ไฟเขียวออมสินลงขัน 2 หมื่นล้าน ตั้งกองทุน BSF พยุงหุ้นกู้-แบก ‘การบินไทย’

ออมสินตั้งกองทุนแบกการบินไทย

บอร์ดออมสินเคาะใช้เงิน 2 หมื่นล้านบาท ลงขันกองทุน BSF ร่วมกับ “ธปท.-สมาคมแบงก์-ประกัน-กบข.-วายุภักษ์” เป็นหลังพิงให้ “หุ้นกู้เอกชน” ชี้รัฐจำเป็นต้องมีกลไกอุ้ม “การบินไทย” หุ้นกู้ครบดีล รวมถึงการเพิ่มทุนด้วย “บรรยง” อีกเสียงยกมือหนุน “รัฐ-ธปท.” แทรกแซงตลาดตราสารหนี้ก่อนลามกระทบเศรษฐกิจทั้งระบบ เชื่อความเสียหายไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท ฟาก KTAM ปิดยอด IPO กองตราสารหนี้ 3.3 พันล้านในวันเดียว ชี้นักลงทุนมั่นใจมาตรการ ธปท.

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการธนาคารออมสินได้อนุมัติวงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้ธนาคารร่วมลงขัน จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund : BSF) ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย ธุรกิจประกันภัย กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบข.) รวมถึงกองทุนรวมวายุภักษ์ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งมีวงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยคาดว่าทาง ธปท.จะมีการกำหนดกลไกของกองทุน BSF ออกมาให้ชัดเจนในสัปดาห์นี้

“แบงก์ออมสิน บอร์ดไฟเขียวให้ใส่เงินร่วมจัดตั้งกองทุนได้ แต่ก็ระบุว่า ต้องมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลจะต้องชดเชยกรณีเกิดผลขาดทุนขึ้น หรือแม้แต่เงินของ ธปท.เอง ถ้าขาดทุน ก็ต้องมีกลไกการชดเชย ลักษณะเดียวกับเมื่อครั้งปี 2540 ที่ภาคการเงินเสียหายไป 1.4 ล้านล้านบาท แล้วมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันชดเชยความเสียหาย โดยให้แบงก์จ่าย 0.46%”

อย่างไรก็ดี ธปท.มีความจำเป็นต้องเข้าไปดูแล เนื่องจากตลาดหุ้นกู้เอกชนมีมูลค่าสูงถึง 3.6 ล้านล้านบาท ซึ่งหากปล่อยให้เกิดปัญหาจะกระทบต่อตลาดการเงินโดยรวม โดยในจำนวนนี้ยังรวมถึงหุ้นกู้ของ บมจ.การบินไทย ที่จะครบกำหนด และมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนด้วย ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีกลไกเข้าไปดูแล

“การมีกองทุนขึ้นมาก็เพียงเพื่อให้มีหลังพิง ทำให้มั่นใจได้ว่ามีเม็ดเงินในระดับที่มากพอที่จะดูแล ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เมื่อตลาดมีความมั่นใจก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินกองทุนเลยก็ได้”

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงการจัดตั้งกองทุน BSF ก่อนหน้านี้ว่า จะใช้เป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว (bridge financing) สำหรับเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดี ที่ครบกำหนดในช่วงปี 2563-2564 โดยบริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนจะต้องชำระอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาด และต้องระดมทุนส่วนใหญ่ได้จากแหล่งเงินทุนอื่น เช่น การกู้เงินธนาคารพาณิชย์ หรือ การเพิ่มทุนต้องมีแผนการจัดหาทุนในระยะยาวที่ชัดเจน

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการธนาคารเกียรตินาคิน โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า รัฐและ ธปท.มีความจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดตราสารหนี้ เพราะมีความเปราะบางกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตื่นตระหนก หากนักลงทุนไถ่ถอนพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจไทยขาดสภาพคล่องอย่างฉับพลันรุนแรง และเสี่ยงสูงที่จะลุกลามไปตลาดเครดิต และเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งจะเสียหายรุนแรงกว่าปี 2540

นอกจากนี้ นายบรรยง มองว่ากองทุน BSF มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ เพราะบริษัทต่าง ๆ อาจมีบางแห่งที่ไม่สามารถรอดพ้นวิกฤตได้ จึงอาจมีตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระ แต่อย่างน้อยก็ควรเกิดจากบริษัทนั้นมีปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่เกิดเพราะขาดสภาพคล่องชั่วคราว

“เรื่องวงเงินกองทุนที่ดูเยอะ ก็ต้องบอกว่า นี่เป็นวงเงินลงทุน ไม่ใช่วงเงินเสียหาย วงเงินเสียหายตอนท้ายนั้น ถ้าทำให้ดี อาจจะไม่เกิน 10% ด้วยซ้ำ ไม่เหมือนวงเงินจ่ายช่วยเหลือ หรืองบประมาณใช้จ่ายอื่นที่จ่ายไปแล้ว รัฐก็จะไม่ได้รับคืนอีกเลย” นายบรรยงระบุ

ที่ผ่านมาอดีตผู้ว่าการ ธปท. ทั้งนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ นางธาริษา วัฒนเกส ได้ออกมาสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของ ธปท. หลังจาก ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีต รมว.คลัง และอดีตประธานคณะกรรมการ ธปท. พร้อมด้วยอดีตผู้บริหาร ธปท.หลายราย ทำจดหมายเปิดผนึกแสดงความไม่เห็นด้วยในบทบาทของ ธปท. เรื่องการใช้วงเงิน 4 แสนล้านบาท รับซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยมองว่าขัดกับหลักการของธนาคารกลาง แต่หากจำเป็นต้องทำเห็นว่าควรโอนไปให้ธนาคารของรัฐทำแทน

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า กองทุนเปิด KTFFE57 สามารถปิดยอดเสนอขาย IPO ได้ภายในวันเดียว เป็นเม็ดเงินกว่า 3,300 กว่าล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการบริหารสภาพคล่องที่ค่อย ๆ กลับมา โดยนักลงทุนคลายความกังวลในการบริหารสภาพคล่องของกองทุนตราสารหนี้ ผนวกกับ KTAM มีความมั่นใจที่จะดำรงสภาพคล่องให้นักลงทุนต่อเนื่องภายใต้มาตรการพิเศษของ ธปท.