
รัฐบาลประกาศ “โควิด-19” เป็นวาระแห่งชาติ ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินทะลุ 1.9 ล้านล้าน โยกงบฯ’63 แสนล้านเติมงบกลางเยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระหัวละ 5 พัน เพิ่มเป็น 6 เดือน รื้อแผนจัดงบฯ’64 ใหม่ เน้นใช้แก้โควิด-19 หนี้สาธารณะพุ่งเป็นร้อยละ 57 ของจีดีพียังขยายได้อีกหากจำเป็น
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แถลงภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม-ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ว่ามีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 3 ฉบับ และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 เพื่อดูแลและเยียวและดูแลผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย
พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน
ฉบับที่ 1 ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท แหล่งที่มาเป็นเงินกู้สกุลบาทเป็นหลัก แม้จะเปิดช่องไว้ให้กู้เป็นเงินตราต่างประเทศก็ได้ โดยกำหนดเวลาการกู้ต้องให้เสร็จภายใน 30 ก.ย. 64 หรือ 1 ปี 6 เดือน แต่ไม่ใช่การกู้เงินมากองไว้ เป็นการทยอยกู้ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งบประมาณที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.ก.
จ่ายหัวละ 5 พัน อีก 3 เดือน
นายอุตตมกล่าวว่า วัตถุประสงค์ 1.แผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เยียวยาประชาชนรายละ 3,000 บาทต่อเดือน 3 เดือน โดยขยายออกไปเป็น 6 เดือน (กันยายน 2563) หรือจาก 1.5 หมื่นบาท เป็น 3 หมื่นบาท 2.เยียยาเกษตรกร 3.ดูแลด้านสาธารณสุข วงเงิน 600,000 ล้านบาท และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยครอบคลุมโครงการดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ 1.สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน 2.สนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ วงเงิน 400,000 ล้านบาท
หลังจากนี้จะส่งร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หลังจากนั้นจะเป็นการจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในการใช้งบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนเมษายนนี้ และดำเนินการกู้เงินได้ต้นเดือนพฤษภาคม
โดยจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการเพื่อพิจารณาข้อเสนอ แผนงาน โครงการ เพื่อใช้วงเงินกู้และเสนอ ครม.เห็นชอบโครงการก่อนจะได้รับการอนุมัติให้ใช้เงิน โดยสำนักงานประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และกรมบัญชีกลาง จะเป็นหน่วยงานพิจารณาเพื่อนำเสนอ ครม.
สำหรับขั้นตอนการกำกับรายงานผลการใช้เงินกู้ โดย พ.ร.ก.กำหนดให้ต้องมีการรายงานการใช้เงินกู้ ต่อ ครม.เป็นระยะ และรายงานต่อรัฐสภาไม่เกิน 60 วัน หรือเดือน พ.ย. 63
ธปท.ปล่อยกู้ซอฟต์โลน
นายอุตตมกล่าวว่า ฉบับที่ 2 ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออก soft loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs วงเงิน 500,000 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อใหม่ 500,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท วงเงิน 500,000 ล้านบาท และ ธพว. และ SFIs พักชำระหนี้ (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) 6 เดือน วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทฉบับที่ 3 ร่าง พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพการเงิน วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยตั้งกองทุน Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund หรือ BSF และให้ ธปท.ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว วงเงินกองทุน 400,000 ล้านบาท
โยกงบฯปี’63-ทบทวนปี’64
นายอุตตมกล่าวว่า นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เนื่องจากความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19
โดยสำนักงบประมาณจะพิจารณางบประมาณจากทุกกระทรวงที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถกันงบฯที่เป็นรายจ่ายไม่จำเป็น ในสัดส่วน 10% เพื่อโอนเป็นงบฯกลางปี”63 เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งขณะนี้มีการใช้งบฯกลางปี”63 สำหรับโควิดไปแล้ว 9 หมื่นล้านบาท
สำนักงบประมาณจะนำ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี”63 ที่คาดว่าจะมีวงเงิน 80,000-100,000 ล้านบาท นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ครั้งถัดไป และจะเข้าสู่สภาเดือนมิถุนายน สำหรับ
งบประมาณรายจ่ายประจำปี”64 จะทบทวนการจัดสรรทำงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 และทันต่อสถานการณ์
“รัฐบาลพยายามใช้งบประมาณจากแหล่งต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สถานการณ์ปัจจุบันรุนแรง จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงนำไปสู่การออกร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน ดังกล่าว” รมว.คลังกล่าว
เพดานหนี้ทะลุ 57%
นายอุตตมกล่าวว่า สาเหตุที่กำหนดเวลากู้เงินตามร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ภายในวันที่ 30 ก.ย. 64 เพราะยังไม่ทราบสถานการณ์โควิด-19 จะมีระยะเวลายาวนานอย่างไร แต่ไม่จำเป็นต้องกู้ถึง 1 ล้านบ้านบาทในทันที ส่วนเพดานหนี้สาธารณะ ปี 2564 อัตราส่วนหนี้สาธารณะ 57% แต่ถ้าจะขยายเพดานสามารถทำได้ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการวินัยการเงินการคลัง
ปัดใช้เงินทุนสำรอง
นายอุตตมกล่าวว่า สำหรับแผนชำระหนี้เงินกู้กระทรวงการคลัง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะดูแลและบริหารจัดการหนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะกู้เงินจำนวนเท่าไหร่และเมื่อไหร่ด้วย
สำหรับแผนการจัดเก็บรายได้เพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไป เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวอีกครั้ง ทำให้การจัดเก็บรายได้ก็จะดีขึ้นมาอีกครั้ง
นายอุตตมยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.ก.ให้ ธปธ.กู้เงิน วงเงิน 400,000 บาท ไม่ได้ใช้เงินทุนสำรองของประเทศ เป็นเงินในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่ง ธปท.ดูแลอยู่ สามารถนำมาใช้ได้โดยปลดล็อกเป็น พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อในตลาดแรก และดูว่าจะมีโรลโอเวอร์ขนาดไหน เพื่อให้ระบบตราสารหนี้มีหล่อเลี้ยงเพียงพอ โดย ธปท.จะดูแลเป็นราย ๆ ไป โดยเงื่อนไข บริษัทนั้นต้องหาเงินทุนให้ได้ 50% ก่อน ถึงจะเติมได้อีก 50%
ไฟ 5 แอมป์ ฟรี 3 เดือน
ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดไวรัสเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอดังนี้ เห็นชอบกำหนดนโยบายมาตรการค่าไฟฟ้าฟรีกับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ประเภทที่ 1.1 ของการไฟฟ้านครหลวง และประเภทที่ 1.1.1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จาก 50 หน่วยต่อเดือนเป็น 90 หน่วยต่อเดือน และยังเห็นชอบการขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้ง 2 ประเภท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิลสำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยไม่มีเบี้ยปรับ
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นวงเงินประมาณ 9,375 ล้านบาท ดังนี้ 1.ค่าไฟฟ้าฟรี ระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน รวม 3,029 ล้านบาท (กฟน. 74 ล้านบาท กฟภ. 2,955 ล้านบาท) จำนวนประชาชนที่ได้รับประโยชน์ รวม 6.435 ล้านราย (กฟน. 205,272 ราย กฟภ. 6.23 ล้านราย) 2.ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า 3 เดือน (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563) ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน รวม 6,346 ล้านบาท กฟน. 301 ล้านบาท กฟภ. 6,045 ล้านบาท รวม 4.265 ล้านราย