บริหารฝ่าวิกฤต…ให้ธุรกิจรอด!

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ธนาคารกสิกรไทย

สวัสดีครับผู้ประกอบการทุกท่าน ตอนนี้เราทุกคนต่างเผชิญภาวะยากลำบากในการประคับประคองธุรกิจให้ฝ่ามรสุมไปจนถึงวันที่คลื่นลมสงบให้ได้ ผมเชื่อครับว่าเลือด SMEs ในตัวผู้ประกอบการทำให้ทุกท่านไม่ยอมแพ้ และเราจะต้องผ่านมันไปได้ด้วยกันครับ ซึ่งการบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤตเช่นนี้ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ผสมผสานเข้าด้วยกันจึงจะทำให้ธุรกิจยืนระยะอยู่ได้ เช่น

1.ยอมรับความจริง ว่าสถานการณ์ของธุรกิจเป็นอย่างไร อย่าหลอกตัวเองว่าเรายังขายได้ แต่ก็อย่าท้อจนไม่สู้อะไรเลย สำหรับท่านที่ธุรกิจยังไปได้ดีอยู่ ผมขอยินดีด้วยจากใจจริงครับ แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายคนที่คิดว่าธุรกิจของตัวเองไม่ได้กระทบอะไร และไม่มีแผนรองรับเกิดการณ์ไม่คาดคิดเอาไว้ สิ่งที่ผมอยากบอกคือ อย่าลืมว่าใครบางคนเป็นลูกค้าของใครบางคนเสมอ แปลว่าแม้วันนี้เรายังขายของได้ แต่ถ้าวันใดที่ลูกค้าของเราตกงาน ไม่มีรายได้ สุดท้ายเขาก็ไม่มีเงินมาซื้อของเรานะครับ เมื่อวันนั้นมาถึงเรามีทางหนีทีไล่เอาไว้หรือยัง ?

2.เตรียมเงินสดเอาไว้ให้พร้อม คือการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจเอาไว้ ยิ่งในภาวะที่กำลังซื้อจากผู้บริโภคหายไปจากตลาด ธุรกิจยิ่งต้องดูแลสภาพคล่องของตัวเองอย่างใกล้ชิด สินค้าในสต๊อกอะไรที่เก็บไว้แล้วมีแต่จะเสื่อมมูลค่าลง ตัดใจเอาออกมาเปลี่ยนเป็นเงินสดในมือดีกว่าครับ ส่วนลูกหนี้การค้าของธุรกิจซึ่งช่วงนี้ก็รายได้หดหายเช่นกัน ช่วงเวลาแบบนี้เราคงไม่สามารถใจร้ายเร่งให้เขามาจ่ายหนี้เราเร็วขึ้นได้อาจจะต้องหันหน้ามาคุยกัน ว่าแทนที่จะจ่ายหนี้ทั้งก้อน ซึ่งลูกหนี้ทำไม่ได้แน่นอน ลองคุยกันว่าผ่อนจ่ายไหวเท่าไหร่ แล้วธุรกิจของคุณรับได้ที่เท่าไหร่ เพราะการได้เงินสดเข้ามาบ้างในช่วงนี้ ย่อมดีกว่าไม่มีเงินจากทางไหนเข้ามาเลย ส่วนลูกหนี้รายใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำธุรกิจกันมาก่อน อาจจะต้องพิจารณาดี ๆ ให้ถี่ถ้วนว่าเชื่อถือได้ ว่าเมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน จะไม่ผิดสัญญากัน

3.ลดค่าใช้จ่าย ตอนนี้เราคงรู้แล้วว่าอะไรที่จำเป็น และอะไรที่ไม่จำเป็น หรือเป็นรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก็พยายามลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลง เพื่อรักษาสภาพคล่องหรือเงินสดเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งผมขอแบ่งค่าใช้จ่ายดังนี้

– หนี้สถาบันการเงิน หรือเงินกู้ธนาคาร จริง ๆ นี่เป็นค่าใช้จ่ายก้อนแรกที่ธุรกิจของคุณจะลดลงได้ เพราะธนาคารเปิดโอกาสให้คุณเข้ามาบอกปัญหาและยินดีจะผ่อนปรนหรือปรับลดยอดที่คุณต้องชำระทุกเดือนลง เพื่อแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียเครดิต เพราะคนที่เสียเครดิตคือคนที่วิ่งหนี การที่ผู้ประกอบการรีบเข้ามาคุยกับธนาคารเพื่อแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย นั่นเท่ากับคุณไม่เคยค้างชำระ เมื่อไม่ค้างชำระ ย่อมไม่เคยเป็นหนี้เสีย ดังนั้นไม่ต้องกลัวครับ

– เจ้าหนี้การค้าหรือซัพพลายเออร์ จริงอยู่ที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินให้ตรงเวลาเพื่อรักษาเครดิตเอาไว้ แต่ในสถานการณ์แบบนี้ หากธุรกิจของคุณขาดสภาพคล่องจริง ๆ ลองคุยกับซัพพลายเออร์เพื่อขอยืดเวลาชำระออกไป หรือขอทยอยผ่อนเป็นงวด ๆ เพื่อให้คุณยังพอมีเงินสดเหลืออยู่ในมือเอาไว้หมุนเวียนให้ธุรกิจอยู่บ้าง

– ค่าใช้จ่ายในกิจการ ผมเชื่อว่าตอนนี้ทุกบริษัทต่างก็รัดเข็มขัดกันสุดชีวิตอยู่แล้ว เพราะตอนนี้เงินทุกบาทมีความหมายกับทุกคน แต่สิ่งที่ผมไม่อยากให้ผู้ประกอบการมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายก็คือพนักงาน เพราะถ้ามองเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อไหร่ จะถูกตัดออกไปเป็นอันดับแรก ๆ แต่อยากให้มองว่าพวกเขาคือทรัพย์สินของบริษัท ที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจมาโดยตลอด เมื่อนั้นคุณจะรักษาพวกเขาเอาไว้ เราต่างรู้ดีว่าพนักงานหาไม่ยาก แต่พนักงานดี ๆ นั้นหาไม่ง่ายนะครับ ดังนั้นรักษาพวกเขาเอาไว้ให้ดี ถ้าคุณสู้ พนักงานก็พร้อมจะอยู่สู้ไปกับคุณ เมื่อวันที่วิกฤตผ่านพ้นไป พวกเขาก็พร้อมจะออกวิ่งไปกับคุณได้ทันที

4.หาวิธีเพิ่มรายได้ที่เหมาะกับสถานการณ์ ตอนนี้เราได้เห็นหลายธุรกิจปรับสายการผลิตมาผลิตสินค้าอื่นที่พอจะขายได้ หรือแม้แต่การลดขนาดของสินค้าลง เพื่อให้ขายได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่าย แต่พวกเขาก็ยังต้องกินต้องใช้ ลองคิดนอกกรอบพิจารณาดูว่าธุรกิจของเราทำอะไรได้บ้าง อย่าให้คำว่าไม่เคย มาเป็นอุปสรรคในการคว้าโอกาส

ผมเชื่อครับว่าเราทุกคนต้องเคยผ่านจุดที่คิดว่าหนักที่สุดในชีวิตมาได้ และทุกครั้งที่ลุกขึ้นมาใหม่ เราจะแข็งแกร่งกว่าเดิม ทุกเรื่องราวร้าย ๆ ต้องมีวันเลิกรา ผมขอเป็นกำลังใจและเอาใจช่วยทุกท่านให้ผ่านมันไปได้ และเราจะสู้ไปด้วยกันครับ