์ชอร์ตเซล-ซิลลิ่ง/ฟลอร์-เซอร์กิตเบรกเกอร์มีประสิทธิภาพเพียงพอ
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยภาวะตลาดหุ้นไทยวันที่ 23 มี.ค.63 ว่า หลังตลาดหุ้นไทยเปิดทำการพบว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ปรับตัวลดลงราว 5-6% ก่อนจะปรับลงต่อเนื่องมาถึงระดับ 8% เมื่อเวลา 15.25 น. ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ หยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราวเป็นเวลา 30 นาที (Circuit Breaker Level 1) โดยได้รับแรงกดดันจากตลาดหุ้นทั่วโลก ได้แก่ ตลาดหุ้นเอเชีย และตลาดหุ้นยุโรปที่มีการปรับลดลงราว 4-5% และลดลงหนักถึง 12% ในบางประเทศ
นอกจากนี้ ปัจจัยลบเรื่องของราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลง การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการประกาศปิดห้างและพื้นที่เสี่ยงใน กทม. ส่งผลให้ราคาหุ้นในเซกเตอร์ที่เกี่ยวข้องปรับลดลงค่อนข้างรุนแรง ได้แก่ กลุ่มพลังงาน PTT -7.63% และ PTTEP -10.28% กลุ่มค้าปลีก CPN -14.74% CRC -14.98% และ HMPRO -14.98% กลุ่มการบิน AOT -10.23% และกลุ่มธนาคาร KBANK -14.25% และ BBL -8.97%
“การประกาศหยุดซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราวครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกหลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับเกณฑ์เซอร์กิตเบรกเกอร์มาอยู่ที่ระดับ 8% จากเดิมจะหยุดซื้อขายที่ 10% ส่งผลให้วันนี้ SET Index ปิดตลาดที่ลบ 9.12% ถือว่าการปรับเกณฑ์ใหม่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและช่วยให้ดัชนีไม่ปรับลงไปที่ระดับลบ 10% อย่างที่ผ่านมาในอดีตได้” นายภากร กล่าว
นายภากร เสริมว่า โดยที่ผ่านมา ตลท.ได้ออกมาตรการเรียกความเชื่อมั่นต่างๆ ทั้งการปรับเกณฑ์ขายชอร์ต (Short Selling) การปรับเกณฑ์การกำหนดราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) และการปรับเกณฑ์เซอร์กิตเบรกเกอร์ เพื่อเป็นตัวช่วยซื้อเวลาให้ตลาดได้ฟื้นตัวและให้นักลงทุนสามารถพิจารณาถึงข่าวสารก่อนจะลงทุนต่อเนื่อง ขณะที่กองทุนพยุงหุ้นอยู่ระหว่างศึกษาและจะพิจารณาถึงความจำเป็นต้องใช้ในลำดับต่อไป เนื่องจากปัจจุบันมาตรการต่างๆ ที่ได้ออกไปแล้วก็มีประสิทธิภาพในการช่วยประคองตลาดหุ้นพอสมควร
นอกจากนี้ จากมาตรการช่วยเหลือตลาดทุนที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดพันธบัตรราว 1 ล้านล้านบาทไปเมื่อวานนี้ (22 มี.ค.) เชื่อว่าจะช่วยปิดความเสี่ยงของตลาดทุนในอนาคต และพยุงให้ภาวะตลาดปรับตัวได้ดีขึ้น
เมื่อสอบถามความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นไทยจะปิดทำการเช่นตลาดหุ้นต่างประเทศอื่นๆ หรือไม่ นายภากร ย้ำกว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่มีการปิดทำการยกเว้นกรณีที่ภาคธนาคารพาณิชย์ประกาศปิดให้บริการเท่านั้น และไม่มีนโยบายปิดตลาดหุ้นจากเหตุผลอื่นๆ